ล้วงเกม! ครม.แบ่ง รธน. 2 ช่วง ป้องเกิดโกลาหลหรือวางไลน์อำนาจ คสช.?
“…สเต็ปต่อไปที่น่าคิดคือ ‘เกณฑ์’ บางอย่างของ คสช. คืออะไร ใช่การให้ คสช. ใช้อำนาจได้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ และระยะเวลาไม่นานนัก คือนานขนาดไหน ? เพราะหากเป็นเช่นนั้น สมมติ มีพรรคใดพรรคหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วมี ‘มวลชน’ ออกมาต้านอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลบริหารงานไม่ได้ ตรงนี้ คสช. จะสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไข ‘วิกฤติ’ ดังกล่าวได้ทันที…”
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาโดยพลัน!
ภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงนามอย่างเป็นทางการของคณะรัฐมนตรีที่เสนอแนะความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นอกเหนือจากแก้ไขรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย เช่น ในส่วนของการเกณฑ์แรงงานสามารถทำได้เมื่อเกิดภาวะสงคราม แก้เป็นภาวะสงครามและการสู้รบ เพราะบางเหตุการณ์มีแต่สู้รบอย่างเดียว รวมถึงให้แยกหมวดปฏิรูปออกมาโดยเฉพาะ และให้เวลาการทำกฎหมายลูกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สอดคล้องกับโร้ดแม็พของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือให้ได้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560
แต่เรื่องสำคัญคือต้องการให้แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา โดยช่วงแรกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีหลักเกณฑ์ ‘อย่างหนึ่ง’ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ส่วนช่วงหลังเมื่อเปลี่ยนผ่านไปแล้วค่อยจึงใช้เป็นหลักสากลมากยิ่งขึ้น
หรือเรียกภาษาบ้าน ๆ ว่า ช่วงแรกเป็น ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ช่วงหลังค่อย ‘เต็มใบ’
(อ่านประกอบ :ครม.ชงปรับ รธน.แบ่ง 2 ระยะ ช่วงแรกมีเหตุไม่คาดฝันออกกฎป้องขัดแย้งได้)
ทำไมจึงทำยุ่งยากเช่นนั้น ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดมาให้เห็นภาพ ดังนี้
ถ้าจำกันได้ช่วงก่อนหน้านี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ที่ให้อำนาจล้นฟ้าเกินกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง หากเกิดเหตุการณ์ ‘วิกฤติ’ ขึ้นภายในประเทศ
ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ทั้งพรรคการเมืองใหญ่ ภาคประชาชน รวมถึงบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะนั้นกดดันอย่างหนัก ทำให้ ‘บิ๊ก คสช.’ รายหนึ่งต้อง ‘ส่งซิก’ ให้ สปช. ‘คว่ำ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเสีย
แต่ความพยายามดังกล่าวของ คสช.-บิ๊กทหาร บางรายก็ยังไม่หมดลงไป เพราะก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้วางกรอบการร่างไว้ 5 ข้อ โดยหนึ่งในกรอบดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า ต้องการให้มี ‘มาตรการ’ ป้องกันนักการเมืองแสวงอำนาจ และเกิดวิกฤติจนหาทางออกไม่ได้
กระทั่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างแรกของ ’21 อรหันต์’ คลอดมา ในบทบัญญัติเฉพาะกาล มาตรา 257 บัญญัติไว้ทำนองว่า ให้ คสช. ยังคงอำนาจอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
นั่นหมายความว่า ในระหว่างการเลือกตั้ง คสช. ก็ยังมีอำนาจ และใช้ ‘สารพัดอำนาจ’ ตามมาตรา 44 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้
นอกจากนี้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถตีความ มาตรา 7 ซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน และมีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ใช้มาโดยตลอดได้
ขณะเดียวกันความเห็นของ สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอไปในทำนองเดียวกันว่า ต้องการให้มี ‘องค์กร’ เพื่อทำหน้าที่แก้วิกฤติของประเทศด้วย
โดยเฉพาะ สนช. ที่เห็นด้วยชัดเจนกับการให้อำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมมือกับ ‘ขุนทหาร’ และประธานองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อมาแก้ไข ‘วิกฤติ’ ของชาติ โดยให้มีตัวแทน ‘บุคคล’ ภายนอกเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นใคร ?
ล่าสุด คสช. ได้รวมความเห็นกับคณะรัฐมนตรี ส่งให้กับ กรธ. เรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ในหน้าสุดท้าย โดยอ้างด้วยความเป็นห่วงจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายก่อนการรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 2557 กลับมาอีก
สาระสำคัญคือ แบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ระยะ นั่นคือ ช่วงแรก หรือช่วงเฉพาะกิจ ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก ให้มีหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีการเลือกตั้ง ส.ส. ระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ หลังจากนั้นในระยะต่อไป จึงค่อยเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากล
หากมองจากหมากเกมนี้ของ คสช. ทั้งในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ และความเห็นของคณะรัฐมนตรี-คสช. อาจเป็นไปได้ว่า เพื่อ ‘วางไลน์’ อำนาจ คสช. เอาไว้ในวงการเมืองอนาคต
เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘บิ๊กตู่’ ให้สัญญากับประชาคมโลกไว้แล้วว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 อย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้ปรากฏให้เห็นตามเอกสารมติคณะรัฐมนตรี หรือข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีอยู่บ่อย ๆ
หากจะเลื่อนออกไปอีก คงเป็นไปได้ยาก ต่างชาติจะกดดันมากยิ่งขึ้น ?
สอดคล้องกับบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจของ คสช. จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ นัยว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยช่วงมีการเลือกตั้ง
เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น จัดการเลือกตั้งไม่ได้ หรือปิดล้อมสถานที่จัดเลือกตั้ง ทาง คสช. สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อีกด้วย
สเต็ปต่อไปที่น่าคิดคือ ‘เกณฑ์’ บางอย่างของ คสช. คืออะไร ใช่การให้ คสช. ใช้อำนาจได้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ และระยะเวลาไม่นานนัก คือนานขนาดไหน ?
เพราะหากเป็นเช่นนั้น สมมติ มีพรรคใดพรรคหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วมี ‘มวลชน’ ออกมาต้านอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลบริหารงานไม่ได้ ตรงนี้ คสช. จะสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไข ‘วิกฤติ’ ดังกล่าวได้ทันที
หรือหากไม่อยากล้วงลูกขนาดนั้น ยังมี ‘ประตูต่อไป’ คือ ให้รัฐสภา หรือวุฒิสภา อย่างใดอย่างหนึ่ง ดำเนินการลงมติเพื่อให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จับมือกับ ‘ขุนทหาร’ แก้วิกฤติต่อได้อีก
ดังนั้น การเสนอความเห็นดังกล่าวเพื่อเป็น ‘คาน’ ค้ำยันอำนาจของ คสช. ไม่ให้ถูก ‘เล่นงาน’ กลับ เมื่อตอน ‘ลงจากหลังเสือ’ แล้วนั่นเอง
ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี ‘เนติบริกรครุฑ’ อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ จะรับข้อเสนอนี้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !