ไม่กลัวแล้ง! บ้านโนนเขวา จ.ขอนแก่น โชว์โมเดลบริหารจัดการน้ำมืออาชีพ
“การดำเนินการกิจกรรมในการบริหารจัดการน้ำ หรือการขุดลอก ขุดคลอง ที่กลุ่มชาวบ้านโนนเขวาทำนั้น ถามว่าจำเป็นต้องใช้เงินเงินมาสนับสนุนไหม ก็จำเป็น แต่พวกเราไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือที่โยนแค่เงินมาให้แล้วก็จบ เพราะทำแบบนั้นชาวบ้านจะไม่ได้อะไร ไม่มีความยั่งยืน เงินที่เยียวยาเวลาเกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น”
จากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกน้อยลง ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในภาวะวิกฤต ทำให้รัฐบาลขอความร่วมมือให้ชาวนาหยุดทำนาปรัง ขณะที่นักวิชาการพยายามเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาดูเเลโดยเฉพาะ
เเม้การผลักดันในระดับประเทศยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม แต่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เเห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อย่าง 'หมู่บ้านโนนเขวา' ต.ท่านางแนว อ.เเวงน้อยจ.ขอนแก่น ได้ดำเนินนโยบายจัดตั้งคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำขึ้นเเล้วในชุมชน โดยไม่ต้องรอความหวังจากรัฐบาล
“เมื่อก่อนชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวาต้องเจอกับภาวะทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งตลอด จนกระทั่งเรามาสังเกตว่าช่วงไหนที่น้ำท่วม แล้วช่วงไหนที่น้ำแล้ง ลองมาเก็บข้อมูลกันในพื้นที่โดยให้ชาวบ้านทุกคนช่วยกันสังเกตแล้วทำบันทึกเก็บข้อมูลว่า เวลาน้ำหลากน้ำท่วมกี่เดือน แล้วเวลาน้ำแล้งช่วงเดือนไหนบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนชาวบ้านไม่ได้สนใจ คือ น้ำท่วมก็ปล่อยท่วมไป ในฐานะที่เราสนใจเรื่องนี้ เจ็บปวดเมื่อยามเกิดอุทกภัย เราจึงต้องให้ความสำคัญ” พิชาญ ทิพย์วงษ์ ผู้ประสานงานลุ่มน้ำชีและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต (บ้านป่าเป้ง-บ้านโนนศิลา) กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
เขายังบอกด้วยว่า ความเจ็บปวดที่ชาวบ้านโนนเขวาได้เรียนรู้มานับสิบปี เป็นยาขนานหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเรียนรู้กระบวนการในการจัดการปัญหา ซึ่งการรวมกลุ่มในการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำในหมู่บ้านโนนเขวาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ผู้นำท้องถิ่นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวบ้านรู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีการทำแบบไหนจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ แต่ชาวบ้านไม่กล้าขับเคลื่อนและจัดการเรื่องเหล่านั้น หากไม่มีผู้นำ เพราะติดอยู่ในสภาวะของความกลัว
สำหรับสภาพปัญหาก่อนจะเกิดกระบวนการจัดการบริหารน้ำ พิชาญ เล่าว่า พื้นที่บ้านโนนเขวา จะมีน้ำแล้ง น้ำหลาก ส่งผลให้มีตะกอนสะสมเป็นจำนวนมากทำให้พื้นที่เก็บกักน้ำได้น้อย เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำหลากก็เข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ฤดูแล้งหนองน้ำก็แห้งขอด เกษตรกรไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร หนองน้ำสาธารณะในพื้นที่ถูกบุกรุก เนื่องจากไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน เกษตรกรไม่สามารถทำนาปีได้ต้องปรับเปลี่ยนมาทำนาปรังแทน และขาดแคลนน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค บางปีส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำใกล้เคียงด้วย เมื่อมีการพูดคุยและประชุมกันของชาวบ้าน จึงก่อให้เกิดการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาและวางแนวทางในการแก้ไขเตรียมพร้อมรับภัยแล้ง 2559 เรียนรู้เข้าใจ ลงมือทำ และปรับตัว
ผู้ประสานงานกลุ่มลุ่มน้ำชีฯ อธิบายถึงแนวทางแก้ไขรับมือภัยแล้ง ว่าเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 แม่น้ำชีไม่ล้นตลิ่งเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ชุมชนจึงร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการน้ำพื้นที่และพื้นที่เครือข่ายน้ำชีตอนบน ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพบก กองพันทหารช่างที่ 51 สสนก. และอบต.ท่านางแนว สูบน้ำจากลำน้ำชี เข้าหนองมืด ไปยังหนองสรวงน้อย และหนองสรวงใหญ่ โดยใช้เครื่องรถไดนาและเครื่องสูบน้ำ ตั้งแต่วันที่7-25 ตุลาคม 2558 เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2559 ในรูปแบบกองทุนน้ำมันสูบน้ำ โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำรวม 190,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคในครัวเรือนได้ 355 ครัวเรือน และชุมชนมีน้ำเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยไว้บริโภคในครัวเรือน
“วิธีการขุดคลองของเรา คือ เราขุดคลองเชื่อมแม่น้ำชีเข้าสู่หนองมีด แล้วก็วางท่อลอดรับน้ำเข้า จากนั้นก็ขุดลอกหนองมีด ขุดคลองเชื่อมหนองมีดไปหนองสรวงน้อย หลังจากนั้นก็ขุดทำคันดินรอบหนองสรวงน้อย และขุดลอกคลองเชื่อมหนองสรวงน้อยถึงหนองสรวงใหญ่ ซึ่งบริเวณพื้นที่ที่เราขุดลอก ขุดคลองนั้น จะมีการผ่านพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี ดังนั้นปีนี้เราจึงมั่นใจ 100% ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง”
เมื่อถามถึงงบประมาณในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ พิชาญ ระบุว่า แม้โครงการที่ชาวบ้านกำลังจัดทำขึ้นจะไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ แต่เพื่อให้การบริหารจัดการมีความสำเร็จทุกคนจึงร่วมมือกันหาหน่วยงานภาคเอกชนที่สนใจ
“น้ำคือทรัพยากรของทุกคน ไม่ใช่ของรัฐ หรือของคนใดคนหนึ่ง วัดในชุมชนก็เช่นกัน คือ เมื่อทุกคนมองว่าวัดคือสถานที่ของชุมชน เวลาจะสร้างโบสถ์ สร้างศาลา เรายังหาวิธีการหาเงินมาช่วยกันสร้างได้ แล้วทำไมน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เราจะหาแหล่งสนับสนุนมาจัดการไม่ได้ ถามว่าเราอยากให้รัฐช่วยเหลือด้านงบประมาณไหม ก็อยากให้ช่วย แต่เราไม่ได้อยากได้แค่ตัวเงิน เพราะหากรัฐแค่จะโยนเม็ดเงินลงมาแล้วไม่สอนชาวบ้านให้เอาปัญหามาเรียนรู้ ความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญนอกจากเงินแล้วก็คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น”
พงษ์พันธ์ ชานนท์ ชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา คืออีกเสียงหนึ่งที่ยืนยัน ว่าตั้งแต่ชาวบ้านทุกคนรวมตัวกัน และหันมาจัดการบริหารน้ำในชุมชนด้วยตัวเองด้วยความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหา สถานการณ์ปริมาณน้ำในชุมชนดีขึ้น วันนี้รอบ ๆ หมู่บ้านของเราอาจจะต้องประสบปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคไม่พอใช้ แต่สำหรับหมู่บ้านโนนเขวามั่นใจเกิน 100% ว่าตลอดหน้าแล้งปี 2559 เราจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยหนองน้ำที่ขุดจะมีการแบ่งแยกชัดเจนว่าหนองใดใช้อุปโภคบริโภค และหนองใดใช้สำหรับทำการเกษตร ซึ่งทุกคนยอมรับในข้อตกลง และการขุดคลองเพื่อจะส่งน้ำมาจากลุ่มน้ำชีจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่การเกษตรบางส่วนของชาวบ้าน แต่เมื่อชาวบ้านตกลงกันเองก็ยินยอมให้ใช้พื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีหน่วยงานรัฐคิดจะเข้ามาทำโครงการเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีรายละเอียดชี้แจงว่าหากชาวบ้านยอมสูญเสียที่ดินไปแล้วจะได้ผลประโยชน์เรื่องน้ำอย่างไรบ้าง
“ชาวบ้านคุยกันในพื้นที่เราสามารถตกลงกันได้อย่างง่ายดาย เพราะเราคุยกันชัดเจนว่าแผนการทำงานจะเป็นแบบไหน ชาวบ้านจะได้อะไรบ้าง 1 2 3 4 ขณะที่ภาครัฐบอกแค่ว่าจะทำ จะทำ แต่ไม่เคยมาให้ข้อมูลชี้แจงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้นจึงไม่มั่นใจกับการทำงานของหน่วยงานรัฐ และชาวบ้านทุกคนก็มีความสุขกับการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง”
ขณะที่ประเสริฐ ลือชาธนานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น บอกว่า ปัญหาภัยแล้งนับเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิต สำหรับ จ.ขอนแก่น จากภาพรวมแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยแต่ระบายออกมาก ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 16 อำเภอ 105 ตำบล 1,005 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 9.5 ของหมู่บ้านทั้งจังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้น้ำอุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจีในโครงการ “เอสซีจี รวมใจสู้ภัยแล้ง” ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ได้ พร้อมร่วมกันสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ อาสา สารสิน กรรมการ และประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี บอกว่า เพื่อร่วมบรรเทาวิกฤติภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการมอบถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 500 ใบ ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง โดยมอบให้กับจังหวัดขอนแก่น จำนวน 150 ใบ ขณะเดียวกัน ยังร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง อาทิ ชุมชนบ้านโนนเขวา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ขุดคลองเชื่อม ขุดลอกคลอง ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำอุปโภคได้เป็นอย่างดี พร้อมผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนใกล้เคียงต่อไป
บ้านโนนเขวา ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น คืออีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพประชาชนก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง .