วิเคราะห์คาร์บอมบ์ปัตตานี...เหตุรุนแรงลดไม่ได้แปลว่าไฟใต้ใกล้มอด
เหตุคาร์บอมบ์ถล่มฐานปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 11 ปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับด่านตรวจบนถนนสายหลักก่อนเข้าสู่ตัวเมืองและเขตเทศบาลช่วงกลางวันแสกๆ ของวันเสาร์ที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตึงเครียดขึ้นมาอีกครา
ถือเป็นระเบิดที่ส่งเสียงดังสนั่นทำลายความเงียบสงบที่ภาครัฐเพียรให้ข่าวมาตลอดว่าสถานการณ์ที่ชายแดนใต้กำลังดีวันดีคืน...
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับพูดเอาไว้ระหว่างการแถลงผลงานของรัฐบาลและ คสช.เมื่อ 23 ธ.ค.ปีที่แล้วว่า ปี 2559 อาจจะยุติการสู้รบที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงได้
ขณะที่ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็รับลูก ยืนยันว่าสถิติเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลง 30-50%
เป็นความมั่นใจท่ามกลางเสียงทักท้วงจากบางฝ่ายที่เฝ้าดูสถานการณ์ในพื้นที่มาตลอดว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปแบบนั้น เพราะเหตุรุนแรงที่ลดลงบ้าง ไม่ได้แปลว่าปัญหาทุกอย่างกำลังจะหมดไป
เนื่องเพราะปัญหาพื้นฐานที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้งยังดำรงอยู่เช่นเดิม!
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ในห้วงที่สถานการณ์กำลังร้อนแรงถึงขีดสุด เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมานี้เองว่า เห็นสถานการณ์เงียบๆ ไป อย่าไปคิดว่ามันจะจบ
“พ่อใหญ่จิ๋ว” บอกเอาไว้แบบนี้ “ให้สังเกตดูรูปแบบของข้อขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเปลี่ยนแปลง เปรียบเหมือนกินยาเข้าไปแล้วเกิดอาการดื้อยา จนถึงจุดหนึ่งยาก็รักษาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวิธีรักษาใหม่อีก ฉะนั้นไม่ใช่เห็นสถานการณ์เงียบๆ แล้วคิดว่าจบ เพราะความจริงไม่ใช่แบบนั้น”
นี่คือ “สาระสำคัญ” ของคำให้สัมภาษณ์เรื่องปัญหาภาคใต้ นอกเหนือจากการเปิดประเด็นเรื่ององค์กรใหม่ที่ชื่อ “แบล็ค สวอน” ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส จนถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าไม่เป็นความจริง
ไม่ว่าองค์กรใหม่ป่วนใต้จะมีอยู่จริงตามที่ พล.อ.ชวลิต พูดหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่จริงแท้แน่นอนคือ ไฟใต้ยังไม่มอดดับ ปลายด้ามขวานยังไม่เข้าใกล้สันติสุข
สอดรับกับทัศนะของอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีข้อมูลเครือข่ายโครงสร้างของกลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต มากที่สุด ซึ่ง “บีอาร์เอ็น” ก็คือขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นผู้คุมกองกำลังใหญ่ที่สุด และอยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงเกือบทั้งหมดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
อดีตนายทหารผู้นี้บอกว่า สถิติเหตุรุนแรงที่ลดลง ไม่ใช่ “ตัวชี้วัด” หรือ “เครื่องบ่งชี้” ที่แท้จริงว่าสถานการณ์ไฟใต้กำลังดีขึ้น เนื่องจาก...
