ขบวนการแรงงานผลักปรับโครงสร้างค่าจ้าง ผลศึกษาขั้นต่ำวันละ 421 บาทอยู่ได้
แนะรัฐออก กม.ปรับเงินเดือนทุกปี ชี้แรงงานกรุงเทพฯค่าจ้าง 215 บาทไม่พอเลี้ยงตัว ต้องทำโอที 2-3 ชม. ผลศึกษาอัตราใหม่ 421 บาท เลขาฯสมาพันธ์แรงงาน เชื่อยาหอมรัฐบาล 2 ปีขึ้นค่าจ้างร้อยละ 25 ทำไม่ได้ เลื่อนลอยจากสภาพสังคม
วันที่ 20 เม.ย.54 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และมูลนิธิฟรีดริก เอแบร็ท จัดการประชุม “ข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม” ที่โรงแรมอิสติน มักกะสัน โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานในกรุงเทพฯ มีค่าจ้างเพียง 215 บาท ซึ่งไม่พอต่อค่าครองชีพและไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เพราะราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นมาก ลูกจ้างหลายส่วนเดือดร้อนต้องทำงานนอกเวลาวันละ 2-3 ชั่วโมง ทำให้มีปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยตามมา ทั้งนี้คสรท.เคยทำการสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 421 บาท จึงจะพอต่อค่าครองชีพของลูกจ้างและสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน
นายชาลี กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง โดยอาจทำเป็น พระราชบัญญัติกำหนดให้มีกฏหมายปรับขึ้นเงินเดือนของแรงงานในทุกๆปี เพราะปัจจุบันยังมีแรงงานหลายส่วนที่ไม่เคยได้รับการขึ้นค่าจ้างประจำปี ได้แต่รอการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในส่วนของค่าจ้างขึ้นต่ำควรเปลี่ยนเป็นค่าจ้างแรกเข้าแทน เพราะจะทำให้ลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดี
“แนวโน้มของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะการออกมาประกาศแต่ละครั้งทำให้พ่อค้าในตลาดถือโอกาสขึ้นราคาสินค้า ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการแล้ว แต่ยังไม่ประกาศขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้างเอกชนเสียที ” นายชาลีกล่าว
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่าคณะรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจการกำหนดอัตราค่าจ้าง ทำให้การประกาศแต่ละครั้งไม่แน่นอนในเรื่องตัวเลข และการขึ้นอัตราค่างจ้างขั้นต่ำร้อยละ 25 ภายใน 2 ปีนั้นเชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะตัวเลขที่ประกาศออกมาแต่ละครั้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม
ขณะเดียวกันขบวนการแรงงานเองต้องชัดเจนในเรื่องการขึ้นค่าจ้างมากกว่านี้ ตัวเลข 421 บาท ที่ทำการสำรวจกันไว้ ยังไม่เคยมีการยืนยันที่แน่นอน ค่าจ้างจึงขึ้นไปไม่ถึงซักที ทั้งนี้แนวโน้มของการขึ้นอัตราค่าข้างขั้นต่ำคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกนานในการพัฒนาให้ขึ้นไปถึงตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งขบวนการแรงงานต้องผลักดันต่อไปเพื่อให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม
“หากไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบเรื่องโครงสร้างอัตราค่าจ้าง ขบวนการแรงงานต้องคิดเองและผลักดันโครงสร้างดังกล่าว เพราะถ้าเราไม่ทำก็คงไม่มีหน่วยงานใดมาทำให้ ทั้งนี้ควรรีบออกแบบโครงสร้างและกำหนดให้แน่นอนว่าขั้นต่ำเท่าไร จากนั้นจึงใช้เป็นฐานพัฒนาโครงสร้างต่อไป” นายสาวิทย์กล่าว
นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิตร ประธานสภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าต้องพยายามผลักดันให้มีโครงสร้างอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยมีอยู่ 2 ช่องทางที่สามารถทำได้คือ จัดทำเป็น พ.ร.บ.โครงสร้างค่าจ้างแห่งชาติ หรือแทรกในส่วนของมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.) เพื่อให้มีโครงสร้างอัตราค่าจ้างที่ตายตัว เป็นหลักประกันค่าจ้างให้กับแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในอนาคต
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มักจะมาจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนในค่าครองชีพของแรงงาน เพราะบางทีก็ไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละสหภาพในการต่อรองขึ้นค่าจ้างกับนาย จ้าง ในส่วนของลูกจ้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่มีเงินเดือนที่สูง เพียงแต่ใช้ระบบจ้างเหมาค่าแรงเป็นส่วนใหญ่ มีค่าเฉลี่ยเงินเดือนประมาณ 12,000 ที่คนอื่นเห็นว่าแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์มีรายได้สูงนั้น สาเหตุเพราะทำงานนอกเวลากันเยอะ และทำให้แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว เป็นปัญหาสังคมตามมา ทั้งนี้หากแนวโน้มการทำงานนอกเวลาของแรงงานยังมากเหมือนปัจจุบัน .