พรรคการเมืองตบเท้าซื้อ 10 ข้อเสนอกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
เลขาฯสมาคม อปท.ระบุท้องถิ่นไม่โตเพราะส่วนกลางยังครอบ 8 เครือข่ายชง 10 นโยบายกระจายอำนาจ ตั้งสภาปกครองท้องถิ่น-ประกันรายได้ อปท.ละ15 ล้าน พท.คุยเกินครึ่งทำได้ เสนอเริ่มจากถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางใช้งบซ่อน ปชป.คุยปันร้อยละ 35 รายได้รัฐไม่มีปัญหา เสนอภาษีท้องถิ่นเก็บเองใช้เอง
วันที่ 20 เม.ย. 54 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิรูปชุมชนท้องถิ่น..สู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ” เพื่อนำข้อเสนอการปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมและตกผลึกร่วมกันกับ 8 เครือข่ายองค์กรท้องถิ่น เสนอเป็นนโยบายต่อตัวแทนพรรคการเมือง โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ร่วมรับฟัง
นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบรวมศูนย์ แม้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งสมบูรณ์ในเชิงโครงสร้าง แต่ก็ยังถูกควบคุมด้วยนโยบายเฉพาะกิจ การออกกฎระเบียบ ข้อบังคับและประกาศในรูปต่างๆโดยหน่วยราชการส่วนกลางและภูมิภาค ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการจัดการปัญหา ขาดเอกภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง และถูกจำกัดบด้วยงบประมาณที่ไม่พอเพียง
ทั้งนี้ เครือข่ายมีข้อเสนอต่อสังคมและทุกพรรคการเมือง 10 ประเด็น (รายละเอียดท้ายข่าว) เช่น การจัดตั้งสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติให้เป็นกลไกกลางในการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น, จัดสรรงบประมาณแก่ อปท. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้รัฐบาล ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ2555 และให้มีการถ่ายโอนภารกิจจากราชการส่วนกลางและภูมิภาค ให้ อปท. โดยมีผลบังคับใช้ภายใน 5 ปี
ประกันรายได้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม และผลักดันกฎหมายหลักของท้องถิ่น ได้แก่ ประมวลกฎหมายท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายกระจายอำนาจ กฎหมายบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น ซึ่งอยู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นายชาตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ 8 เครือข่ายได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิตั้งคณะทำงานเร่งรัดการออกระเบียบกฎหมายต่างๆที่ท้องถิ่นได้เสนอไว้ เนื่องจากกฎหมายทั้งหมดมีผลต่อการดำเนินงานของ อปท.
นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การปฏิรูปการกระจายอำนาจครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 รอบแรกทำเชิงโครงสร้างโดยจัดตั้ง อปท.สำเร็จแล้ว ต่อไปต้องทำให้ อปท. มีประสิทธิภาพแก้ปัญหาได้จริง โดยทั้ง 10 ข้อเสนอสามารถทำได้ทั้งหมด แต่อาจต้องปรับแต่งรายละเอียดบ้าง เช่น เรื่องงบประมาณ เชื่อว่าหากค่อยๆทำ ปีนี้อาจเพิ่มร้อยละ 2 ปีหน้าร้อยละ 5 จนที่สุดถึง 35 ภายใน 5 ปี
“นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่ค้างอย่างการยกระดับ อบต.เป็นเทศบาล ซึ่งตรงนี้มองว่าการปรับเปลี่ยนไม่ได้แตกต่างกันเชิงอำนาจ และการปรับโครงสร้างให้ใหญ่ขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้ และเห็นต่างที่จะให้ยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพราะแต่ละพื้นที่มีโครงสร้าง วัฒนธรรมแตกต่าง เพียงต้องกำหนดบทบาทภารกิจให้ชัดเพื่อรักษาความเป็นท้องถิ่นไว้”
นายชำนิ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ต้องการเพิ่มเติมคือเรื่องภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บ โดยในการกระจายอำนาจที่แท้จริงควรแบ่งสัดส่วนกันให้ชัด ไม่ใช่เก็บแล้วปรับเป็นเงินอุดหนุนไปกองไว้ส่วนกลาง ตรงนี้จะช่วยเรื่องรายได้ของท้องถิ่น ต่อมาคือการปรับบทบาทองค์กรชุมชนใหม่จากฐานะผู้รับบริการจาก อปท.ให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการ
ด้าน นายวิทยา บูรณศิริ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอข้างต้นเกินครึ่งทำได้ บางเรื่องทำได้ทันที แต่งบประมาณร้อยละ 35 ซึ่งตอนนี้ท้องถิ่นได้เพียงร้อยละ 25 นั้นค่อนข้างทำได้ยาก โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2555 ใครเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ทัน สิ่งที่ทำได้ง่ายกว่านั้นคือการถ่ายโอนภารกิจให้ครบก่อน เพราะแต่ละภารกิจมีงบประมาณที่ท้องถิ่นควรได้รับซ่อนอยู่
“ที่ท้องถิ่นจะช่วยเหลือตัวเองได้ก่อนคือการตราบัญญัติของตนเองในเชิงรายได้ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมาย สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนบทบาทตนเองใหม่ ไม่ใช่ทำตามที่นายกรัฐในตรีชี้ทุกอย่างโดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งทุกวันนี้เป็นแบบนั้น ร้อยละไม่ถึงห้าที่จะขับเคลื่อนเอง”
นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ส่วนการถ่ายโอนภารกิจ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายว่าทุกภารกิจจะต้องเรียบร้อยภายใน 4 ปี รวมทั้งเรื่องเม็ดเงินด้วย แต่ที่เห็นควรเพิ่มเติมคือการแยกนโยบายเชิงสังคมออกจากท้องถิ่นให้ชัด เพราะเพียง 245 ภารกิจที่มีก็มากอยู่แล้ว ถัดมาคือการสนับสนุนให้ท้องถิ่นที่เข้มแข็งจัดเป็นรูปแบบพิเศษเพื่อเสริมศักยภาพให้รัฐบาลกลางอีกทางหนึ่ง
