รายงานแอมเนสตี้ฯ กับสิทธิมนุษยชน (ไทย) ถูกลิดรอน !
เเอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 2558-59 เตือนทั่วโลกยังถูกคุกคาม รบ.มุ่งโจมตี ตัดงบฯ เพิกเฉยต่อโครงสร้างสถาบันที่คุ้มครองสิทธิ ปชช. ขณะที่ไทยยังเเย่ จว.ชายเเดนภาคใต้ มีความขัดเเย้ง พลเรือนถูกโจมตี ลุ้น ร่าง กม.เอาผิดการทรมานฯ ผ่าน สนช.
“สิทธิขั้นพื้นฐานกำลังถูกละเลยจากผู้มีอำนาจ”
เป็นประโยคที่ถูกนำเสนอขึ้นจากการฉายวิดีโอภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลก ในเวทีแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2558-59 พร้อมกันทุกประเทศ ในวันที่ 24 ก.พ.2559 จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ณ โรงแรม สุโกศล กรุงเทพฯ
แม้เรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดคุยมานาน แต่เวลามิได้ส่งผลให้แต่ละประเทศหันมาให้ความสำคัญมากนัก ในที่สุดจึงมีการละเมิด คุกคาม ดูแคลน ประชาชนมาโดยตลอด
“การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับสากลกำลังถูกคุกคาม จากการที่แต่ละประเทศใช้อำนาจปราบปรามอย่างกว้างขวางในนามของความมั่นคงและแสวงหาประโยชน์ระยะสั้น นำไปสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศ” นี่เป็นการระบุในแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
อีกทั้ง ยังเห็นว่า แนวโน้มของการลิดรอนสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมุ่งโจมตี ตัดงบประมาณ หรือเพิกเฉยต่อโครงสร้างเชิงสถาบันที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน
ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้องค์การสหประชาชาติ ศาลอาญาระหว่างประเทศ และกลไกภูมิภาค รวมทั้งคณะมนตรียุโรปและระบบสิทธิมนุษชนแห่งทวีปอเมริกา กำลังถูกคุกคามจากรัฐบาลที่มุ่งหลีกเลี่ยงอำนาจกำกับดูแลไม่ให้มีการตรวจสอบสถิติการดำเนินงานในประเทศ
ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่า ไม่ใช่แค่สิทธิของเราเท่านั้นที่ถูกคุกคาม แต่ยังรวมถึงกฎหมายและระบบที่สร้างขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นด้วย การทุ่มเททำงานและความก้าวหน้าของมนุษย์ในรอบ 70 ปี ที่ผ่านมากำลังถูกคุกคาม
สำหรับประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ที่มี ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นผู้นำรัฐนาวา ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ว่ารัฐบาลทหารจำกัดสิทธิและปราบปรามคนเห็นต่าง โดยอ้างความมั่นคงของชาติมากเกินไป จนอาจเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน
‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ยังคงมีความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา พลเรือนตกเป็นเป้าของการโจมตีด้วย ซึ่งน่าจะเป็นปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธ
“เมื่อ ก.พ.2557 ทหารพรานสองนายถูกตั้งข้อหากรณีสังหารเด็กชาย 3 คน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ต่อมา ม.ค. 2558 ศาลกลับยกฟ้อง ทำให้พ้นความผิด” เขายกตัวอย่าง
ส่วนการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ชำนาญ เผยว่า แม้ประเทศไทยกำลังจะมีข่าวดี เพราะขณะนี้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เอาผิดการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ...เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่จนถึงปัจจุบันกลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติการโหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ติดอาวุธอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดปีมีบุคคลที่ถูกทหารควบคุมตัวไม่ให้ติดต่อโลกภายนอก และไม่มีหลักประกันการคุ้มครอง
โดย ก.ย. 2558 มีการเปิดเรือนจำชั่วคราวในค่ายทหาร เพื่อใช้ควบคุมพลเรือน ต่อมา ต.ค.และพ.ย. ปีเดียวกัน มีผู้ถูกควบคุมตัว 2 คน เสียชีวิต แม้ผู้ร้องเรียนจะขอการเยียวยาจากการซ้อมทรมาน แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ
เขาบอกด้วยว่า มี.ค. 2558 เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปฏิเสธไม่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าเยี่ยมเพื่อสอบถามอาการบาดเจ็บของนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ภายหลังอ้างว่าถูกซ้อมทรมาน ระหว่างถูกทหารควบคุมตัว ไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก รวมถึงการทุบตี และช็อตไฟฟ้ามากกว่า 40 ครั้ง
การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ เป็นอีกหนึ่งกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้บริหารแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิที่จะได้รับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม กลายมาให้พิจารณาคดีในศาลทหาร อย่างไรก็ตาม เรียกร้องให้ศาลทหารปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยหรือไม่
นอกจากนี้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่3/2558 ห้ามมิให้มีการชุมนุมเกินห้าคน มีการเซ็นเซอร์ความเห็นที่เป็นเชิงลบ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ อีกทั้งยังตั้งข้อหาฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือการควบคุมสมาชิก 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งนักกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีการประท้วงอย่างสงบหลายครั้ง ใน ก.พ. มี.ค. พ.ค และมิ.ย.
