สร้างอนาคตกรุงเทพฯ สู่มหานครเมืองเดินได้-เมืองเดินดี
UddC จับมือพันธมิตร ร่วมสร้างอนาคตกรุงเทพฯ สู่มหานครเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ให้คนกรุงมีสุขภาวะ เดินบนทางเท้าได้ เปิดสูตรบันได 10 ขั้น ไปสู่เป้าหมาย สำรวจเมืองทั่วโลก เเห่งไหนสำเร็จบ้าง
'เมืองเดินได้-เมืองเดินดี'เป็นโครงการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยได้จัดเวทีนำเสนอผลงานโครงการฯ ระยะที่ 2 ไปเมื่อไม่นานมานี้ ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
มีผู้นำทางความคิดจากย่านต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ได้เเก่ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประธานจัดงานเทศกาลบางกอกแหวกแนว ที่สร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาให้กับย่านรัตนโกสินทร์, พล.ต.นพ. สายัณห์ สวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การเเพทย์ทหาร (สวพท.) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนผลักดันให้โยธี-ราชวิถีเป็นย่านโรงพยาบาลและราชการยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้า เเละ คุณปรีห์กมล จันทรนิจกร เจ้าของ Ma:D Hub ที่ฝันอยากให้ทองหล่อ-เอกมัยเป็นย่านกำหนดความนิยม (trend-setter) ที่เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Goodwalk.org พบว่า มี 5 อันดับย่านเดินดี ในอนาคตของกรุงเทพฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ อันดับ 1 ถนนราชวงศ์ อันดับที่ 2 ถ.จักรพงษ์ ถ.ลาดหญ้า ถ.ยุคล 2 ซ.สยามสแควร์ 7 อันดับที่ 3 ถ.พระรามที่ 1 อันดับที่ 4 ถ.สีลม และซ.จุฬาลงกรณ์ 12 เเละอันดับที่ 5 ถ.พระอาทิตย์ ถ.ตรีเพชร ถ.สุขุมวิท และ ถ.หน้าพระธาตุ ทั้งหมดนี้จะสามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีและนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาย่านน่าอยู่ หรือเป็นข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการเลือกซื้อและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้
"โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 2 จะเป็นการนำผลลัพธ์ที่ได้จากระยะที่ 1 แผนที่เมืองเดินได้ มาต่อยอดโดยคัดเลือกพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีศักยภาพในการเข้าถึงสูง เหมาะกับการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เมืองที่เอื้อต่อการเดินเท้า มาเป็นพื้นที่ในการศึกษาเชิงคุณภาพ เพื่อหาศักยภาพการเดินเท้า (Walkability) ซึ่งจะดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2559" วัตถุประสงค์ของการจัดการถูกระบุขึ้น
ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่คนไทยพูดกันอยู่ตลอด คือ คำว่า ร้อน การเดินทางด้วยเท้าส่วนมากจะเป็นการเดินตอนเย็นซะมากกว่า แต่ในช่วงเวลากลางคืนจะค่อนข้างน่ากลัว เพราะไม่ค่อยมีบ้านคนอาศัยอยู่และมืดมาก ทั้งนี้หากจะมีการปรับปรุงแก้ไขจะต้องใช้เวลาอยู่กับสิ่งนั้นให้นาน มิเช่นนั้นประชาชนและชุมชนประโยชน์ก็จะไม่สามารถเกิดได้ และสิ่งหนึ่งที่เราควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ “เราควรสร้างค่านิยมและทำให้ถนนปลอดภัย”
ด้าน พล.ต.นพ. สายัณห์ สวัสดิ์ศรี เผยว่า ย่านราชวิถีย่านที่มีหน่วยราชการเยอะ ซึ่งการจราจรนั้นถือว่าสร้างความลำบากเป็นอย่างมากให้กับคนผู้ป่วย โดยในเวลานี้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือถนนที่จะสามารถเข้าถึงสถานบริการได้อย่างไร้ความติดขัด
ทั้งนี้ ยังได้มีการเชิญ ผอ.รพ. บริเวณโดยรอบทั้งหมดมาคุยกันในเรื่องของโครงการ SKY WALK ที่จะสามารถตัดผ่านจุดสำคัญ เพื่อกระชับเวลาในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที โดยตอนนี้ได้มีการเขียนเป็นพิมพ์เขียวเป็นขนาดทางเดินมาตรฐานที่ รถพยาบาลสามารถวิ่งผ่านไปมาได้อย่างสะดวก แต่จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลย หากไม่มีการวางแผนนโยบายที่ดีร่วมกัน
"เชื่อว่าถนนย่านราชวิถีเป็นถนนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของ Medical Hub หากทำให้เกิดการผลักดันที่เชื่อมโยงกันของแต่ละพื้นที่การรักษาได้ก็จะสามารถสร้างสุขภาวะที่ดีและการรักษาอย่างรวดเร็วให้กับประชาชนโดยไม่ต้องนอนรอการรักษาอยู่บนรถอย่างยาวนานอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เราควรร่วมมือกันและหันมาสร้างสิ่งที่เป็นรางวัลชีวิตให้กับทุกคนได้อย่างเหมาะสม" ผอ.สวพท. ระบุ
(จากซ้าย:ม.ร.ว.นริศรา-นพ.สายัณห์-ปรีห์กมล)
ขณะที่ ปรีห์กมล จันทรนิจกร เธอฝันอยากให้ทองหล่อ-เอกมัยเป็นย่านกำหนดความนิยม (trend-setter) ที่เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าย่านทองหล่อ-เอกมัยเป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยวแต่เพียงเท่านั้น เพราะย่านนี้มีความหลากหลายมาก เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน แหล่งของกิน รวมถึงพื้นที่ทางการรักษาที่ได้กระจายตัวอย่างหนาแน่นบริเวณโดยรอบ
ด้วยความหลากหลายของผู้คนนี้เอง จึงทำให้เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ทุกคนมีการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ กันอย่างหลากหลาย บางคนเลือกที่จะเดิน บางคนเลือกโดยสารแท็กซี่ ถึงแม้ว่าพื้นที่นั้นจะสามารถเดินไปถึงได้ก็ตาม ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความอันตราย ความร้อน สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้ผู้คนตัดสินใจยอมเสียเงินมากกว่าเดิน
หากสามารถทำภาพรวมให้คนสามารถเดินได้ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ได้สูง สิ่งสำคัญคือเราต้องลบภาพที่มักจะคิดกันเสมอมาว่า “ย่านคนรวย เขาจะเดินหรือ?” จากการสอบถามก็ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะใช้รถเลยสักนิด แต่เพราะมันมีความอันตรายอยู่มากจึงทำให้ต้องพับความคิดที่จะเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตัวเองไว้ตั้งแต่หน้าประตูบ้าน
หากเราทำให้ถนนเดินได้เป็นถนนเดินดีก็จะช่วยลดต้นทุนในการใช้ยานพาหนะส่วนตัวของประชาชน และเปลี่ยนเป็นกำไรทางสุขภาพแทน อย่างกลุ่มผู้สูงอายุ วัยรุ่น ระหว่างเดินเขาก็สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่ส่วนมากที่เห็นในตอนนี้ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาเดินถนนด้านนอกมากนัก เพราะ การจราจรเป็นไปด้วยความน่ากลัวและพื้นที่ไม่ได้เอื้อมากเท่าไหร่ หากทำให้ทุกถนนมีบรรยากาศเดินดีได้ทั้งหมดก็เชื่อว่าสุขภาพที่ดีก็จะตามมา
บันได 10 ขั้น สู่เมืองเดินดี
ท้ายนี้ ทาง GoodWalk “เมืองเดินได้-เดินดี”ได้มีบันได 10 ขั้น สู่การเป็นเมืองเดินดี ดังนี้
1.ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า มากกว่ารถยนต์ถนนบนในพื้นที่เมือง ควรให้ความสำคัญกับการสัญจรของคนเดินเท้ามากกว่ารถยนต์ โดยจัดให้รถยนต์สัญจรในพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น
