เปิดสถิติระเบิด 12 ปีไฟใต้กว่า 3.5 พันครั้ง ปีที่แล้ว 319 เก็บกู้ได้ 69
วันก่อน “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอสถิติคาร์บอมบ์ภาคใต้ 12 ปี 47 ลูกไปแล้ว แต่เหตุตูมตามในสามจังหวัดปลายขวานไม่ได้มีเฉพาะคาร์บอมบ์ แต่มีระเบิดที่มีรูปแบบการวางและการจุดระเบิดแบบอื่นรวมอยู่ด้วย
สำหรับสถิติเหตุระเบิดทุกประเภทในภาพรวม เฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ตลอด 12 ปีไฟใต้ เกิดมาแล้ว 3,544 ครั้ง เฉพาะปี 58 เกิดระเบิด 319 ครั้ง
สถิติดังกล่าวรวบรวมโดยหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.47 ถึง 30 ธ.ค.58 แยกรายละเอียดเป็นรายปีดังนี้
ปี 2547 เกิดเหตุระเบิด 103 ครั้ง
ปี 2548 เกิดเหตุระเบิด 242 ครั้ง
ปี 2549 เกิดเหตุระเบิด 344 ครั้ง
ปี 2550 เกิดเหตุระเบิด 471 ครั้ง
ปี 2551 เกิดเหตุระเบิด 250 ครั้ง
ปี 2552 เกิดเหตุระเบิด 284 ครั้ง
ปี 2553 เกิดเหตุระเบิด 266 ครั้ง
ปี 2554 เกิดเหตุระเบิด 333 ครั้ง
ปี 2555 เกิดเหตุระเบิด 276 ครั้ง
ปี 2556 เกิดเหตุระเบิด 331 ครั้ง
ปี 2557 เกิดเหตุระเบิด 325 ครั้ง
ปี 2558 เกิดเหตุระเบิด 319 ครั้ง
จากสถิติตัวเลขจะเห็นได้ว่า แม้รัฐบาลอ้างว่าสถิติเหตุรุนแรงในภาพรวมลดลง สถานการณ์ชายแดนใต้กำลังดีขึ้น แต่จำนวนครั้งของระเบิดที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการก่อเหตุความไม่สงบที่ร้ายแรงที่สุดแบบหนึ่ง ยังคงทรงตัวและไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเฉพาะปี 2558 ทั้งหมด 319 ครั้งนั้น แยกตามพื้นที่ได้ดังนี้
จ.ปัตตานี เกิดเหตุระเบิด 92 ครั้ง
จ.ยะลา เกิดเหตุระเบิด 132 ครั้ง
จ.นราธิวาส เกิดเหตุระเบิด 91 ครั้ง
จ.สงขลา เกิดเหตุระเบิด 4 ครั้ง
จากตัวเลขแยกตามพื้นที่ พบว่า อำเภอที่เกิดระเบิดมากที่สุดในปี 2558 คือ อ.เมืองยะลา เกิดเหตุมากถึง 78 ครั้ง ส่วนอำเภอที่ไม่เกิดเหตุระเบิดเลยมี 8 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน อ.ทุ่งยางแดง และ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี, อ.กาบัง จ.ยะลา, อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส, อ.จะนะ อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
ด้านสถิติวงจรจุดระเบิดแบบต่างๆ ที่พบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 4 ม.ค.2547 – 30 ธ.ค.58 ตามลำดับดังนี้
โทรศัพท์มือถือ 764 ครั้ง
แบบลากสายไฟ 601 ครั้ง
ตั้งเวลาจากนาฬิกา 496 ครั้ง
ไม่ทราบระบบจุดระเบิด 438 ครั้ง
ระบบ DTMF 358 ครั้ง
กับดักระเบิด 270 ครั้ง
รีโมทคอนโทรลรถยนต์ 252 ครั้ง
วิทยุสื่อสาร 190 ครั้ง
ระบบอื่นๆ 174 ครั้ง
จากตัวเลขข้างต้นพบว่า ระบบจุดระเบิดที่คนร้ายนำมาใช้มากที่สุด คือระบบจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ในปี 2558 พบมีการนำมาใช้มากถึง 125 ครั้ง ส่วนระบบจุดระเบิดแบบอื่น เช่น วิทยุสื่อสาร การตั้งเวลา ยังพบมีใช้อยู่ ส่วนระบบจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรลรถยนต์ ไม่พบถูกนำมาใช้นานกว่า 2 ปีแล้ว
ส่วนระเบิดแสวงเครื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบและสามารถทำการเก็บกู้ก่อนที่จะเกิดระเบิดขึ้น ในปี 2558 มีจำนวนทั้งหมด 69 ครั้ง แยกเป็นพื้นที่ปัตตานี 19 ครั้ง ยะลา 33 ครั้ง และ นราธิวาส 15 ครั้ง