ดูตัวเลข...รวมอาชีวศึกษาภาครัฐ-เอกชน เป็นเนื้อเดียวกัน
อาชีวะรัฐและเอกชน มีปัญหาร่วมกัน คือ เรื่องค่านิยมของเด็กไทยที่ยังไม่ค่อยชอบเรียนอาชีวะ พ่อแม่ผู้ปกครอง มองการเรียนอาชีวะแง่ลบลงไปเรื่อยๆ ทำให้อัตราส่วนเด็กเข้ามาเรียนน้อยเมื่อเทียบกับสายสามัญ
หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง คสช.ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น
แม้การรวมภารกิจของการอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนจะถูกพูดถึงมานานมากแล้วก็ตาม แต่เมื่อรวมกันจริงๆ ด้วยคำสั่ง มาตรา 44 ทำเอาหลายคนถึงกับมึนงง มีคำถามแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ? บ้างเห็นว่า ถึงจะควบรวมก็รวมกันไป อย่างไรเสียก็ทำงานเหมือนเดิม บ้างก็เห็นว่า รวมไปทำไมไม่เห็นจะได้อะไร ขณะที่บางคนก็แสดงความขอบคุณ เพราะตั้งหน้าตั้งตารอมานานแล้ว
คล้อยหลังคำสั่งคสช.เพียงไม่กี่วัน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ประกาศจัดตั้ง "ศูนย์ส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน" เป็นหน่วยงานภายในและเตรียมภารกิจถ่ายโอนเงินงบประมาณและกองทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้แก่
- เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชน
- เงินอุดหนุนสิ่งอำนวยความสะดวกและสื่อบริการของนักเรียนพิการ
- เงินอุดหนุนพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
- เงินอุดหนุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
จำนวนรวมกว่า 4,324 ล้านบาท และงบประมาณบริหารตามภารกิจยุทธศาสตร์ของส่วนกลางอีก 14.5 ล้านบาท รวมเป็น 4,339 ล้านบาท ให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมบุคลากรอีก 27 คน
ขณะเดียวกัน สอศ. ได้มีกรอบการดำนินงาน มีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2559 ออกมา
รวมถึง 14 ภารกิจที่จะต้องทำงานร่วมกัน ได้แก่
1.สร้างทีมงานอาชีวะสร้างชาติ
2.สร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา
3.จัดตั้งสถานศึกษาอาชีวะเฉพาะทาง 10 Clusters
4.พัฒนาฐานข้อมูลรายสาขา/อาชีพ
5.พัฒนาสู่มาตรฐานสากล ทั้งทำหลักสูตร 3 ประเทศ เรียนทางไกล
6.เพิ่มผู้เรียนที่เหมาะสม ขยายทวิศึกษา
7.ขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน
8.ปรับระบบการบริหารจัดการ
9.ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งครู ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ เครื่องมือ
10.ยกระดับคุณภาพสถานศึกษา ร่วมพัฒนาให้ผ่าน สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)
11.นักเรียน นักศึกษาทำกิจกรรมร่วมกัน
12.ป้องกันและแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาท
13.พัฒนาครู ผ่านชมรมครู สถานประกอบการ
และ 14.ปรับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว เป็นรายภาคเรียน
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ถือว่า Roadmap การรวมอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน กำลังอยู่ในกรอบเวลาการถ่ายโอนหลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความเห็นตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เข้าร่วม 1,200 คน ว่า อาชีวะรัฐและเอกชนนั้น มีปัญหาร่วมกัน คือ เรื่องค่านิยมของเด็กไทยที่ยังไม่ค่อยชอบเรียนอาชีวะ พ่อแม่ผู้ปกครอง มองการเรียนอาชีวะแง่ลบลงไปเรื่อยๆ ทำให้อัตราส่วนเด็กเข้ามาเรียนน้อยเมื่อเทียบกับสายสามัญ ขณะเดียวกันก็ปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวะด้วยกัน รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งคาดหวังว่า เมื่อรวมกันแล้วจะแบ่งปัน หมุนเวียนครูกันได้
รมว.ศธ. พูดเน้นย้ำโดยให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเอกชน กว่า 110 แห่งที่ไม่ผ่านการประเมินจาก สมศ.
ขณะที่อาชีวะรัฐมีเพียงแค่ 1 แห่งเท่านั้นที่ไม่ผ่านการประเมิน ทั้งที่ตัวเลขสถานศึกษาอาชีวเอกชนมีถึง 461 แห่ง หากเทียบกับสถานศึกษาอาชีวภาครัฐที่มี 425 แห่ง จึงนำมาซึ่งคำถาม ทำไมคุณภาพ และมาตรฐานจึงแตกต่างกัน
ใช่หรือไม่ อาชีวะภาคเอกชน เสียเปรียบอาชีวะภาครัฐ ทั้งเรื่องงบประมาณที่จำกัดกว่า ไม่มีทุนการศึกษาให้เด็กๆ ต้องให้เด็กกู้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แตกต่างจากอาชีวะภาครัฐมีทุนให้เปล่า นี่คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไม่มีแรงดึงดูดให้คนเข้ามาเรียนอาชีวะเอกชน
ฉะนั้นการรวมกันอาชีวะรัฐ-เอกชน ครั้งนี้ จึงดูเหมือนเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน ต้องจับตาดูว่า การเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปแบบไร้รอยต่อ ราบรื่น สอดคล้องไปกับนโยบายรัฐที่ต้องการกำลังคนสายอาชีพ ต้องการให้อาชีวะเร่งผลิตกำลังคน ปั่นให้เป็น "อาชีวะสร้างชาติ" ได้หรือไม่