2.สร้างสรรค์ความหลากหลาย การใช้ที่ดินแบบผสมผสานหลากหลาย สร้างความคึกคักให้พื้นที่ ไม่เปลี่ยว กระตุ้นให้เกิดการเดิน
3. จัดพื้นที่จอดรถยนต์ให้ถูกต้อง ปัญหาที่จอดรถยนต์ในเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ควรลดการจอดรถบนท้องถนน และจัดพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการจอดรถโดยเฉพาะ
4. พัฒนาและส่งเสริมการใช้งานระบบขนส่งมวลชนระบบขนส่งมวลชนที่ดีส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณคนเดินเท้า และช่วยลดการใช้งานรถยนต์
5. เสริมความปลอดภัยให้คนเดินเท้า อุปกรณ์ถนนที่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดิน จะส่งผลโดยตรงต่อความสบายใจในการใช้งานถนนนั้นๆ ทั้งในยามปกติและยามค่ำคืน
6. เพิ่มความเป็นมิตรกับเส้นทางจักรยาน การเพิ่มพื้นที่สำหรับจักรยานบนท้องถนน ทำให้ความเร็วในการสัญจรโดยรถยนต์ช้าลง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้คนเดินเท้า
7. ออกแบบทางเท้าให้มีกิจกรรมและมีความสวยงามถนนที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีความสวยงามจะช่วยส่งเสริมการเดินของประชาชนทั่วไปได้ดีกว่า ถนนที่มีปราศจากสิ่งดึงดูด
8. ปลูกต้นไม้บนถนน ต้นไม้ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีของถนน ทั้งในแง่ของการลดมลพิษ และการสร้างทัศนียภาพที่ดีของเมือง
9.ออกแบบอาคารให้น่าสนใจและดึงดูด คนเดินเท้ายังต้องการเสน่ห์ของพื้นที่เพื่อกระตุ้นการเดิน หน้าตาอาคารที่น่าสนใจและดึงดูดจะช่วยเพิ่มประสบการณ์การเดิน
10. เลือกวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด งบประมาณและเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เอื้อต่อการเดินเท้า การเลือกวิธีการที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ
สำรวจเมืองทั่วโลก ที่ไหนบ้าง 'เดินได้ เดินดี
การปรับปรุงพื้นที่เมืองให้เป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เป็นเป้าหมายของการพัฒนาเมืองที่สำคัญประการหนึ่งที่เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในเชิงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การประหยัดพลังงาน การรักษาสภาพแวดล้อม และการแก้ปัญหาจราจร นอกจากนั้นยังสามารถส่งเสริมสุขภาวะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้พร้อมๆ กัน
อย่างเมือง Tokyo, Japan OMY...ไม่หลับใหลยามค่ำคืน ย่าน OMY (Otemachi-Marunouchi-Yurakucho) เป็นย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ที่มีการใช้ที่ดินในลักษณะสำนักงาน ธนาคาร มาตั้งแต่ปี 1890 การใช้ประโยชน์รูปแบบเดียวทำให้เมืองร้างยามค่ำคืน และมีคนจรจัดเข้ามาจับจองพื้นที่ และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับพื้นที่พาณิชยกรรมอื่น ๆ การฟื้นคืนสู่สีสันแห่งเมือง ด้วยการรื้อร้างสร้างใหม่ เพิ่มทางเดินเท้า พื้นที่สีเขียว ไฟส่องทาง พัฒนาชั้นล่างของอาคาร และ จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้มีการใช้งานพื้นที่สาธารณะอย่างคุ้มค่า โดยมีสำนักงานที่ทันสมัย ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และร้านอาหาร ทำให้เกิดการใช้งานตลอดเวลา ไม่ถูกทิ้งร้างในช่วงวันหยุด
