แผนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ฯ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. แผนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่หนึ่ง การคัดสรรและบรรจุบุคลากร มีสาระสำคัญครอบคลุมการบริหารจัดการเพื่อให้มีบุคลากรปฏิบัติงานตามโครงสร้างของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
ส่วนที่สอง การพัฒนาคุณสมบัติผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบิน มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบินให้ได้คุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานของ ICAO โดยจะทำการฝึกอบรมตามหลักสูตรในสถาบันการฝึกอบรมที่ได้รับรองจาก ICAO ซึ่งครอบคลุม 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการปฏิบัติการบินของอากาศยาน ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน และด้านการขนส่งสินค้าอันตราย
ส่วนที่สาม การตรวจสอบและประเมินเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่
ส่วนที่สี่ การดำเนินการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่
2. ความร่วมมือกับต่างประเทศในการปรับปรุงและยกระดับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินในระยะยาว ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับ Cooperation Framework Agreement on Aviation Safety กับ EASA ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการปรับปรุงและยกระดับระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินในทุกกิจกรรมการบินรวม 8 ด้าน ประกอบด้วย 1) กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ 2) หน่วยงานและหน้าที่การกำกับดูแลความปลอดภัย 3) การออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ 4) การปฏิบัติการบินของอากาศยาน 5) สมควรเดินอากาศของอากาศยาน 6) สอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน 7) การบริการเดินอากาศ 8) สนามบินและการช่วยเดินอากาศภาคพื้น
3. ความร่วมมือทางเทคนิคตามโครงการ “Civil Aviation Safety Oversight Improvement Project” กับประเทศญี่ปุ่น เป็นการสนับสนุนทางเทคนิค มีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ถึงเดือนกันยายน 2561 โดยประเทศญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมปรับปรุงระบบตรวจสอบความปลอดภัยด้านความสมควรเดินอากาศ (Improvement of Safety Audit System) ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญระยะยาว (Long-term Expert (s)) รวมทั้งจะมีการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญระยะสั้น (Short-term Expert (s)) เพื่อปรับปรุงระบบรายงานความปลอดภัยภาคบังคับ (Improvement of Mandatory Safety Reporting System) ด้านการบำรุงรักษาอากาศยาน