ตรวจความพร้อมก่อนซื้อ "ระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะ"
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง (เล็กกว่าข่าว สุรชัย สมบัติเจริญ แถลงข่าวเปิดหน้าหลังศัลยกรรม) นั่นก็คือข่าว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวเตรียมจัดซื้อระบบแจ้งเตือนการก่อการร้ายจากรัสเซีย เพื่อใช้ติดตั้งในกรุงเทพมหานครและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.ต.อ.จักรทิพย์ แถลงว่า แนวคิดนี้สืบเนื่องจากตน และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปดูงานระหว่างเยือนประเทศรัสเซีย และพบว่าที่รัสเซียมีระบบต่อต้านการก่อการร้ายดังกล่าวนี้ เชื่อว่าเป็นระบบที่ดี มีความปลอดภัยในระดับต้นๆ ของโลก
รูปแบบการทำงาน เป็นการแจ้งเตือนเรื่องการก่อการร้าย การแจ้งเตือนเรื่องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนบนถนน กล้องจะจับทิศทางของรถว่าไปทางไหน อย่างไร ซึ่งเป็นการประยุกต์บุคลากรกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ถ้าหากกล้องโฟกัสไปเจอสิ่งของ เช่น กระเป๋าที่ถูกวางทิ้งไว้นานๆ กล้องตัวนี้จะโฟกัสไปที่กระเป๋าเพื่อตรวจจับวัตถุต้องสงสัยด้วย
เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปศึกษาจุดเสี่ยง อาจดำเนินการนำร่อง 10 จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ส่วนงบประมาณในการดำเนินการ 1 จุด ใช้งบประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30 กว่าล้านบาท ต่อพื้นที่ประชากร 3-5 แสนคนขึ้นไป ฉะนั้นจะเลือกพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และ 6 ที่มีจุดเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งได้นำเรียน พล.อ.ประวิตร ไปแล้ว และ พล.อ.ประวิตร ก็เห็นด้วย
นอกจากนั้นยังได้เร่งรัดให้มีการนำเทคโนโลยีไบโอแมทริคซ์ หรือ เครื่องตรวจเอกลักษณ์บุคคลทางกายภาพ มาใช้ในการคัดกรองบุคคลเข้าออกประเทศ เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ใบหน้า เชื่อว่าเทคโนโลยีทั้งสองอย่างนี้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้
รู้จักระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะ
ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ระบบที่ ผบ.ตร.พูดถึง คือ ระบบ intelligent surveillance หรือ ระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะ ในหลายประเทศมีใช้มานานแล้ว แต่ประเทศไทยเพิ่งริเริ่มนำมาใช้ ลักษณะของระบบดังกล่าวนี้เป็นกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี อัจฉริยะ มีสมองในตัวเอง สามารถประเมินเหตุการณ์ร้ายจากภาพที่ปรากฏได้เอง และจะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่หากคิดว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้น ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องจัดเจ้าหน้าที่มาคอยนั่งเฝ้ากล้องตลอดเวลา หรือแค่ใช้กล้องมาย้อนดูเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว เหมือนที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถป้องกันก่อนเกิดเหตุร้ายได้
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะ จะมีเทคโนโลยีตรวจสอบใบหน้า เปรียบเทียบกับใบหน้าของผู้ก่อการร้ายที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูล มีใช้ในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และรัสเซีย
“ฝ่ายตำรวจเสนอให้จัดซื้อตั้งแต่หลังเกิดระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 17 ส.ค.ปีที่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ” เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุ
ติงจุดอ่อนเยอะ-ใช้งบมหาศาล
และว่า ยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะจะเหมาะกับสภาพเมืองใหญ่ของไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะมีจุดอ่อนมาก ไม่เฉพาะในพื้นที่เขตเมือง แต่เป็นทั้งระบบ โดยเฉพาะระบบตรวจคนเข้าเมือง ขณะที่ทิศทางของการก่อการร้าย กลุ่มผู้ก่อการมีแนวโน้มใช้เยาวชน คนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่มีประวัติในสารบบข่าวของหน่วยงานความมั่นคง ถามว่าระบบนี้จะช่วยป้องกันได้อย่างไร เพราะไม่มีประวัติให้เทียบใบหน้า
“ยอมรับว่าระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะเป็นระบบที่มีประโยชน์ แต่ถ้าจะทำจริงต้องลงทุนมหาศาล ติดตั้งแค่บางจุดก็ไม่รู้จะติดทำไม ต้องติดครบทุกด่านและจุดเสี่ยงทั้งหมด ใช้งบประมาณเป็นพันล้าน ระบบนี้จะเป็นประโยชน์มากต่อเมื่องานข่าวกรองมีบัญชีรายชื่อผู้ต้องสงสัยที่จะต้องรวบรวมเองอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ถามว่าบ้านเรามีหรือยัง”
ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในงานความมั่นคง ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า ระบบที่ ผบ.ตร.ระบุถึง เรียกกว้างๆ ว่า smart securities หลักการคือเมื่อทุกอย่างเข้าไปอยู่ในระบบดิจิทัล เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยและป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้โดยอาศัยความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และความสามารถของโปรแกรมที่มีมากกว่า การบันทึกภาพ โดยเพิ่มความสามารถด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ หรือ Analytic เข้าไป ซึ่งปัจจุบันมีการทำทั้ง face detection, area detection หรือแม้กระทั่ง plate detection (หมายถึงการค้นหาและเปรียบเทียบใบหน้า สถานที่ และทะเบียน)
“อย่างการค้นหาทะเบียน วันนี้สามารถทำได้กว้างขวาง เพราะเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาชญากร ทะเบียนราษฎร์ เมื่อได้ข้อมูลก็นำมาวิเคราะห์ว่า ทะเบียนที่ทำการตรวจสอบนั้นถูกรถ ถูกคน หรือมีความผิดปกติหรือไม่ มีการปลอมแปลงอะไรหรือเปล่า ซึ่งเป็นการยกระดับการทำงานจากเดิมที่มักทำแค่ capture แล้วนำรูปมาค้นหาอีกที ซึ่งค่อนข้างล่าช้า”
ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า ระบบเฝ้าตรวจอัจฉริยะนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของกล้องซีซีทีวี ราคาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกล้อง กับส่วนที่สองคือโปรแกรม เป็นส่วนของการเพิ่มความสามารถของกล้องอีกทีหนึ่ง
“ปัจจุบันสถานที่ที่มีความสำคัญในต่างประเทศ อย่างเช่น ฐานทัพทหาร หรือเมืองสำคัญๆ จะมีระบบนี้คอนโทรลเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยและบริหารจัดการกรณีที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดภัยคุกคาม แต่ระบบนี้จะประสบความสำเร็จ ต้องรื้อระบบฐานข้อมูลทั้งหมด และเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ” ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ กล่าว
บทจบก็ย้อนกลับไปที่คำถามเดิม...ฐานข้อมูลบ้านเราพร้อมหรือยัง?
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบแสดงการทำงานของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ จากสกู๊ปข่าวของสำนักข่าวบีบีซี เรื่อง "Intelligent CCTV" - IBM's Human Behaviour Tracking?