1.อาจเป็นเพราะทหารไม่ได้เข้าไปปฏิบัติการด้านมวลชนในหมู่บ้านเป้าหมายของบีอาร์เอ็น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่บีอาร์เอ็นจะต้องปฏิบัติการ
ข้อมูลของอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่รายนี้สวนทางกับรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง โดยเขาระบุว่าการที่ระดับนโยบายพยายามให้ข่าวว่าสถานการณ์ในพื้นที่ใกล้สงบแล้ว และหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่ใด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่นั้นจะถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชาอย่างรุนแรงนั้น จุดนี้ได้กลายเป็นแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ไม่ยอมเข้าหมู่บ้าน
เพราะหากเข้าไปปฏิบัติงานมวลชน ก็จะกลายเป็น “เป้าเคลื่อนที่” ให้กับผู้ก่อเหตุรุนแรง และเมื่อโดนลอบยิงหรือลอบวางระเบิด ก็จะถูก “นาย” ตำหนิซ้ำอีก
เขาบอกว่า เท่าที่ทราบช่วงใกล้ผลัดเปลี่ยนกำลัง ราวๆ 2-3 เดือนก่อนกำลังพลแต่ละชุดจะถอนกำลังกลับบ้าน แทบไม่มีการเข้าหมู่บ้านเพื่อปฏิบัติงานมวลชนเลย มีแต่งาน รปภ.ที่จำเป็นต้องทำทุกวันเท่านั้นที่ยังปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะการ รปภ.ครู และสถานที่ราชการ ซึ่งบีอาร์เอ็นก่อเหตุโจมตีหน่วย รปภ.เหล่านี้มาตลอดกว่า 10 ปีจนแทบไม่เป็นข่าวแล้ว
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 การก่อความรุนแรงแต่ละครั้งของบีอาร์เอ็น จะมุ่งผลทางการเมือง งานมวลชน และจิตวิทยาในภาพกว้าง ฉะนั้นหากก่อเหตุแล้วไม่ได้ผลตามเป้าหมาย บีอาร์เอ็นก็จะไม่ก่อเหตุ
3.ความรู้สึกของชาวบ้านมลายูมุสลิมที่มีต่อทหารและเจ้าหน้าที่รัฐโดยรวมยังไม่ดีขึ้น อาจจะมีบ้างบางคนที่ชาวบ้านรักและชื่นชอบ แต่ก็เป็นลักษณะส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ได้ชอบทหารและเจ้าหน้าที่รัฐในภาพรวม ทั้งยังมองว่าไม่สามารถพึ่งพาเจ้าหน้าที่ได้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า 12 ปีที่ผ่านมา ทหารยังไม่ได้ใจชาวบ้านเท่าที่ควร
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า แม้เหตุรุนแรงลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์ชายแดนใต้กำลังดีขึ้น
ส่วนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่กำลังดำเนินการกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น อดีตนายทหารระดังสูงผู้นี้ มองว่า ยังไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะองค์ประกอบของ “มารา ปาตานี” ไม่ใช่ผู้คุมกำลังฝ่ายทหาร หรือฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ แต่เกือบทั้งหมดเป็นปีกการเมือง
แม้แต่ มะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายมารา ปาตานี ที่ถูกระบุว่าเป็นบีอาร์เอ็น แต่ก็เป็นเพียงฝ่ายเยาวชน หรือเปอมูดอ ไม่ใช่ฝ่ายทหารหรือคุมกองกำลังอย่างแท้จริง
การพูดคุยที่จะส่งผลลดเหตุรุนแรง ถึงขั้น “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” ให้เกิดขึ้นได้ จึงต้องเป็นการพูดคุยที่ “ถูกตัว” ซึ่งก็คือหัวหน้าฝ่ายกองกำลังในแต่ละพื้นที่ โดยคนเหล่านี้ก็เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่นั่นเอง กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้คุมกองกำลังใน “สภาองค์กรนำ” หรือ ดีพีพี ของบีอาร์เอ็น
นอกจากนั้น จากการรวบรวมข้อมูลสถิติเหตุรุนแรงของ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ยังพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณเหตุรุนแรงดูลดน้อยลง เป็นเพราะ “วิธีการนับ” เหตุรุนแรงของเจ้าหน้าที่ที่เก็บข้อมูลด้วย โดยในปีหลังๆ เจ้าหน้าที่จะนับเป็นเหตุการณ์ ไม่นับจำนวนจุดเกิดเหตุ
เช่น เหตุระเบิด 14 จุดในเขต อ.เมืองยะลา เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นต่อเนื่องมาถึงวันรุ่งขึ้นด้วย เหมือนเป็นอาฟเตอร์ช็อค เจ้าหน้าที่นับรวมเป็น 1 เหตุการณ์ ไม่ใช่ 14 เหตุการณ์เหมือนที่เคยนับในอดีต
หรือเหตุยิงด้วยอาวุธปืน ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนสอบสวนว่าเป็นเหตุความมั่นคงหรือเหตุส่วนตัว ก็จะไม่ถูกนับรวมเป็นสถิติเหตุรุนแรง
เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้ปริมาณเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลง แต่สถานการณ์โดยรวมไม่ได้ดีขึ้นจริง
