กำแพงกันคลื่น ปัญหาเรื้อรังกับการป้องกันชายฝั่ง
"การพัฒนาโครงการการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีความเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าเมื่อมีปัญหาต้องมีการป้องกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงเเล้ว การกัดเซาะชายฝั่งเป็นกระบวนการตามปกติของธรรมชาติ" รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนคพงศ์
"ไม่มีกำแพง หรือเขื่อนใดๆ ที่จะลดความแรงของคลื่นได้เท่าหาดทราย” ประโยคที่อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ย้ำตลอดการสนทนา เรื่องการพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายหาด ขณะพาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตามคำเชิญของ"กลุ่มชาวอ่าวน้อยและคั่นกระไดผู้รักษ์ธรรมชาติ” กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังว่า ไม่ต้องการโครงการพัฒนาริมชายหาดที่กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ต้องการสร้าง เพราะเกรงว่า โครงการดังกล่าวจะเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยเฉพาะกับชาวประมงพื้นที่บ้าน
"เมืองสามอ่าว" คืออีกหนึ่งฉายาของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันประกอบไปด้วยอ่าวมะนาว อ่าวประจวบ และอ่าวน้อย โดยลักษณะทางภูมิประเทศของพื้นที่ทั้งสามอ่าวเป็นลักษณะของพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นอ่าวกระเปาะ คือมีหาดทรายเป็นรูปโค้งเชื่อมระหว่างภูเขาทั้งสองข้าง หรือในภาษาทางวิชาการเรียกว่า Pocket Beach (พ็อกเก็ต บีช)
ลักษณะแบบนั้น อ.ศักดิ์อนันต์ ชี้ว่า ไม่มีทางที่จะเกิดการกัดเซาะของน้ำทะเล แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มมีการสร้างเขื่อน หรือกำแพงขึ้น จะทำให้ทิศทางของคลื่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป
พื้นที่หาดอ่าวน้อย ในรายงานผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างชายฝั่งทะเล ของ รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนคพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายไว้ว่า ชายหาดบริเวณดังกล่าวมีความยาว 1.3 ก.ม. ซึ่งอยู่ระหว่างเขาคั่นกระไดและเขาตาม่องลาย มีความเสถียรภาพสูงแบบสมดุลสถิต แต่ยังคงอ่อนไหวหากมีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายหาด เช่น กำแพงชายฝั่ง เพราะคลื่นที่เข้าหาฝั่งจะปะทะกับกำแพงและสะท้อนกลับ พัดพาทรายหน้ากำแพงออกไปนอกชายฝั่ง ทำให้หน้าหาดต่ำและแคบลง สุดท้ายชายหาดก็หายไป
ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา และชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี
รวมไปถึงชายหาดฝั่งเขาคั่นกระได ที่เป็นชายหาดยาวต่อเนื่องไปจนถึงอ.กุยบุรี ความยาวกว่า 20 ก.ม. ในพื้นที่ลักษณะเปิดกว้างแบบนี้ ยิ่งเสี่ยงต่อการทำลายล้างรุนแรง หากเริ่มมีการสร้างสิ่งก่อสร้างชายฝั่งทุกประเภท เช่นเขื่อนกันคลื่นและกำแพงชายฝั่ง
รศ.ดร.สมบูรณ์ ให้เหตุผลว่า นอกจากคลื่นที่ปะทะกับสิ่งก่อสร้างจะพัดพาทรายหายไปแล้ว ยังไปหยุดยั้งการเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่ง ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ซึ่งที่ผ่านมาเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ชายฝั่งนครศรีธรรมราชและสงขลา
จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งในบริเวณอ่าวน้อยและคั่นกระได เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้พื้นที่บริเวณคั่นกระได มีน้ำทะเลท่วมเอ่อโดยเฉพาะในช่วงของมรสุม เมื่อมีปัญหาตรงนี้ทางหน่วยงานท้องถิ่น อบต. จึงเสนอว่าจะสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งในระยะแรกมีการนำเอาท่อนไม้มากั้นพื้นที่บริเวณชายหาดและนำดินลูกรังมาถมทับบริเวณหน้าวัด ซึ่งดูเหมือนว่าจะช่วยให้คลื่นไม่ซัดเข้า แต่พอถึงช่วงฤดูมรสุมจริงๆ น้ำก็ยังเออพ้นเขตแนวกั้นอยู่ดี มิหน่ำซ้ำเรือที่จอดไว้ยังกระทบโดดกับไม้ทำความเสียหายให้กับเรือ สิ่งที่อยากขอคือขอให้มีการถอนไม้ทั้งหมดออกไปจะดีกว่า เพราะชาวบ้านจะได้สามารถเอาเรือขึ้นบนฝั่งได้
เสียงเล็กๆ ของชาวประมงที่กำลังนั่งแกะปูออกจากอวนบริเวณหน้าหาดคั่นกระได ที่สภาพปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกถมและสร้างแนวกำแพงชั่วคราวจากไม้
ในส่วนของชายหาดบริเวณอ่าวน้อย มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันชายฝั่งจากคอนกรีตบริเวนสะพานปลาทางทิศใต้ของอ่าวน้อยและจากคำร้องเรียนของชาวบ้าน ปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.และกรมโยธิการส่วนกลาง จึงได้มีโครงการสร้างเขื่อน(sea wall) ขึ้นบริเวณหาดอ่าวน้อย โดยอ้างว่า การสร้างเขื่อนจะเป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ พร้อมทั้งจะช่วยทำให้ชายหาดที่หายไปกลับมา โดยโครงสร้างทั้งหมดจะสร้างลงบนชายหาด
คำกล่าวอ้างของทางการบอกว่า จะทำให้โครงสร้างนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ทางกรมโยธาฯ ยังให้เหตุผลอีกว่า การสร้างเขื่อนจะเป็นการพัฒนาชุมชน และต้องการทำถนนเลียบหาดให้เจริญมากขึ้น และชาวบ้านสามารถใช้เป็นที่จอดเรือในช่วงมรสุมได้
ซึ่ง อ.ศักดิ์อนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล มองว่า ปัญหาการกัดเซาะในปัจจุบันของอ่าวน้อยมาจากการสร้างสะพานปลา แต่การกัดเซาะที่เกิดขึ้นก็แทบจะเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ยิ่งสภาพของอ่าวแบบนี้ไม่นานธรรมชาติจะเซ็ตตัวและเข้าสู้ภาวะสมดุลได้
นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า ความฝันที่จะสร้างโครงสร้างแข็งลงบนชายหาดและมีสะพานลงไปเดินเล่นบนชายหาดนั้น แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะหากสังเกตสิ่งที่เกิดกับอ่าวประจวบคือ ชายหาดหายไปในบริเวณที่มีการสร้างกำแพงกั้นคลื่น ซ้ำยังทำให้ความแรงของคลื่นนั้นรุนแรงมากขึ้น นอกจากจะทำให้เกิดการกัดเซาะพื้นที่รอบข้างมากขึ้นเเล้ว ปัญหาที่ตามมาคือการต้องมาหาทางแก้ไข บำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนี้ไม่จบไม่สิ้น และวันหนึ่งกำแพงจะพังลงอย่างที่เกิดขึ้นบริเวณชายหาดเมืองพัทยาในปัจจุบัน
ดังนั้น ชายหาดที่มีความลาดเอียงเป็นตัวกระจายความแรงของคลื่นอยู่ในธรรมชาติที่ดีที่สุด
"หากไม่เชื่ออยากชวนทุกคนไปดูชายหาดอ่าวน้อยที่ตอนนี้ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ต่อให้คลื่นแรงขนาดไหน เมื่อเข้าชายฝั่งคลื่นจะค่อยแตกสลายไปในที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล กล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลในรายงานของกรมชายฝั่ง ที่ อ.ศิศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยกขึ้นมาอ้าง พบว่า บริเวณอ่าวน้อยก็ไม่ใช่พื้นที่ของการกัดเซาะ มีแค่การเฝ้าระวังเล็กน้อยในหน้ามรสุม ซ้ำยังเป็นพื้นที่มีชายหาดสมบูรณ์ที่สุดด้วย ดังนั้นอ่าวน้อยไม่มีความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างที่จะมาป้องการกัดเซาะชายฝั่ง ทางแก้ไขที่ดีคืออย่างไปแก้อะไร ปล่อยให้ธรรมชาติเซ็ตตัว
จากข้อมูลในรายงานฯ ของ รศ.ดร.สมบูรณ์ ยังมีการพูดถึงการพัฒนาโครงการการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีความเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า เมื่อมีปัญหาต้องมีการป้องกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงเเล้วการกัดเซาะชายฝั่งเป็นกระบวนการตามปกติของธรรมชาติ เนื่องจากทรายชายหาดจะเคลื่อนที่ไปตามการพัดพาของคลื่นลม เป็นความสมดุลท่ามกลางการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ การกัดเซาะชายหาดในช่วงมรสุมจะถูกทดแทนด้วยทรายที่ถูกพัดคืนกลับในฤดูที่คลื่นลมสงบ กระบวนนี้จะสมดุลได้หากไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์
ทั้งนี้ในรายงานฉบับดังกล่าว งแนะนำด้วยว่า การป้องกันที่ดี คือการกำหนดแนวถอยร่นชายฝั่ง(Setback) เป็นมาตรการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน เพราะแนวถอยร่นจะเป็นกันชนระหว่างการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยตามธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมของมนุษย์ในบริวณชายหาด ซึ่งในหลายประเทศมีการประกาศระยะแนวถอยร่นไว้เป็นกฎหมายแล้ว
หากย้อนกลับไปดูการพัฒนาเพื่อป้องกันชายฝั่ง ตลอดอ่าวไทยที่ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นแผลเรื้อรัง และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ น่าแปลกใจในเมื่อข้อมูลในทางวิชาการชี้ชัดขนาดนี้ แต่ทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงจะคงยืนยันที่จะดำเนินโครงการในลักษณะแบบนี้ อดสงสัยไม่ได้ว่า หรือวันนี้ประเทศไทยของเราจะไม่ต้องการชายหาดอีกต่อไป เรื่องนี้แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลยังถอนหายใจเฮือกใหญ่