เปิดแฟ้มรื้อคดีบ.แม่บ้าน! เบื้องหลัง 'จันทรเกษมโพสต์' คว้าข่าวดีเด่นพิราบน้อยปี 58
"...ประเด็นข่าวดี เกิดจากการสังเกตและตั้งคำถามกับเรื่องใกล้ตัว นำเสนอข่าวต่อเนื่องจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มีการใช้ข้อมูลจากเอกสารเพิ่มน้ำหนักของข่าว พร้อมดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สตง. เข้ามาช่วยผลักดัน ทำให้ข่าวเดินต่อไปได้ จนปัญหาได้รับการแก้ไข ชื่นชมการเปิดพื้นที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการทำข่าวเชิงตรวจสอบ..."
หลายคนคงได้รับทราบกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศรางวัลพิราบน้อย และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี ประจำปี 2558
โดยการตัดสินรางวัลข่าวฝึกปฏิบัติในปีนี้ มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 37 ข่าว จาก 13 มหาวิทยาลัย
ขณะที่ผลงานข่าวที่ได้รางวัลข่าวดีเด่น คือ ข่าว สตง.สั่ง มจษ.เคลียร์ปม บ.แม่บ้าน พนง.ไม่ครบตามสัญญา จี้ปรับเงิน 1.4 หมื่นต่อวัน ของ หนังสือพิมพ์จันทรเกษมโพสต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
(อ่านประกอบ : ‘จุฬาฯ’คว้า นสพ.ยอดเยี่ยมพิราบน้อย ’58-‘จันทรเกษม’ชนะข่าว บ.แม่บ้าน)
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ข่าวชิ้นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้ได้รับรางวัลข่าวดีเด่นในปีนี้
@ ที่มาที่ไปของข่าว
กองบรรณาธิการ นสพ.จันทรเกษมโพสต์ สรุปที่มา และข้อเท็จจริงของข่าว ไว้ดังนี้
1. ข่าวนี้มาจากความสงสัยของผู้สื่อข่าวที่พนักงานทำความสะอาดของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมเปลี่ยนชุดเครื่องแบบ จึงได้เข้าไปสอบถามพนักงานคนดังกล่าวจึงได้ทราบคำตอบและนำไปสู่การทำข่าวว่า
- มหาวิทยาลัย ได้เปลี่ยนบริษัททำความสะอาดใหม่ตามโครงการประกวดจัดซื้อจัดจ้าง จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ.พี.เอส. คลีนนิ่ง เซอร์วิส เป็นบริษัท ที.อาร์. เซอร์วิส จำกัด
- บริษัทที.อาร์ ฯ ไม่มีพนักงานเป็นของตนเอง ต้องจ้างพนักงานเก่าทำงานต่อ เป็นเหตุให้มีพนักงานไม่เพียงพอ เนื่องจาก พนักงานเก่ากว่า 20 คนลาออกเพราะไม่พอใจเงื่อนไขของบริษัทที.อาร์ ฯ อาทิ ต้องเสียค่าชุดเครื่องแบบเพิ่ม
2. คุณค่าของข่าว
ผลกระทบ – แม้จะเป็นปัญหาเพียงพนักงานไม่ครบ แต่ก็มีผลกระทบถึงเรื่องเงินค่าปรับที่บริษัท ต้องจ่ายให้มหาวิทยาลัยตามข้อกำหนด
ความมีเงื่อนงำ – บริษัทที.อาร์ฯ เอาชนะการประมูลได้ที่ราคา 14,900,000 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แต่บริษัทกลับไม่มีพนักงานเป็นของตนเอง จึงต้องตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง
ความใกล้ชิด – เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย หากมีพนักงานทำความสะอาดไม่พอ จะส่งผลกระทบต่อนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย
3. กระบวนการทำข่าว
ผู้สื่อข่าว ได้ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที.อาร์ ฯ ที่ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างสัมภาษณ์อยู่นั้นมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เข้ามาสั่งให้หยุดการสัมภาษณ์ทันที หลังจากนั้นจึงเรียบเรียงข้อมูลและตีพิมพ์ข่าวลงมินิจันทรเกษมโพสต์ฉบับที่ 3 หลังจากที่เผยแพร่ข่าวออกไปแล้ว มีอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ ผู้สื่อข่าวจึงติดต่อไปยัง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 4 สตง. หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วจึงได้ไปสัมภาษณ์ผู้อำนวยการฝ่ายกองกลาง แต่ถูกปฏิเสธการให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวจึงตรวจสอบข้อกำหนดสัญญาว่าจ้างของโครงการนี้ (ทีโออาร์) พบบางข้อที่เข้าข่ายว่าบริษัททำผิดเงื่อนไข จึงนำข้อมูลมาเรียบเรียงและตีพิมพ์ลงในมินิจันทรเกษมโพสต์ฉบับที่ 4 จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนของบริษัท ที.อาร์ ฯ จากนั้น ได้ขอสัมภาษณ์อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ถึงประเด็นบริษัทแม่บ้าน แต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้สื่อข่าวได้ไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อสัมภาษณ์ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงกรณีบริษัทที.อาร์ ฯ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
4. การเปลี่ยนแปลงหลังจากนำเสนอข่าว
หลังจากนำเสนอข่าวไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่จาก สตง. เข้ามาตรวจสอบถึงเรื่องดังกล่าวและพบว่าเกิดปัญหาจริง จึงได้ออกหนังสือป้องปรามให้ทางมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการให้ถูกต้อง และทางบริษัทได้หาพนักงานมาเพิ่มจนเต็มอัตรา
ทั้งนี้ ในหนังสือพิมพ์จันทรเกษมโพสต์ เล่มใหญ่ ฉบับประจำเดือนมกราคม 2559 กองบรรณาธิการ นสพ.จันทรเกษมโพสต์ ได้นำเสนอรายงานสรุปภาพรวมการทำข่าวชิ้นนี้ ไว้ในชื่อว่า "เปิดแฟ้มรื้อปม บ.แม่บ้าน" โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
จากกรณีกองบรรณาธิการจันทรเกษมโพสต์ จัดทำ มินิจันทรเกษมโพสต์ (หนังสือพิมพ์ขนาด เอสี) ขึ้นมาอีกครั้งเป็น จำนวน 4 ฉบับ เพื่อฝึกปฏิบัติการทำข่าวในสถานการณ์จริง ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม
โดย มินิจันทรเกษมโพสต์ ฉบับที่ 3 และ 4 เนื้อข่าวมุ่งประเด็นเรื่อง บริษัททำความสะอาดใหม่ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่ชนะการประมูลประกวดราคาจ้างรักษาความสะอาดอาคารและบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ซึ่งหลังจากการนำเสนอข่าวออกไปแล้ว มีกระแสตอบกลับภายในรั้วมหาวิทยาลัย
โดย จันทรเกษมโพสต์ได้ลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า
(ต้นเดือน ต.ค. 2558) นักศึกษาศึกษาวารสารศาสตร์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของชุดเครื่องแบบพนักงานทำความสะอาดในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จากชุดเครื่องแบบของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ.พี.เอส. คลีนนิ่ง เซอร์วิส เป็นของ บริษัท ที.อาร์.เซอร์วิส จำกัด
จึงเข้าไปสอบถามพนักงานทำความสะอาด ทราบว่า มีการเปลี่ยนตัวบริษัททำความสะอาดใหม่ เนื่องจาก หมดอายุตามสัญญา และทราบอีกว่า บริษัทที่เข้ามารับงานใหม่นั้น ไม่มีพนักงานของตนเองต้องจ้างพนักงานเก่า โดยกำหนดว่า ต้องเสียค่าชุดเครื่องแบบเพิ่มชุดละ 650 บาท และการเบิกเงินล่วงหน้า ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 20 และเบิกกับนายทุนที่บริษัทจัดหา ทำให้พนักงานกว่า 20 คนที่ทำงานอยู่ไม่พอใจในเงื่อนไข ลาออกไป บางคนย้ายตาม หจก.เจ.พี.เอส ฯ ไป เป็นเหตุให้มีจำนวนพนักงานไม่เพียงพอในการทำงาน
ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยัง เจ้าหน้าที่ของบริษัท ที.อาร์.เซอร์วิส จำกัด ที่ดูแลพนักงานทำความสะอาดของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ขณะที่ เจ้าหน้าที่กำลังชี้แจง ได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมาสั่งให้หยุดการสัมภาษณ์ทันที
(กลางเดือน ต.ค. 2558) มินิจันทรเกษมโพสต์ ฉบับที่ 3 จำนวน 500 ฉบับ ถูกเผยแพร่สู่ประชาคมจันทรเกษม มีประเด็นว่า บริษัททำความสะอาดใหม่ คือ บริษัท ที.อาร์.เซอร์วิส จำกัด มีจำนวนพนักงานไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
โดย ภายหลังการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ออกไปแล้ว มีโทรศัพท์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบการประมูลจัดซื้อจัดจ้างทำความสะอาดถึง อาจารย์สุนิศา เพี้ยนโอสถ อาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่มวิชาวารสารศาสตร์และสื่อออนไลน์ โดย สอบถามรายละเอียดของข่าวที่ลงไปในมินิจันทรเกษมโพสต์
หลังจากนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารพัสดุและสืบสวน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อตรวจสอบถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งพบว่า มีจำนวนพนักงานไม่ครบตามสัญญาว่าจ้างจริง เบื้องต้น จึงได้ออกหนังสือป้องปรามให้มหาวิทยาลัย ฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาภายใน 60 วัน
(ปลายเดือน ต.ค. 2558) ขณะที่ ผู้สื่อข่าวจันทรเกษมโพสต์ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและคำชี้แจงของผู้รับผิดชอบเพื่อจัดทำ มินิจันทรเกษมโพสต์ ฉบับที่4 คือ ฝ่ายกองกลาง
แต่ทว่า ทางผู้อำนวยการกองกลางมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ไม่ได้ให้ข้อมูล แต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า ทางผู้บริหารสั่งห้ามให้สัมภาษณ์
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง สำนักงานบริหารพัสดุและสืบสวน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อสอบถามว่า ได้เข้ามาตรวจสอบจริงหรือไม่ ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้อำนวยการสำนักบริหารและสืบสวนที่ 4 ว่า ได้เข้ามาตรวจสอบแล้วจริง
หลังจากนั้น จึงจัดทำ มินิจันทรเกษมโพสต์ ฉบับที่ 4 จำนวน 500 ฉบับ ออกแจกจ่ายอีกครั้ง โดย พุ่งประเด็นไปที่การผิดข้อกำหนดสัญญาว่าจ้าง (ทีโออาร์) ของบริษัท ที.อาร์. ฯ อย่างในข้อสัญญาผู้ว่าจ้างที่กำหนดไว้ว่า “ผู้รับจ้างต้องมีจำนวนพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาความไม่ต่ำกว่า 114 คน” และให้ผู้รับจ้างจัดทำประวัติพนักงานโดยละเอียด ตามแบบที่ผู้ว่าจ้างงานกำหนด พร้อมรูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป ส่งให้ผู้ว่าจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการ ก่อนเริ่มวันปฏิบัติงานทำความสะอาด โดยส่งที่ คณะกรรมการตรวจการจ้าง และสำเนาถึงหน่วยงานที่ดูแล”
ซึ่งภายหลังหนังสือพิมพ์เผยแพร่ไปได้ 2 วัน มีโทรศัพท์จาก บริษัท ที.อาร์. ฯ ถึงอาจารย์ศิริเกศ คุ้มพิทักษ์ ประธานหลักสูตรวิชานิเทศศาสตร์ เพื่อต้องการคุยกับบรรณาธิการของ นสพ.มินิจันทรเกษมโพสต์ ถึงเนื้อหาในบทบรรณาธิการ ที่กล่าวพาดพิงถึงบริษัท
