รมว.พม. ลงพื้นที่ชุมชนเขียวไข่กา ฟังปชช.ผู้ที่ได้รับผลกระทบริมเจ้าพระยา
รมว.พม. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนเขียวไข่กา กทม. รับทราบปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
วันที่ 18 ก.พ. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชน เขียวไข่กา และรับทราบปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการหาแนวทางช่วยเหลือ ณ ชุมชนเขียวไข่กา เขตดุสิต กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรุงเทพมหานครรับผิดชอบดำเนินโครงการดังกล่าว โดยรูปแบบโครงการจะเป็นการก่อสร้างทางเดินคอนกรีตเสริมเหล็กเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นโครงการบริเวณสะพานพระราม 7 แนวสายทางขนานไปตามแนวริมฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก สิ้นสุดที่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทางฝั่งละประมาณ 7 กิโลเมตร รวมทั้งสองฝั่งประมาณ 14 กิโลเมตร โดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณโครงการให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม และ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่า ให้เป็นสัญลักษณ์ (The New Landmark) ของประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการอเนกประสงค์ในการใช้เป็นเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Lane) รวมถึงใช้เป็นพื้นที่สำหรับการชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ ทั้งนี้ จะมีการออกแบบพื้นที่บริเวณสถานที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่รองรับการจัดงานต่างๆ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับมอบหมายให้หามาตรการในการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว หลังจากวันที่ 13 กันยายน 2558 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้ทำการสำรวจข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า มีจำนวน 4 เขต 10 ชุมชน 263 หลังคาเรือน (โดยเป็นส่วนที่อยู่นอกแนวเขื่อน) ประกอบด้วย เขตดุสิต จำนวน 200 หลังคาเรือน เขตบางซื่อ จำนวน 22 หลังคาเรือน เขตบางพลัด จำนวน 8 หลังคาเรือน และเขตดุสิตรวมกับเขตพระนคร จำนวน 33 หลังคาเรือน
สำหรับความต้องการของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1) อยู่ในที่ดินเดิม จำนวน 81 หลังคาเรือน 2) ย้ายออกไปหาที่ดินใหม่ (ที่ดินรัฐหรือที่ดินเอกชน) จำนวน 83 หลังคาเรือน 3) รับค่ารื้อถอน หรือค่าชดเชย จำนวน 29 หลังคาเรือน และ 4 ) ไม่ให้ข้อมูลและไม่อยู่บ้าน จำนวน 70 หลังคาเรือน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงพื้นที่ได้รับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ซึ่งตัวแทนชุมชุนได้เรียกร้องให้จัดหาพื้นที่รองรับ ได้แก่ 1)แฟลตของกระทรวงการคลัง ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2)ที่ดินของเอกชนที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณชุมชนเดิม และ 3)ที่ดินของรัฐซึ่งไม่ไกลจากชุมชนเดิม ขณะที่ พอช. ได้เตรียมที่ดินรองรับการสร้างบ้านมั่นคงที่ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ โดยหลังจากนี้ ได้มอบหมายให้ พอช. ลงสำรวจพื้นที่เพื่อรองรับชุมชน กรณีที่ชุมชนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีแผนที่จะพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยดำเนินการในรูปแบบโครงการบ้านมั่นคง เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะสนับสนุนและดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป