“ผาปก-สวนผึ้ง”รวมพลังทำแนวกันไฟ ป้องกันป่าวอด รักษาประปาหมู่บ้าน
แม้ฤดูกาลจะเปลี่ยนผ่านตามวาระเวลา ฝน ร้อน หนาว หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกๆ ปี แต่สำหรับหน้าแล้งปีนี้ ดูเหมือนจะประสบกับวิกฤตในหลายๆ พื้นที น้ำอุปโภค-บริโภคขาดแคลน ไม่ต้องพูดถึงพื้นที่ทางการเกษตรที่ปลูกอะไรไม่ได้มานานหลายเดือนแล้ว จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ภัยแล้ง” ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุหลัก คือธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกทำลาย ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จนฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล หรือแทบไม่ตกเลย ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไม่มีระบบ ทำให้หน้าแล้งมาเร็วและรุนแรงขึ้นทุกๆ ปี
ที่สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของไทย แหล่งท่องเที่ยวท็อปฮิต แต่สวนผึ้งก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่รุนแรงมากนัก ทว่าปีนี้ภัยแล้งที่สวนผึ้งถือว่าหนักสุดในรอบ 30 ปี เมื่อแหล่งน้ำหลายแห่งเริ่มแห้งขอด จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ท
บ้านผาปก ม.3 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นชุมชนติดกับเทือกเขาตะนาวศรี เป็นแหล่งต้นน้ำห้วยผาปก และห้วยเขากระโจม เมื่อความแห้งแล้งมาเยือน ทำให้ลำห้วยทั้งสองแห้งขอด ส่งผลต่ออ่างเก็บน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค เมื่อไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ชาวบ้านต้องซื้อน้ำมาใช้ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ขณะเดียวภัยพิบัติสำคัญที่มาพร้อมกับภัยแล้ง คือไฟป่า ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี หนักบ้างน้อยบ้าง สลับกันไป ด้วยเหตุนี้หมู่บ้านผาปก จึงเข้าร่วม “โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่” ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และป้องกันไฟป่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก
อภิขนา ทองเหลือ หรือ “ผู้ใหญ่แวว” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านผาปก เปิดเผยว่า เมื่อถึงฤดูแล้ง ชาวบ้านผาปก มักจะได้รับความเดือดร้อนจากไฟป่าเป็นประจำ ตนได้ชวนชาวบ้านเข้าไปทำแนวกันไฟป่า และสร้างจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
สำหรับชาวบ้านผาปกส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป งานประจำของชาวบ้าน คือเป็นพนักงานตามรีสอร์ตต่างๆ ในอำเภอสวนผึ้ง หากนับเฉพาะรีสอร์ตและที่พักที่อยู่ในเขตหมู่บ้านผาปก จะมีถึง 45 แห่งทีเดียว เหตุนี้จึงจำเป็นต้องป้องกันไว้ก่อน เพราะหากเกิดไฟป่า ผลกระทบจะรุนแรง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่ช่วยให้ชาวบ้านอยู่ได้
หลายๆ ครั้งที่เกิดไฟป่าไฟจะไหม้ท่อส่งน้ำประปาภูเขาที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องขึ้นไปซ่อมแซม นอกจากนี้ไฟป่ายังทำให้ป่าต้นน้ำได้รับความเสียหาย อ่างเก็บน้ำเล็กๆ ที่ใช้เก็บกักน้ำบนภูเขาก็แห้งลงเรื่อยๆ
“เมื่อก่อนที่หมู่บ้านนี้เป็นแหล่งแร่ จึงมีเหมืองแร่เก่าอยู่หลายแห่ง และเราดัดแปลงเหมืองเก่า เป็นอ่างเก็บน้ำ มาใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภค ได้ต่อท่อประปาลงมายังหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านได้ใช้กัน แต่ปีนี้น้ำแห้ง เพราะแล้งจัด เราก็เลยขอการสนับสนุนจากสสส. ทำโครงการชุมชนน่าอยู่ เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม นอกจากจะป้องกันไฟป่าแล้ว เราจะมีการปลูกป่าต้นน้ำด้วย” ผู้ใหญ่บ้านผาปกกล่าว
ด้าน ประเสริฐ สอนวัย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านผาปก บอกว่า บ้านผาปกเป็นหมู่บ้านต้นน้ำเมื่อพื้นที่เกิดวิกฤตย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะลำน้ำภาชี ที่เป็นลำน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวสวนผึ้ง หากเกิดไฟไหม้ป่าต้นน้ำ ต้นไม้ทั้งเล็กใหญ่ต้องตาย ทำให้พื้นดินแห้ง ไม่มีความชุ่มชื้น เวลาฝนตกก็ไม่สามารถซึมซับและอุ้มน้ำฝนไว้ได้ ซึ่งบ้านผาปกมีแหล่งน้ำทั้งหมด 5 แห่ง เฉพาะบนภูเขามี 2 แห่ง ซึ่งเป็นน้ำซับจากใต้ดินในพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย ส่วนแหล่งน้ำพื้นล่างอีก 3 แห่ง ปริมาณน้ำก็น้อยลงกว่าทุกปีจนส่งผลกระทบกับชาวบ้านกว่าหนึ่งพันครัวเรือน
นอกจากไฟป่า ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤตภัยแล้งของบ้านผาปกแล้ว ผู้ช่วยประเสริฐ ยังบอกว่า คณะกรรมการหมู่บ้านยังรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และคิดหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้อง เพราะแต่เดิมมีการเก็บค่าบริการน้ำประปาเพียงครัวเรือนละ 30 บาท ทำให้ทุกคนใช้น้ำอย่างไม่บันยะบันยัง แต่เมื่อเจอวิกฤติหนักสุดในรอบ 30 ปี หลายคนเริ่มตระหนักการใช้น้ำมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะทำการติดตั้งมิเตอร์และจัดเก็บตามปริมาณที่ใช้ไป ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ชาวผาปก ยังมีพันธมิตรสำคัญในหมู่บ้านอย่าง ชมรมรักษ์เขากระโจม เป็นกลุ่มจิตอาสาที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนในพื้นที่ที่ต้องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ผืนป่าเขากระโจมคงความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตน้อยใหญ่ตลอดไป
ดายุ สีเสวก ประธานชมรมรักษ์เขากระโจม บอกว่า เขากระโจม เป็นผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ อ.สวนผึ้ง ทว่าปีนี้ค่อนข้างแย่ เพราะฝนตกทิ้งช่วงนาน ประกอบกับเกิดไฟป่าขึ้นบ่อยทำให้พื้นดินและต้นไม้ไม่อุมดมสมบูรณ์มากพอ ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนใช้น้ำ นอกจากปัจจัยธรรมชาติแล้ว ต้องมองปัญหาจากคนอีกส่วนหนึ่ง ว่ารีสอร์ทเกิดขึ้นมากเกินไปหรือไม่ มีการบุกรุกพื้นที่ป่าจุดไหน ซึ่งเรื่องนี้ทุกๆ คนตจ้องช่วยกันดูแล
“เมื่อปีนี้แล้งจัด เราก็ต้องมาดูถึงแนวทางการดูแลป่าต้นน้ำ ต้องช่วยกันทำแนวกันไฟ ช่วยกันไม่จุด ไม่เผา เมื่อไฟป่าน้อยลง สภาพป่าก็จะดีขึ้น แหล่งน้ำก็จะดีขึ้นตามลำดับ” ประธานชมรมรักษ์เขากระโจม กล่าว
ขณะที่ มาย สามเจดีย์ ชาวบ้านบ้านผาปก กล่าวว่า หากชุมชนมีกิจกรรมก็จะมาร่วมทุกครั้ง มาช่วยทำแนวกันไฟ ให้ผู้ใหญ่ทำคนดียวคงไม่ไหว ชาวบ้านต้องช่วยกัน สามัคคีกัน ทั้งหมู่บ้านก็จะเรียกกันไปช่วยดับไฟ เข้าไปทำแนวกันไฟ หากไปคนเดียวก็ได้แค่คนเดียว แต่ถ้าไปหลายคนก็จะช่วยกันได้มาก
“เวลาเกิดไฟไหม้ป่าก็ส่งผลกระทบกับบ้านเรา ถ้าบ้านไม่ไหม้ ก็แล้ง ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ลำบากต่อการใช้ชีวิตอีก บ้านเราเราไม่ดูแลจะให้ใครดูแล เราต้องดูแลเอง” เธอ บอก
นี่คือตัวอย่างของพลังชุมชนที่ช่วยกันป้องกันและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เพื่อลดความเสียหายและให้คงอยู่อย่างยั่งยืน