นายประเสริฐ เลิศยะโส ตัวแทนจากพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า ทั้ง 10 ข้อเสนอเหมาะสมที่ทุกพรรคการเมืองจะนำไปเป็นนโยบาย อย่างน้อยครึ่งหนึ่งสามารถทำได้ โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กำหนดเป็นนโยบายพรรคอยู่แล้ว
พันตำรวจเอกธนบดี ภู่สุวรรณ ผู้แทนจากพรรคประชากรไทย กล่าวว่า สนับสนุนข้อเสนอข้างต้น แต่อยากเพิ่มเติมประเด็นการออกกฎหมายท้องถิ่นต่างๆ ให้มีการสอบถามท้องถิ่นก่อนว่าต้องการหรือไม่อย่างไร เพราะกฎหมายที่ออกมาส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องทั้งแง่เนื้องาน ระยะเวลา และงบประมาณ
โดยช่วงท้าย ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการฟื้นพลังแผ่นดินด้วยการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นว่า การรวมศูนย์เป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศเกิดปัญหา 5 ด้าน 1.ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอเพราะไม่สามารถจัดการตนเองได้ เมื่อมีวิกฤติปัญหาทุกอย่างจึงพุ่งไปที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว หากแก้ได้จะเกิดการจัดการตนเองถึงร้อยละ 80-90 ข้อ2.เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจที่รวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีความแตกต่าง 3.ระบบราชการมีปัญหาหนัก เกิดสภาพรัฐล้มเหลวราชการเต็มประเทศ กินเงินเดือนอากรแต่แก้ปัญหาไม่ได้ 4.การเมืองสมรรถนะต่ำ คอรัปชั่นเพราะแข่งกันรุนแรง 5.รัฐประหารเกิดง่าย เพราะอำนาจอยู่ที่คนไม่ถึงร้อย
“การกระจายอำนาจมีสร้างโครงสร้างขึ้นแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาให้ดีขึ้น ตัวแทนพรรคการเมืองสามารถมีบทบาททำให้เกิดขึ้นได้ โดยร่วมกับนักวิชาการ ชุมชน ราชการ จัดเป็นเวทีพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทั้งระดับประเทศและจังหวัด อย่างสม่ำเสมอ” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว .
“ข้อเสนอการปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่น” โดยเครือข่ายองค์กรท้องถิ่น
1.จัดตั้ง “สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” ให้เป็นกลไกกลางในการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาระบบที่มีความยืดหยุ่นตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม มีเอกภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่นทั้งด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านการงบประมาณ และด้านการบริหารจัดการองค์กร
2.จัดสรรงบประมาณแก่ อปท. ในระดับที่พอเพียงต่อการดูแลประชาชน โดยเบื้องต้นให้ใช้สัดส่วนงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้ของรัฐบาล ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นไป และให้มีการถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. จากส่วนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยให้มีผลการบังคับใช้ภายใน 5 ปี และมีบทลงโทษบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีที่ไม่ดำเนินการ
3.ประกันรายได้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
4. ตรากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ และแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นไปโดยกลไกภาคประชาชน ทั้งการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงการตรวจสอบและรับรองผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นมีความสมบูรณ์
5.จัดตั้ง “กองทุนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เป็นกลไกการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพของคนในพื้นที่ที่การศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดำเนินการได้และส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการจัดการศึกษาที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมของตนเอง โดยกองทุนดังกล่าว เป็นการสมทบงบประมาณร่วมกันจากรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
6.ใช้มาตรการสมทบงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นที่พัฒนาระบบการจัดการตนเองและมีระบบการเงินการคลังของชุมชนด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีระบบบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับของชุมชน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนประกันราคาผลผลิตด้านเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
7.จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการสำหรับบุคลากรของท้องถิ่น” ให้มีความเสมอภาคกับสวัสดิการที่รัฐให้กับข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้จะเป็นการให้ความสำคัญกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเมื่อเทียบเคียงกับหน่วยราชการส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงการสร้างขวัญกำลังให้แก่บุคลากรที่ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมและผลตอบแทนไม่สูงนัก เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่น กองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น
8.ผลักดันข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการยุบราชการส่วนภูมิภาค
9.ผลักดันกฎหมายหลักของท้องถิ่น ได้แก่ ประมวลกฎหมายท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายกระจายอำนาจ กฎหมายบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งอยู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
10.จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มีความเป็นอิสระ