“มีการตั้งข้อหานายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และกรรมการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย และครูที่เกษียณแล้วอีกหนึ่งคน ซึ่งได้มอบดอกไม้ให้กับนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับระหว่างประท้วง”
ที่สำคัญ คือ ทางการให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติในคดีเหล่านี้มักกระทำในทางลับ ใช้การพิจารณาลับ และไม่ให้สิทธิพิเศษในการประกันตัว โดยศาลทหารจะมีระยะเวลานานขึ้น บ่อยครั้งขึ้น และบางกรณีมีโทษจำคุกถึง 60 ปี
ชำนาญ กล่าวอีกว่า ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เกิดกรณีมือปืนยิงสังหารนายใช้ บุญทองเล็ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดินขององค์กรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่สมาชิกคนอื่นยังถูกคุกคาม นอกจากนี้ ต.ค.มีการฟ้องร้องคดีทหารคนหนึ่ง เนื่องจากบุกรุกทำร้ายนักกิจกรรมกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย
“นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มต้องขึ้นศาล จากคดีหมิ่นประมาท ภายหลังโพสต์ข้อความผ่านทางโซเซียลมีเดียเกี่ยวกับการสอบสวนการดำเนินงานเหมืองแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด” เขากล่าว และว่า ยังมีกรณีนักข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์ภูเก็ตหวานได้รับการยกฟ้อง ภายหลังถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่บทความจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเปิดโปงว่าข้าราชการไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการการค้ามนุษย์
ผู้บริหารแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้อพยบเข้าเมือง มีการค้นพบหลุมฝังศพบริเวณค่ายกักกันพรมแดนไทย-มาเลเซีย หรือกรณีส่งตัวกลับกลุ่มเตอร์กิช 109 คน กลับจีน ทำให้มีความเสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิมนุษชนที่นั่น อย่างไรก็ตาม มี 2 คน ได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนสุดท้ายในประเทศไทย เขากล่าวว่า โทษประหารชีวิต พบศาลยังคงใช้โทษประหารชีวิตตลอดทั้งปี แม้คำพิพากษาที่ออกมา จะไม่มีการลงโทษจริงก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2552 แต่ยังถือว่าโทษดังกล่าวยังมีอยู่ อีกทั้งมีการเพิ่มโทษในกฎหมายใหม่เข้ามาอีกด้วย
ด้านผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน อย่าง ‘ชุติมา สีดาเสถียร’ กล่าวเพิ่มเติมบางช่วงบางตอน กรณีโรฮีนจา ว่าความคืบหน้าล่าสุดยังอยู่ในสภาวะหยุดชะงัก ไม่มีใครกล้าแตะหรือซักถามเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนโรฮีนจายื่นขอลี้ภัย ณ ประเทศออสเตรเลีย
กรณีที่เกิดขึ้นส่งสัญญาณรุนแรงว่า แม้เจ้าหน้าที่รัฐยังต้องระหกระเหินออกนอกประเทศ ทั้งที่มีผลงานมากมาย ดังนั้น จึงเป็นงานท้าทายรัฐบาลปัจจุบันถึงความจริงใจในการเดินหน้าคดี และทำอย่างไรให้ผู้สื่อข่าว เอ็นจีโอ ที่ติดตามคดีดังกล่าวไม่ถูกคุกคาม เพราะที่ผ่านมามีการคุกคามเป็นระยะ จึงต้องกลับไปถามรัฐบาล
“คาดหวังให้รัฐบาลให้อำนาจที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะการจับกุมดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกว่าหนึ่งร้อยรายนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของขบวนการค้ามนุษย์ ที่มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่เกิดขึ้นมานับสิบปีแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่า จะมีผู้เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก” เธอกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ ‘สิทธิมนุษยชน’ ของประเทศไทย ในรอบปีที่ผ่านมา
สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เอาผิดการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนในอนาคต จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ไม่เกิน มี.ค. ศกนี้ ตามที่ นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม บอกไว้หรือไม่ ต้องลุ้นกัน!!! .
อ่านประกอบ:เเอมเนสตี้ฯเผยสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ไทยยังน่าห่วง จำกัดสิทธิเเสดงออก-ชุมนุม