ครม.ผ่านร่างกฏหมายกองทุนสวัสดิการชาวนา
ครม.เห็นชอบหลักการ พ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนา “มาร์ค”สั่งคลังฯ-กฤษฎีกา ถกรายละเอียดประเด็นซ้ำซ้อนกองทุนการออมแห่งชาติ-เงินสมทบ 1.5 เท่าสูงเกินไป
วันที่ 12 เม.ย. 54 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระกรรณิการ์รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการเบื้องต้นในร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนสวัสดิการชาวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.)เสนอมา และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาประกอบข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุม นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานว่าความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อเป็นสวัสดิการให้ชาวนาซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีมากถึง 3.7 ล้านครัวเรือน และยังไม่มีระบบสวัสดิการหรือหลักประกันในชีวิต ทั้งนี้ร่างกฎหมายนี้เบื้องต้นมีความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นความซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาฯ และข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่จะมารองรับ
นายวัชระ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนในด้านการออมและสวัสดิการต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐมากขึ้น จึงได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนา โดยมีบางประเด็นที่ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดูในรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวนามากที่สุด โดยเฉพาะกรณีเงินสมทบ 1.5 เท่าซึ่งดูแล้วจะสูงกว่ากองทุนอื่นๆ.
…………………………….
(ล้อมกรอบ)
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนา พ.ศ. ....
1. บททั่วไป
กำหนดบทนิยามคำว่า “กองทุน” “ชาวนา” “สมาชิก” “เงินสะสม” “เงินสมทบ” สวัสดิการรายเดือน” “บำเหน็จตกทอด” “บำเหน็จ” และ “ผู้รับผลประโยชน์” ฯลฯ (ร่างมาตรา 3)
2. หมวด 1 การจัดตั้งกองทุนและลักษณะของกิจการกองทุน
2.1 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนาขึ้นในกรมการข้าวเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก และเป็นหลักประกันแก่สมาชิกและบุคคลในครัวเรือน เมื่อสมาชิกอยู่ในวัยชราภาพ หรือทุพพลภาพ (ร่างมาตรา 5)
2.2 กำหนดให้กองทุนประกอบด้วย เงินสะสม เงินสมทบ เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นเงินอุดหนุนเข้ากองทุน เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน และรายได้อื่น ซึ่งกิจการของกองทุนไม่อยู่ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (ร่างมาตรา 6 – ร่างมาตรา 7)
3. หมวด 2 การควบคุมและการบริหารกิจการของกองทุน
3.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชาวนา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมการข้าว และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 3 คน จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านข้าว ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงิน การธนาคารและผู้แทนชาวนา จำนวน 6 คน เป็นกรรมการ ให้ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนา เป็นเลขานุการ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกิน 2 คน (ร่างมาตรา 12)
3.2 กำหนดให้คณะกรรมมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งในการบริหารกิจการของกองทุน กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง กำกับ ดูแลบริหารจัดการกองทุนปฏิบัติงานอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกอทุนในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 18)
4. หมวด 3 สำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนา
กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนาขึ้นในสังกัดกรมการขาวทำหน้าที่ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ เก็บรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนจัดให้มีทะเบียนสมาชิกซึ่งต้องส่งเงินสะสมเข้ากองทุน และจัดให้มีรายงานและบัญชีของกองทุน (ร่างมาตรา 25 – ร่างมาตรา 27)
5. หมวด 4 สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิก
5.1 กำหนดคุณสมบัติของสมาชิก และกำหนดให้สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ในการจ่ายเงินสวัสดิการรายเดือน บำเหน็จ บำเหน็จตกทอด เงินสะสม เงินสมทบ รวมทั้งสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก ให้จ่ายตาม หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของเงินที่สมาชิกจ่ายสะสมเข้ากองทุนไว้แล้ว (ร่างมาตรา 28 และร่างมาตรา 30)
5.2 กำหนดให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเท่าครึ่งของจำนวนเงินสะสมที่สมาชิกได้จ่ายเข้ากองทุนไว้แล้ว สำหรับกรณีสมาชิกทุพพลภาพ ซึ่งไม่ต้องการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด (ร่างมาตรา 32)
5.3 ในกรณีที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ ให้สมาชิกมีสิทธิได้รับสวัสดิการรายเดือนจากกองทุน สำหรับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ ในกรณีที่สมาชิกทุพพลภาพก่อนสิ้นสมาชิกภาพ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพ ให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากกองทุน เว้นแต่สมาชิกแสดงความจำนงต่อกองทุนขอรับเงินตามมาตรา 33 ถ้าสมาชิกมิได้กำหนดบุคคลผู้รับประโยชน์ผู้พึงได้รับเงินจากกองทุนไว้โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่กองทุน หรือได้กำหนดไว้ แต่บุคคลผู้นั้นตายก่อนให้จ่ายบำเหน็จจากกองทุน ให้แก่บุคคลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ร่างมาตรา 33 และร่างมาตรา 34)
5.4 สมาชิกมีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นจากกองทุน ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด การหาประโยชน์ของกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 37 – และร่างมาตรา 38)
6. หมวด 5 การเงิน การบัญชีและการตรวจสอบ
กำหนดให้กองทุนจัดให้มีบัญชีเงินสำรอง บัญชีเงินกองกลางซึ่งแสดงรายการเงินที่มีผู้บริจาคให้ บัญชีเงินรายบุคคล ให้กองทุนในส่วนของสมาชิกแต่ละราย และยื่นแสดงรายการจัดการกองทุนต่อคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตามหลักการเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด และจัดทำรายงานผลงานประจำปีในปีที่ล่วงมาแล้ว เสนอต่อรัฐมนตรี ภายใน 120 วัน นับจากวันสิ้นปีบัญชี (ร่างมาตรา 40 – ร่างมาตรา 45)
7. หมวด 6 การควบคุม กำกับ การจัดการกองทุน
กำหนดให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานต่างๆ ชี้แจงข้อเท็จจริง โดยรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลโดยทั่วไป ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ มีอำนาจในการปฏิบัติงานเข้าไปในสถานที่เพื่อตรวจสอบพยานหลักฐาน ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐาน สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวทุกครั้ง การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 46 – ร่างมาตรา 51)
8. หมวด 7 บทกำหนดโทษ
8.1 กำหนดให้ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนรายใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท หากเกิดการกระทำความผิด กรรมการ ผู้จัดการ หรือคนอื่นๆ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมาย ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า มิได้มีส่วนร่วมทำความผิด (ร่างมาตรา 52)
8.2 กำหนดให้ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 53)
8.3 กำหนดให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบให้ดำเนินการจัดการกองทุน แสดงข้อความอัน เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ต่อคณะกรรมการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 54)
8.4 เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 55)
9. กำหนดบทเฉพาะกาล
9.1 ในวาระเริ่มแรกให้กรมการข้าวทำหน้าที่สำนักงาน และให้อธิบดีกรมการข้าวเป็นผู้จัดการ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน (ร่างมาตรา 56)
9.2 ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 3 คน จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านข้าว ด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร เป็นกรรมการ อธิบดีกรมการข้าว เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชาวนาเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน และให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข คุณสมบัติของการเป็นสมาชิก การตรวจสอบคุณสมบัติและการสมัครสมาชิก ตามมาตรา 28 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน จัดให้มีการรับสมัครสมาชิก ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันและให้อนุมัติการรับเข้าเป็นสมาชิก ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 57 – ร่างมาตรา 59)
9.3 ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกกรรมการเพื่อให้ได้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชาวนาตามพระราชบัญญัตินี้ภายใน 360 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 60) .