เผยแพร่แล้ว!พ.ร.ฎ.ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-ให้ข้อมูลเท็จโกงภาษีจำคุก 7 ปี
เผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ลงโทษจำคุก 7 ปี ผู้ให้ข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีผล 25 ก.พ.59 ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกินเจ็ดแสนห้าหมื่น จัดเก็บเหลือร้อยละสิบห้า
ราชกิจจานุเบกษา 24 ก.พ.59 เผยแพร่ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ.2559 ลงโทษบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ไม่ยื่นบัญชีที่มีการรับรองพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการ เสียภาษีหรือกระทําการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทํานองเดียวกันเพื่อขอคืน ภาษีอากร ระบุว่า ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เป็นปีที่ 71 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ.2559 ”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 35 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 มาตรา 50 ทวิ มาตรา 51 หรือมาตรา 69 เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 37 ผู้ใดกระทําการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท (1) โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคําเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคําอันเป็นเท็จ หรือนําพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ (2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทํานองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 37 ทวิ ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยง การเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความใน (6) ของมาตรา 90/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทําการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใด ทํานองเดียวกัน”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทลงโทษทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นบัญชีที่มีการรับรองพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการ เสียภาษีหรือกระทําการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทํานองเดียวกันเพื่อขอคืน ภาษีอากร อีกทั้งอัตราโทษสําหรับความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีอากรยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดอาญาดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/017/1.PDF
ขณะเดียวกันได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ.2559
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ.2559
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 599) พ.ศ.2559
และ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 600) พ.ศ. 2559 กรณีให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (1) สําหรับบุคคลธรรมดา อาทิ
เงินได้สุทธิไม่เกินหนึ่งแสนบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละห้า
เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ไม่เกินสามแสนบาท ให้จัดเก็บในอัตราลดลงจากร้อยละสิบ ให้เหลือร้อยละห้า สําหรับเงินได้สุทธิส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินห้าแสนบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบ
เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่เกินห้าแสนบาท แต่ไม่เกินเจ็ดแสนห้าหมื่นบาท ให้จัดเก็บในอัตราลดลงจากร้อยละยี่สิบ ให้เหลือร้อยละสิบห้า สําหรับเงินได้สุทธิส่วนที่เกินเจ็ดแสนห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละยี่สิบ