'ฝึกเหยี่ยว-ขายนกฮูก' ข่าวสิ่งแวดล้อมแนวใหม่ คว้าพิราบน้อยปี 58 by 'หอข่าว'
"..ข่าวชิ้นนี้ เป็นประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมแนวใหม่ เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ฉายให้เห็นถึงความนิยมในการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงแทนสัตว์เลี่ยงที่คุ้นเคย มีวิธีหาข้อมูลหลากหลาย ทั้งสัมภาษณ์บุคคลสืบค้นในโซเชียลมีเดีย และจากการลงพื้นที่ทำให้ได้แหล่งข่าวที่ครอบคลุมและรอบด้าน สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายไทยที่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลง.."
“ฝึกเหยี่ยวล่านกหวั่นทำลายระบบนิเวศ”
คือ พาดหัวข่าว ของข่าว ที่ได้รับรางวัลพิราบน้อย ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 จากผลงานข่าวด้านสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย จำนวน 10 แห่ง ที่ส่งข่าวเข้าประกวดจำนวนทั้งหมด 26 ข่าว
เป็นผลงานข่าวของ กองบรรณาธิการ 'หนังสือพิมพ์หอข่าว' ของ นักศึกษาปี 3 วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ระบุเนื้อหาข่าวไว้ดังนี้
จากกรณีที่มีผู้โพสต์รูปการนำเหยี่ยวที่ฝึกเลี้ยงออกไปล่านกตามธรรมชาติและตามป่าเขาลงเฟซบุ๊ก (Facebook) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตถึงความไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ เช่น “ผมเดาว่าคนกลุ่มนี้มองเหยี่ยวเป็นของเล่น เอาไปเล่นและคิดว่าโก้ครับ เขาคงไม่สนว่าของเล่นของเขามีชีวิตและมีจิตใจ” “รักนกภาษาอะไร เอานกตัวนึงไปล่านกอีกตัวนึง” “เคยตามคนอื่นเข้าไปเจอในเพจบางเพจ พวกนี้ทำเหมือนเป็นเรื่องธรรมดามากเลยครับ คนแบบนี้ไม่มีสำนึกอะไรหรอกครับ”
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “หอข่าว” จึงได้ทำการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และได้พบกลุ่มเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า “THAILAND FALCONERS” ซึ่งตั้งเป็นกลุ่มสาธารณะ มีจำนวนสมาชิก 2,664 คน ระบุวัตถุประสงค์กลุ่มเพจเฟซบุ๊กด้วยว่า “เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับนกล่าเหยื่อ” ในกลุ่มมีการโพสต์ขายแลกเปลี่ยนเหยี่ยว มีการระบุเพศ อายุ จำนวน ขนาดของเหยี่ยว พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ และขายอุปกรณ์ในการเลี้ยงเหยี่ยว นอกจากนั้นยังมีทั้งการโพสโชว์รูปเหยี่ยวที่ฝึกเลี้ยง โดยขณะที่เหยี่ยวกำลังกัดกินนกที่ล่ามาได้ตามธรรมชาติ
@ ยืนยันเหยี่ยวทุกตัวถูกกฎหมาย
เจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ “เฮียเม้ง มาแว้วๆๆ” หนึ่งในกลุ่มสมาชิกกลุ่มเพจเฟซบุ๊ก “THAILAND FALCONERS” เปิดเผยว่าราคาเหยี่ยวที่ซื้อขายสูงที่สุดตอนนี้ ราคาตัวเมียอยู่ที่ 55,000 บาท และตัวผู้ราคาอยู่ที่ 50,000 บาท เหยี่ยวที่นิยมเลี้ยงส่วนมากเป็นสายพันธุ์ แฮริส ฮอก (Harris hawk) จากทวีปแอฟริกา
เจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ “เฮียเม้ง มาแว้วๆๆ” กล่าวต่อไปว่า เหยี่ยวที่เลี้ยงมีใบรับรองนำเข้าจากอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ (CITES) โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่สามารถจับกุมได้ และสามารถเลี้ยงเหยี่ยวได้อิสระ อาหารที่ให้เหยี่ยวกินส่วนมากจะเป็นลูกเจี๊ยบแช่แข็ง นกกระทาแช่แข็ง และหนูตัวเป็น ๆ ที่เพาะเลี้ยงขึ้นเอง โดยส่วนตัวฝึกให้เหยี่ยว ล่าเหยื่อตามธรรมชาติ อย่างเช่น นก โดยสถานที่ไว้ใช้ฝึกเหยี่ยวจะเป็นบริเวณท้องนา โรงสี และโรงงาน
@ ฝึกเหยี่ยวเพื่อล่าเหยี่อ
นายพิศวงศ์ นิรามัย เป็นหนึ่งในผู้ฝึกเลี้ยงเหยี่ยว และเป็นสมาชิกกลุ่มเพจเฟซบุ๊ก “THAILAND FALCONERS” ให้สัมภาษณ์ว่า เหยี่ยวที่เลี้ยงเป็นพันธุ์ แฮริส ฮอก (Harris hawk) สำหรับวิธีการเลี้ยงนั้น จะให้เหยี่ยวยืนบนอุปกรณ์ที่เรียกว่าคอน (Perch) ในพื้นที่บริเวณกลางแสงแดด แล้วป้อนเหยื่อ อาหารที่ให้เหยี่ยวกินจะเป็นลูกเจี๊ยบ และนกกระทาแช่แข็ง ซึ่งหาซื้อได้จากผู้ที่มาลงประกาศขายในกลุ่มเฟซบุ๊ก “THAILAND FALCONERS”
นายพิศวงศ์กล่าวต่อว่า การฝึกเหยี่ยวให้ออกล่าเหยื่อได้เองนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ฝึกมีเวลาให้เหยี่ยวมากขนาดไหน เหยี่ยวพันธุ์แฮริส ฮอก (Harris hawk) ที่นิยมเลี้ยงเป็นนกที่ค่อนข้างฉลาด ใช้เวลาฝึกฝนเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยส่วนตัวฝึกเลี้ยงเหยี่ยวเพื่อให้ไล่นกพิราบบริเวณหมู่บ้าน การฝึกเลี้ยงเหยี่ยวไว้เพื่อล่านกแบบนี้ อาจจะทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะคิดว่าการกระทำอย่างนี้เป็นการไปทำร้ายกับสัตว์อื่น
@ ยันฝึกเหยี่ยวขัดแย้งกับการอนุรักษ์
นายเข็มทอง ต้นตระกูลรุ่งเรือง แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “สิ่งละอันพันละนก” ซึ่งเป็นเพจที่เล่าเรื่องราวของนกและธรรมชาติ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการฝึกเหยี่ยวให้ล่านกตามธรรมชาติในประเทศไทยว่า การจะเลี้ยงเหยี่ยวต้องเป็นไปตามกฎหมาย ผู้เลี้ยงเหยี่ยวจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่ใช่ซื้อมาอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามการนำเหยี่ยวมาใช้ล่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนเลี้ยงเหยี่ยวมักอ้างว่าการล่าสัตว์เป็นสัญชาตญาณของสัตว์ แต่แท้จริงแล้วเป็นแค่การอวดโชว์ เลียนแบบต่างชาติ ในต่างประเทศบางประเทศอนุญาตให้เลี้ยงเหยี่ยวได้ และการฝึกเลี้ยงเหยี่ยวให้ล่านกหาอาหารเองเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย แต่ประเทศไทยนั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับ หากมีผู้ฝึกเลี้ยงเหยี่ยวหันมาสนใจการล่านกมากขึ้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อนกชนิดอื่นลดจำนวนน้อยลง
นายเข็มทองกล่าวต่อว่า การเลี้ยงเหยี่ยวโดยทั่วไปมีมานานแล้ว แต่กีฬาการฝึกเหยี่ยว (Falconry) แบบต่างประเทศ เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยมาไม่เกิน 10 ปี ทำให้เกิดการขัดแย้งโต้เถียงกันระหว่างผู้ฝึกเหยี่ยวและนักอนุรักษ์นกตามธรรมชาติในเรื่องของการทารุณสัตว์ตลอดในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
“ปัจจุบันสถานะของนกทุ่ง นกน้ำหลายแห่ง ได้ลดจำนวนลงจนน่าเป็นห่วงมาก เพราะการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ ปัญหาสารเคมี การถูกล่าเพื่อเป็นอาหาร หรือล่าเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ดังนั้นมันไม่ควรจะถูกกดดันเพิ่มเติมจากกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของคนเลี้ยงเหยี่ยว” แอดมินเพจเฟซบุ๊ก“สิ่งละอันพันละนกกล่าว”กล่าว
ด้านนายบริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การนำเข้าหรือค้าสัตว์ป่า มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งมีวิธีการในการนำเข้าที่ซับซ้อน หากยังไม่พบเบาะแสการกระทำผิดที่ชัดเจน ก็ไม่สามารถเข้าไปถึงตัวผู้ที่กระทำผิด
นายบริพัตรกล่าวว่า การครอบครองเหยี่ยวในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 2 กรณี 1. ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปีพุทธศักราช 2535 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เคยนิรโทษกรรมผู้ที่เคยครอบครองสัตว์ป่าไว้ก่อนปี พ.ศ.2546 ผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองในช่วงที่เกิดการนิรโทษกรรมนับตั้งแต่นั้นมา สามารถเลี้ยงเหยี่ยวต่อไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 2. กรณีที่มีกลุ่มคนครอบครองสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมาย จะต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายตามจับ ทางสมาคมสามารถทำได้เพียงแค่ชี้เบาะแสของผู้ที่กระทำผิดได้เท่านั้น การเลี้ยงเหยี่ยวอาจเป็นกีฬาชนิดหนึ่งสำหรับใครบางคน ที่ผู้เลี้ยงอาจจะชอบเพราะความสวยงาม หรือเป็นผู้ที่รักเหยี่ยวอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ร่วมอนุรักษ์เหยี่ยวด้วยก็ได้ เพียงแต่กฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ายังไม่รองรับ
นายกสมาคมอนุรักษ์นกล่าวต่ออีกว่า การให้อาหารเหยี่ยวนั้นผู้เลี้ยงจะให้อาหารเป็นสัตว์แช่แข็ง บางครั้งผู้เลี้ยงอยากให้อาหารสัตว์ที่มีชีวิตให้เหยี่ยวได้กินบ้าง เพราะการฝึกเลี้ยงเป็นไปตามสัญชาตญาณของสัตว์อาจจะทำให้เหยี่ยวมีความสุข แต่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฝึก การที่สัตว์มีชีวิตฆ่าสัตว์มีชีวิตด้วยกันเองเป็นอาหาร ไม่ถือว่าเป็นการทรมานสัตว์ เนื่องจากเป็นสัญชาตญาณของสัตว์มาตั้งแต่โดยกำเนิด
“ถ้าจะบอกว่าคุณพร้อมเลี้ยงเหยี่ยวไหม กฎหมายพร้อมเปิดให้คุณแล้ว แต่มันยังมีกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายที่คุณต้องปฏิบัติตาม โดยต้องขอใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองที่กรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้เหยี่ยวของคุณมีความสุขที่แท้จริง ได้กินสิ่งที่ถูกต้องตามธรรมชาติ การเลี้ยงเหยี่ยว คุณจะต้องมั่นใจว่าจะอยู่ในการควบคุมของคุณ ไม่ให้มันไปทำร้ายสัตว์ในธรรมชาติได้” นายบริพัตรกล่าว
@ กรมอุทยานคุมเข้มนำเข้าไม่ควบคุมการค้า
นายถิรเดช ปาละสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปราบปราม สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ชี้แจงเรื่องการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองว่า สัตว์ป่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะถูกขนมาทางเครื่องบิน กรมอุทยานจะสามารถควบคุมบังคับใช้กฎหมายดูแลสัตว์ได้แค่ตอนนำเข้ามาในสนามบินเท่านั้น ในทางการค้าสัตว์จะไม่ควบคุม หลังจากนั้นแล้วหากสัตว์ป่าออกลูกขยายพันธุ์ ทางกรมอุทยานจะไม่เข้าไปควบคุมดูแล แต่ผู้เลี้ยงสามารถนำลูกที่ออกมาไปขายต่อได้ และหากจะตรวจสอบผู้ที่ซื้อไปจะต้องดูว่าซื้อต่อมาจากใคร ผู้ที่ขายมีหลักฐานใบอนุญาตในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของนกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือไม่
