สนช. ถก 3 ชม. ผ่าน 3 วาระรวด งบกลางปี 5.6 หมื่น ล.
สนช.ผ่านฉลุย 3 วาระรวด งบกลางปี 5.6 หมื่นล้าน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง สมาชิกติงรายละเอียดแผนการใช้งบประมาณไม่ชัด หวั่น ตรวจสอบยาก ห่วงพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลง 3 หมื่นหมู่บ้าน ส่งผลกระทบเกิดฟุ้งเฟ้อในสังคม
วันที่ 18 ก.พ. 59 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ ปี 2559 วงเงิน 56,000 ล้านบาท จำนวน 8 มาตรา ตามที่ ครม.เสนอมา เพื่อขอความเห็นชอบ จาก สนช. แบบสามวาระรวด
โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การตั้งงบกลางปี 56,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็นสองส่วน คือ 1. ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น 47,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลรองรับการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ที่จะกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ แบ่งเป็นการค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตาม 32,000 ล้านบาท และการจัดสรรตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 15,000 ล้านบาท 2. การชดใช้เงินคงคลัง 8,300 ล้านบาท
โดยวงเงิน 56,000 ล้านบาท นำมาจากรายได้ของ กสทช. ในการประมูลคลื่น 4 จี คลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะเป็นกลไกช่วยให้การดำเนินงานของรัฐบาลบรรลุตามเจตนารมณ์ และช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจภายในประเทศ ในยามที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย
จากนั้น ที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช. อภิปรายแสดงความเห็น ส่วนใหญ่สอบถามถึงแนวทางการบริหารงบประมาณ เพราะเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ไม่แสดงรายละเอียดของแผนการใช้เงินและหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน อาทิ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า งบกลางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศที่ขอเพิ่มเติมครั้งนี้ 32,000 ล้านบาท หากนำไปรวมกับงบกลางปี 2559 จำนวน 420,000 ล้านบาท จะคิดเป็น 15.6% ของงบประมาณ รายจ่ายปี 59 ทั้งหมด จะบริหารให้เกิดความโปร่งใสอย่างไร เนื่องจากไม่มีการแสดงรายละเอียดของหน่วยงานที่รับผิดชอบและไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน ทำให้ตรวจสอบยาก ควรระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นประชานิยม
ขณะที่ นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สนช. กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 15,000 ล้านบาท ที่จะนำระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงไปในหมู่บ้าน 3 หมื่นแห่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริสุทธิ์ ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีการดำรงชีวิตมีความสุขหากนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปจะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตคนในหมู่บ้าน เพราะก่อนหน้านี้ ที่มีการนำอินเทอร์เน็ตลงไปใน 4 หมื่นกว่าหมู่บ้าน พบปัญหาด้านสังคมทั้งการใช้จ่ายสิ่งไม่จำเป็น สินค้าฟุ่มเฟือย การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เนื่องจากการรับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย หากจะนำระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาควรระวังด้านสังคมด้วย รัฐบาลต้องจัดงบประมาณคู่ขนานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิก สนช. สลับกันให้ความเห็นอยู่ประมาณ 2.40 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบรับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนน 189 ต่อ 1 จากนั้นจึงพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อทันที โดยการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา อย่างไรก็ตามการพิจารณาในวาระ 2 ไม่มีสมาชิก สนช.คนใดลุกขึ้นแสดงความเห็นเลย ทำให้ประชุมลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างรวดเร็วด้วยคะแนน 191 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาพิจารณากฎหมายสามวาระรวดเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น.
ขอบคุณข่าวจาก