เมื่อทางกองบรรณาธิการจันทรเกษมโพสต์ทราบเรื่องจึงโทรติดต่อกลับไปยังบริษัท ซึ่งได้คุยกับนางสาวธัญพร ยืนยง กรรมการบริษัท
โดย นางสาวธัญพร ชี้แจงว่า ในบทบรรณาธิการ และเนื้อหาข่าวบางส่วนของมินิจันทรเกษมโพสต์ฉบับที่ 4 ที่ออกไปนั้น บิดเบือนจากความจริง จึงต้องการให้ทางจันทรเกษมโพสต์แก้ข่าวและขอโทษในฉบับหน้า
ผู้สื่อข่าวติดต่อไปหานางสาวธัญพร พร้อมกับอธิบายกระบวนการทำข่าว หลักฐานอ้างอิงที่ใช้เขียนประกอบข่าวในฉบับดังกล่าว คือ การนำข้อมูลในข่าวมาจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัททั้งสิ้น ไม่ได้มีการบิดเบือนหรือเติมแต่งเนื้อข่าวใด ๆ ลงไปทั้งนั้น และ ตอบกลับเรื่องที่ นางสาวธัญพรต้องการให้แก้ข่าวขอโทษ ว่าจะกระทำในรูปแบบสัมภาษณ์โดยให้นางสาวธัญพรชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นแทน
จากนั้น ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เพื่อตรวจสอบเอกสารจดทะเบียนของบริษัท ที.อาร์. ฯ โดยพบว่า มีกรรมการของบริษัท 2 คนคือ นางสาวธัญพร ยืนยง และ นางวิจันท์ภา ศิริพาทย์
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ซ.รามคำแหง 68 เขตบางกะปิ กทม.
แจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจของบริษัทที.อาร์ คือ ประกอบกิจการรับจ้างทำความสะอาด และ ประกอบกิจการจำหน่ายน้ำยาทำความสะอาด
อีกทั้ง ยังพบหนังสือจากกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ ถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2558 ซึ่งขอทราบรายละเอียดจดทะเบียนอย่างละเอียดของบริษัทนิติบุคคล 14 บริษัท เพื่อใช้เป็นประโยชน์กับทางราชการในการดำเนินคดี โดยมีชื่อของบริษัท ที.อาร์. ฯ อยู่ด้วย
จากนั้น กองบรรณาธิการ นสพ.จันทรเกษมโพสต์ ขอขึ้นพบ รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อชี้แจงจุดยืนและการทำงานของ นสพ.จันทรเกษมโพสต์
โดย อธิการบดีได้ตอบรับและให้รองอธิการบดีฝายวิชาการ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ประธานหลักสูตร นิเทศศาสตร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวารสารศาสตร์ และสื่อออนไลน์ ผู้อำนวยการกองกลาง และ ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา เข้าร่วมประชุมด้วย
แต่ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์ชี้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการว่าจ้างบริษัท ที.อาร์. ฯ ตามข้อมูลที่ นสพ.จันทรเกษมโพสต์ ตรวจสอบพบ แต่อย่างใด
(กลางเดือน พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง สตง.เพื่อสัมภาษณ์ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงประเด็นการเข้าตรวจสอบมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรณีบริษัทผู้รับเหมาทำความสะอาดมีคนไม่ครบตามข้อกำหนดทีโออาร์
โดยผู้ว่า ฯ สตง. ระบุว่า อยู่ในกระบวนตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะตรวจสอบข้อมูลบริษัทผู้รับจ้างรายละเอียดการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ รวมไปถึงหลักฐานการตรวจรับงานของกรรมการ พร้อมทั้งยังกล่าว จะสนับสนุนการทำข่าวตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถาบันการศึกษาของนักศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก
ผู้ว่า ฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า “ปัญหานี้ถ้าตรวจพบว่ามีการทุจริตจริงถือว่าเป็นกรณีสำคัญได้ เพราะการส่งพนักงานไม่ครบตามกำหนดว่าจ้างแล้ว ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบของผู้รับจ้างต่อผู้จ้าง อีกทั้ง ค่าแรงของพนักงานถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการคิดงบประมาณจัดจ้างด้วย”
ผู้ว่า ฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า จะสนับสนุนการทำข่าวตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถาบันการศึกษาของนักศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการที่นักศึกษาลุกขึ้นมาทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน ตรวจสอบการใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเงินที่มาจากค่าเทอมของนักศึกษาให้เกิดประโยชน์ ไม่ให้ใครเข้ามาแสวงหาประโยชน์
“นักศึกษาที่เรียนวารสารศาสตร์ แล้วใช้ความรู้จากห้องเรียนมาใช้ทำข่าวในมหาวิทยาลัย การตรวจสอบการใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ โดย สตง.พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ หากตรวจพบเรื่องอะไรผิดปกติอีก ขอให้แจ้งข้อมูลเข้ามาได้ตลอด” ผู้ว่า ฯ สตง. กล่าว
ส่วน กองบรรณาธิการ นสพ.จันทรเกษมโพสต์ ระบุในท้ายรายงานชิ้นนี้ ว่า กรณีนี้เป็นอีก 1 สถานการณ์ที่เริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ของ นสพ.จันทรเกษมโพสต์ คือ ทำหน้าที่เป็น หมาเฝ้าบ้าน คอยตรวจสอบ ระมัดระวังภัยให้แก่สถาบัน ซึ่งอุดมการณ์นี้จะคงอยู่และเป็นจุดยืนให้จันทรเกษมโพสต์เดินหน้าคอยเฝ้าบ้านจันทรเกษมหลังใหญ่แห่งนี้ ต่อไป
ขณะที่ คณะกรรมการตัดสินรางวัลข่าวพิราบน้อยในปีนี้ ระบุเหตุผลที่ทำให้ข่าวชี้นนี้ได้รับรางวัลว่า "...ประเด็นข่าวดี เกิดจากการสังเกตและตั้งคำถามกับเรื่องใกล้ตัว นำเสนอข่าวต่อเนื่องจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มีการใช้ข้อมูลจากเอกสารเพิ่มน้ำหนักของข่าว พร้อมดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สตง. เข้ามาช่วยผลักดัน ทำให้ข่าวเดินต่อไปได้ จนปัญหาได้รับการแก้ไข ชื่นชมการเปิดพื้นที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการทำข่าวเชิงตรวจสอบ..."
ตอกย้ำให้เห็นว่า การทำข่าวเชิงตรวจสอบ หรือ ข่าวเชิงสืบสวน ยังคงมีคุณค่าและมีความหมาย และการทำงานเพื่ออุดมการณ์ สำนึกในหน้าที่ "หมาเฝ้าบ้าน" เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาควรให้การสนับสนุนการทำข่าวประเภทนี้ของนักศึกษาให้มากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพการทำข่าวของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันและในอนาคตให้ดีขึ้น
เพราะเมื่อ 'พิราบน้อย' เหล่านี้ เติบโตขึ้น และออกโบยบินสู่โลกกว้าง ไปทำงานในสนามข่าวจริง จะได้นำความรู้ในวิชาชีพการทำข่าวประเภทนี้ไปใช้ประโยชน์ มุ่งเน้นการทำข่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของสาธารณะ ไม่ปล่อยให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
ร่วมกันต่อสู้ ป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นมะเร็งร้าย เกาะกินสังคม ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย โดยเร็วที่สุด!!