นายถิรเดชอธิบายว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดสามารถทำการเพาะพันธุ์และทำการค้าได้ โดยต้องเป็นสัตว์ป่าชนิดที่ตามกระทรวงพิจารณาแล้วว่า สามารถเลี้ยงไว้ในกรงและมีชีวิตที่ปกติสุข หากสัตว์ป่าบางชนิดนำมาเลี้ยงไว้ในกรงแล้วควบคุมไม่อยู่ มีลักษณะอาการที่ทรมาน เพราะสถานที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า อาจจะทำให้ตายได้ ทางกระทรวงก็จะไม่อนุญาตให้เพาะพันธุ์และเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดนั้น
@พบลักลอบขายนกฮูก
ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” ยังได้รับรายงานว่า มีการลักลอบขายนกฮูกซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้สื่อข่าวจึงได้สืบค้นข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลจากกระทู้เว็บไซต์พันทิป (pantip) และเว็บไซต์เด็กดี (Dek-d) ของผู้ที่มีความสนใจเลี้ยงนก โดยมีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกพันทิป รหัส1006056 ว่าไปเดินตลาดนัดจตุจักรยังเห็นว่ามีนกฮูกขายอยู่ อีกหนึ่งความคิดเห็นของสมาชิกเด็กดีชื่อ “maei” ว่าราคานกฮูกตกอยู่ที่ตัวละ500บาท ขายอยู่ที่จตุจักร และสมาชิกเด็กดีชื่อ “Boyzodiac” เผยว่ามีนกฮูกขายที่จตุจักร ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดนัดจตุจักรพบว่ามีการลักลอบสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด เช่น สนุขจิ้งจอก เหยี่ยว และปรากฎว่ามีการลักลอบขายนกฮูกอยู่จริง
นางสาวบี (นามสมมุติ) เจ้าของร้านขายนกที่สวนจัตุจักรเปิดเผยว่า ที่ร้านมีขายนกฮูกพันธุ์แคระ 2 ตัว ราคาตัวละ 500 บาท สาเหตุที่ขายน้อย เพราะเป็นนกที่หายาก ปกติจะมีผู้จับมาให้ที่ร้านขาย ซึ่งนกฮูกพวกนี้หาได้จากในป่าและบนภูเขา อาหารที่ให้นกฮูกกินจะเป็นจิ้งหรีดและหนอน คนที่ซื้อนกฮูกไปต้องมีความชำนาญในการเลี้ยง รู้จักวิธีการป้อนอาหารและเล่นกับนกฮูก เนื่องจากนกชนิดนี้เป็นสัตว์กินเนื้อ จะแสดงอาการนิสัยพฤติกรรมค่อนข้างก้าวร้าว
นางเกษร สิงห์คำ เจ้าของร้านรับเลี้ยงสัตว์ย่านบางกระปิ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ลูกค้าได้ซื้อนกฮูกผ่านทางเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งขอไม่ระบุว่าเป็นเว็บไซต์ใด เนื่องจากได้ทราบมาว่านกฮูกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หากเลี้ยงโดยไม่ได้ขอใบอนุญาตจะผิดกฎหมาย จึงนำมาฝากเลี้ยงตน ปัจจุบันได้รับเลี้ยงนกฮูกเพียงแค่ 1 ตัว เป็นพันธุ์แคระจากญี่ปุ่น อาหารที่ให้นกฮูกกินจะเป็นหนอนและลูกเจี๊ยบแช่แข็งวันละหนึ่งครั้ง อาหารของนกฮูกนั้นเจ้าของนกจะต้องเป็นคนนำมาเอง เพราะทางร้านจะไม่เปลี่ยนอาหารให้เนื่องจากกลัวนกท้องเสีย นกฮูกจะถูกเลี้ยงไว้ในกรงใหญ่และใส่ไม้เอาไว้ให้นกเกาะ แล้วนำผ้ามาปิดกรงไว้เพื่อให้กรงมืด โดยส่วนตัวนั้นคิดว่าการเลี้ยงนกฮูกไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนกฮูกที่เลี้ยงส่วนใหญ่จะค่อนข้างเชื่อง
@ พบนำเข้านกฮูกจากต่างประเทศ
นายสิริ อยู่ยงค์ เจ้าของร้าน “Crazyhawk” กล่าวว่า ทางร้านมีนกฮูกขายทั้งหมด28ตัว เป็นนกนำเข้าจากฟาร์มในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม นกฮูกทุกตัวในร้านเป็นนกที่นำเข้าถูกกฎหมาย ร้านของตนเองนั้นมีนกฮูกหลายพันธุ์ เช่น นกฮูกสเปคทาเคิล นกเค้าอินทรียูเรเซีย ฯลฯ ส่วนวิธีเลี้ยงจะให้กินอาหารสด ลูกเจี๊ยบ และหนู โดยเลี้ยงอยู่ในพื้นที่อุณภูมิปกติ ให้น้ำในถาดกว้างไม่ลึกและให้อาหารวันละ1มื้อ
เจ้าของร้าน Crazyhawk กล่าวต่อว่า มีกลุ่มสนใจคนเลี้ยงนกฮูกอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะยอดจองของร้านของแต่ละปีมมากกว่า60ตัว ส่วนตัวนั้นคิดว่าดูแลไม่ยากเหมือนสัตว์ทั่วไปและจะแข็งแรงกว่าด้วยเพราะนกฮูกเป็นสัตว์กินเนื้อ
นางสาว รัชชนันท์ แช่มโชติ นักศึกษา Superstar College of Asia วิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชียได้ให้สัมภาษณ์ เคยซื้อนกฮูกจากร้านขายเหยี่ยวที่ตนเองรู้จัก โดยราคาอยู่ที่ 15,000บาท ค่านำเข้า5,000บาท รวมเป็นเงิน20,000บาท วิธีการเลี้ยงจะใส่กระดิ่งไว้ที่ขา โดยให้นกฮูกเกาะคอน และนำไปตากแดดเพื่อให้นกฮูกได้ฝึกบิน นอกจากนั้นให้ฝึกล่าเหยื่อเองบ้าง สาเหตุที่ไม่ได้ขอใบอนุญาตขอเลี้ยงเพราะยุ่งยาก นำเข้ามาแบบผิดกฎหมายจึงทำใบขออนุญาตไม่ได้ และเพิ่งทราบภายหลังว่านกฮูกนั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
@ นักอนุรักษ์ชี้ประเทศไทยกฎหมายไม่ชัดเจน
นางสาวชนัดดา ธานีกุลภัทร์ ผู้จัดการโครงการสื่อสารสัมพันธ์ประเทศไทย มูลนิธิฟรีแลนด์ เป็นผู้จัดตั้งแคมเปญ “สัตว์ป่าในกำมือ เลี้ยงก็ตาย ขายก็บาป” ได้อธิบายว่า สาเหตุที่คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์ผิดกฏหมายจำนวนมาก มาจากคนในสังคมไม่ทราบว่า สัตว์ชนิดนี้ผิดกฏหมายไม่สามารถนำมาเลี้ยง ทำให้มีคนล่านกฮูกกันมากจนเป็นความเคยชิน นอกจากนั้นกฏหมายสัตว์คุ้มครองในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของความรุนแรงและการกระทำ คนขายนกฮูกที่ขายตามร้านคนขายไม่ได้เป็นผู้จับเอง แต่จะเป็นนายพรานและชาวบ้านทั่ว ๆ ไปจับมาขาย
---------------
ขณะที่ คณะกรรมการตัดสินรางวัลพิราบน้อยปี 2558 ระบุว่า ข่าวชิ้นนี้ "เป็นประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมแนวใหม่ เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ฉายให้เห็นถึงความนิยมในการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงแทนสัตว์เลี่ยงที่คุ้นเคย มีวิธีหาข้อมูลหลากหลาย ทั้งสัมภาษณ์บุคคลสืบค้นในโซเชียลมีเดีย และจากการลงพื้นที่ทำให้ได้แหล่งข่าวที่ครอบคลุมและรอบด้าน สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายไทยที่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลง"
ตอกย้ำให้เห็นถึงจุดแข็งสไตล์การทำข่าวของ นสพ.หอข่าว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกต-หยิบประเด็นข่าวจากโลกออนไลน์ ขึ้นมาขยายผลเจาะลึกข้อมูลต่อ
และเป็นเหตุผลสำคัญที่ให้ข่าวชิ้นนี้ มีความเหมาะสม และ ควรค่า ที่จะได้รับรางวัลพิราบน้อย ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น ปี 2558 ไปครอบครอง!