สำหรับเหตุคาร์บอมบ์เที่ยวล่าสุดในเขต อ.เมืองปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มคนร้ายยังคงรักษา “จุดแข็ง” ของการเลือกจังหวะเวลาก่อเหตุ จนคาดเดามูลเหตุจูงใจที่แท้จริงได้ยาก ทั้งยังส่งผลทางจิตวิทยาอย่างสูงว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบจริง โดยเหตุคาร์บอมบ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น มีข้อสังเกตดังนี้
1.เลือกก่อเหตุข้างฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ริมถนนใหญ่ กลางวันแสกๆ ทำให้ปรากฏภาพที่น่าหวาดกลัว และดิสเครดิตฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นฐานปฏิบัติการ ซ้ำยังอยู่ใกล้ๆ กับด่านตรวจที่ใหญ่ที่สุดด่านหนึ่งของปัตตานีด้วย
2.เป็นการก่อเหตุหลัง พล.อ.ชวลิต พูดถึงองค์กรใหม่ป่วนใต้ที่ชื่อว่า “แบล็ค สวอน” เพียง 2 วัน ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะการข่าวของอดีตนายกฯผู้นี้แม่นยำอย่างมาก ก็ต้องบอกว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุฉวยจังหวะได้ดีทีเดียว
3.เป็นการก่อเหตุก่อนวันจัดกิจกรรมครบรอบ 3 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพียง 1 วัน โดยในวันที่ 28 ก.พ.59 มีกิจกรรมดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีการนำคลิปวีดีโอคำกล่าวของ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการการพูดคุย และคลิปวีดีโอคำกล่าวของ นายอาวัง ยาบะ ประธานมารา ปาตานี มาเปิดให้ได้รับชมกันด้วย
อีกทั้งยังมี พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง หนึ่งในคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษในงานเดียวกัน
โดยวาระ 3 ปีของกระบวนการพูดคุยฯ นับจากวันลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุย ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่ประเทศมาเลเซีย
โดยการพูดคุยครั้งนั้น แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ จากปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง แต่ก็ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพูดคุยแบบเปิดเผย บนโต๊ะ ไม่ใช่พูดคุยแบบปิดลับอีกต่อไป และรัฐบาลชุดต่อมาที่แม้จะเป็นรัฐบาลทหารจากการยึดอำนาจของ คสช. ก็ยังต้องดำรงกระบวนการพูดคุยต่อเนื่องมา
เสียงระเบิดที่กัมปนาทขึ้นครั้งนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกเชื่อมโยงว่าเป็นการต่อต้านกระบวนการพูดคุย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีบุคคลอ้างว่าเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าไม่เอาด้วยกับกระบวนการพูดคุย ขณะที่แกนนำบีอาร์เอ็นบางปีกก็ออกคลิปวีดีโอเผยแพร่ทาง YouTube ว่าไม่ไว้ใจกระบวนการพูดคุยที่รัฐบาลไทยจัดขึ้น และมีกลุ่ม “มารา ปาตานี” ร่วมโต๊ะเจรจา
อย่างไรก็ดี ในแง่ของปฏิบัติการและกลุ่มก่อผู้เหตุ ฝ่ายตำรวจที่นำโดย พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ วังสุภา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ให้น้ำหนักไปที่การตอบโต้เอาคืนฝ่ายเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์ที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษบุกทลายฐานฝึกและฐานประกอบระเบิดในป่าโกงกางริมทะเล บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ก.พ.59
โดยปฏิบัติการในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ยึดอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่คาดว่าสามารถนำไปผลิตระเบิดได้กว่า 30 ลูก และยังจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย ส่วนอีก 4-5 คนที่หลบหนีไปได้ ก็เชื่อว่าเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่มีชื่อในกลุ่มจัดทำระเบิดและลอบวางระเบิดทั้งสิ้น
การทลายฐานประกอบระเบิดที่ตันหยงเปาว์ คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าความพยายามในการก่อเหตุของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงยังมีอยู่ตลอดเวลา และไม่ได้หมายความว่าสถิติตัวเลขที่ฝ่ายความมั่นคงภาคภูมิใจ จะเป็นเครื่องยืนยันว่าสถานการณ์ชายแดนใต้กำลังดีวันดีคืน!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ฐานปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 11 ปัตตานี พังรับเพราะแรงระเบิดและเพลิงไหม้จากเหตุคาร์บอมบ์ จนเจ้าหน้าที่ต้องเร่งปรับพื้นที่ใหม่