"แข่งนกเขาชวาเสียง" ปลุกศก.ชายแดนใต้คึกคัก
วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2559 จังหวัดปัตตานีมีการแข่งขันนกเขาชวาเสียง ที่สนามแข่งนก หมู่ 4 ตำบลคลองมานิง อำเภอเมืองปัตตานี ปรากฏว่าปีนี้มีผู้เลี้ยงนกนำนกเขาชวาเข้าร่วมแข่งขันกว่า 1,700 เสา ทำให้มีกระแสเงินสะพัดในพื้นที่จากการซื้อขายนกเขาชวาราคาตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้าน
การแข่งขันนกเขาชวาเสียงมี 5 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทเสียงใหญ่, เสียงกลาง, เสียงเล็ก, ประเภทรวมเสียง และประเภทดาวรุ่ง ถือเป็นกิจกรรมที่มีเสน่ห์ เพราะการแข่งขันแต่ละรอบ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้นกเขาแต่ละตัวเป็นผู้ชนะ ผลส่วนมากจึงสลับกันแพ้สลับกันชนะ ทำให้เจ้าของนกสนุกและลุ้นไปตลอด
นกบางตัวเพิ่งชนะอีกตัวหนึ่งมา แต่ลงแข่งอีกรอบอาจจะแพ้ตัวที่เพิ่งชนะผ่านมาก็ได้ โดยนกที่จะชนะได้ในแต่ละรอบ ต้องขันเสียงกังวาน มีจังหวะการขัน และต้องขันทน ทั้งหมดเป็นไปตามกติกาที่คณะกรรมการตัดสินกำหนด
รางวัลสำหรับผู้ชนะมีตั้งแต่รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และพัดลม แต่เป้าหมายของการประกวดประขันไม่ใช่เรื่องรางวัล แต่เป็นเรื่องของความภูมิใจและการซื้อขาย
นายวิชัย เรืองเริงสกุลฤทธิ์ นายกสมาคมนกเขาชวาเสียงจังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า วงการนกเขาชวาเสียงมีความตื่นตัวมากในปีนี้ ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องตามมา นอกจากการซื้อขายนกเขาชวาแล้ว ยังมีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยง, ธุรกิจขายข้าวเปลือกและดอกหญ้าที่นกเขากิน, ธุรกิจกรงนก และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงนก
นอกจากนั้นการแข่งขันนกเขาชวาเสียงยังเป็นการกระตุ้นความคึกคักเรื่องการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ได้บรรจุงานแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนลงในปฏิทินการท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีหลังมีปัญหาเรื่องการเดินทางของนก!!
นายดิเรก โดดะแซ ประธานชมรมนกเขาชวาเสียงประจำอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในการจัดการแข่งขัน คือ ทางสายการบินไม่ยอมให้นำสัตว์ทุกชนิดขึ้นเครื่อง ตั้งแต่มีประกาศเฝ้าระวังไข้หวัดนกช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถนำนกขึ้นไปบนเครื่องได้ ทั้งที่การเฝ้าระวังไข้หวัดนกถูกยกเลิกไปนานแล้ว
"รายได้ปีละนับร้อยล้านหายไปจากตรงนี้ เพราะถ้าคนอินโดนีเซีย สิงค์โปร์ เข้ามาซื้อนกแล้วต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึงบ้านเขา นกก็ตายพอดี นกแต่ละตัวราคาเป็นล้าน ไม่มีใครกล้าเสี่ยง แต่ถ้าพาขึ้นเครื่อง 1 ชั่วโมงก็ถึงบ้าน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยปลดล็อคตรงนี้ด้วย"
"ในแง่ของการแข่งขัน เราเองก็ไม่ได้นำนกไปแข่งที่อินโดฯและสิงค์โปร์มานาน่หลายปี ไปแต่ตัว ไม่พานกไป เพราะถ้าพาไปไม่คุ้ม ทุกวันนี้ไปร่วมแข่งได้แค่ที่มาเลเซีย เพราะอยู่ใกล้ นั่งรถไปได้" นายดิเรก กล่าว
สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา ประชาชนนิยมเลี้ยงนกเขาชวามาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เดิมเป็นสัตว์เลี้ยงในราชสำนัก ตลอดจนข้าราชบริพาร และคหบดี เพราะถือเป็นสัตว์ชั้นสูง ปัจจุบันมีชาวบ้านเพาะพันธุ์ขายเป็นธุรกิจ ซึ่งการแข่งขันในแต่ละปีมีนกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมแข่งด้วย ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย
นกเขาชวาเสียงที่นิยมเลี้ยงกันในพื้นที่มี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก นกขนาดใหญ่จะมีราคาแพงกว่า อยู่ที่ราวๆ คู่ละ 1-2 แสนบาท
นกเขาชวาเสียงที่มีราคาแพงที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ชื่อ "ซุปเปอร์แมน" ราคา 3 ล้านบาท อยู่ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มีนักเล่นนกเขาชวาเสียงหลายคนติดต่อขอซื้อ แต่เจ้าของไม่ยอมขาย แม้จะให้ราคาถึง 3 ล้านบาทก็ตาม