Portland, United States of America ฉลาดอยู่ ฉลาดเดิน ด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาท รัฐมีการส่งเสริมให้คนใช้จักรยาน และระบบขนส่งมวลชน ส่งผลให้ในปัจจุบันระยะทางการใช้รถของคนเมืองลดลง 6.4 กิโลเมตร/วัน และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐได้ถึง 3.5 % นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ชี้ว่า ชาวเมือง Portland จับจ่ายใช้สอย และใช้เวลาว่างเพื่อการพักผ่อน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ส่งผลให้เป็นเมืองที่มีการย้ายถิ่นเข้ามาของผู้ที่มีการศึกษาสูงเป็นจำนวนมากทำให้มีอัตราการตั้งบริษัทใหม่ที่สูง สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และเอื้อต่อการเดิน
Curitiba, Brazil โต...ในกรอบ ระบบ BRT (Bus Rapid Transit) ช่วยลดการเติบโตของเมืองแบบไร้ทิศทาง โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินคู่ไปกับการออกแบบระบบขนส่งมวลชน ทำให้การใช้รถยนต์ลดลงถึง 27 ล้านเที่ยวต่อปี ลดการใช้น้ำมันได้ 27 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเป็นการใช้พลังงานที่น้อยกว่าเมืองอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกันในบราซิลถึงประมาณ 30% และ มีผู้ที่เดินไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ในย่านที่เอื้อต่อการเดิน
Copenhagen, Denmark สองเท้า ก้าวเจริญ โครงการพัฒนาทางเดินเท้า (Strøget) ได้ช่วยพลิกวิกฤติปัญหารถติดและมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงด้วยการยกเลิกการใช้รถยนต์ในเขตพื้นที่พาณิชยกรรมใจกลางเมือง และเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เน้นการเดินเป็นหลัก มีพื้นที่สาธารณะเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญในเมือง เช่น โบสถ์ พื้นที่พาณิชยกรรม และพื้นที่สาธารณะต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา ดึงดูดการเดินมากขึ้น
Birmingham, United Kingdom เปลี่ยนเมืองช้ำเป็นเมืองช็อป City Center Urban Strategy (1990) เปลี่ยนความเสื่อมโทรมและอาชญากรรมอันเป็นผลจากการเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักของประเทศ ตามวัตถุประสงค์ 2 ประการได้แก่ 1) การพัฒนาจุดดึงดูดใหม่ใจกลางเมืองโดย ด้วยสร้างศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า (Bullring Mall) สถานีรถไฟแห่งใหม่ และ 2) เชื่อมโยงการพัฒนาระบบเดินเท้าและพื้นที่สาธารณะในเมือง ให้ต่อเนื่องกัน รวมไปถึง Sky Walkway จากการพัฒนาดังกล่าวทำให้ย่านใจกลางเมือง สามารถฟื้นตัวในเชิงเศรษฐกิจ เป็นเมืองที่น่าอยู่ และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก
ปิดท้ายด้วยเมือง Bristol, United Kingdom มหาลัยคนเดิน “Bristol Legible City” เป็นโครงการปรับปรุงวิธีการให้ข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการเดินและการใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ของเมือง ในปี1990 เช่น การสร้างป้ายนำทาง อุปกรณ์ถนน และแผนที่นำทางให้มีความสอดคล้องกัน มีสีสันและเอกลักษณ์เฉพาะตัว นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เมือง Bristol ได้ขยายพื้นที่โครงการ “Bristol Legible City” ให้มีอาณาเขตกว้างขวางออกไป ซึ่งป้ายนำทาง อุปกรณ์ถนน และแผนที่นำทางยังคงได้รับการใช้งาน และมีความเป็นมิตรต่อผู้เยี่ยมเยือน สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ส่วนประเทศไทยจะก้าวไปสู่จุดที่ฝันไว้หรือไม่ กับการเป็นเมืองเดินได้ เดินดี คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน เเละประชาชน เเต่ละพื้นที่ ร่วมพัฒนา ออกเเบบ สร้างสรรค์ ต่อไป .