'พาที' โต้นักบินแย่ แจ้ง ผล '2กัปตัน' ไร้ผิด-อีก5รอสรุป
“พาที” ปฏิเสธลั่น ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวกับนักบิน ย้ำเหตุมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อยกระดับรองรับมาตรฐานความปลอดภัย ด้านการบิน ก่อนจะเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเครื่องบินกับสายการบินยุโรป พร้อมโต้ไม่ได้ปล่อยนักบินไม่เข้าเกณฑ์ขึ้นเป็นกัปตัน เหตุต้องได้ไลเซนส์จากสำนักงานการบินพลเรือน มั่นใจจากนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ด้าน “สมคิด-อาคม” ประสานเสียงเป็นปัญหาภายในของนกแอร์ เรียกผู้บริหารมาถกแล้ว ขณะที่อธิบดีกรมสวัสดิการฯแนะนักบินที่ถูกเลิกจ้างให้รักษาสิทธิที่พึงได้รับ
จากปัญหาสายการบินนกแอร์เกิดความล่าช้าในการขึ้นบินนับสิบเที่ยวบิน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้โดยสารจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30น.วันที่ 17 ก.พ. นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดแถลงข่าวด่วนที่สำนักงานสายการบินนกแอร์ ชี้แจงรายละเอียดการชดเชยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ว่า มีผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 3,000 คน จากการยกเลิกเที่ยวบินจำนวนทั้งสิ้น 17 เที่ยวบิน ทั้งเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้ การชดเชยดังกล่าว ทางสายการบินนกแอร์ได้ปฏิบัติตามหลักการของกรมการบินพลเรือน เบื้องต้นได้ประสานให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดต่อผู้โดยสารเพื่อชดเชยให้กับผู้โดยสารเป็นที่เรียบร้อยแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์และยังมีผู้โดยสารบางส่วนที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ สายการบินจึงตั้งสายด่วนให้เฉพาะผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการติดต่อจากนกแอร์ เพื่อสอบถามรายละเอียดและข้อมูลการชดเชย ได้ที่หมายเลข โทร. 0-2529-8740 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 17 ก.พ.เป็นต้นไป
นายพาทีกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าของการสอบสวนนักบินที่เหลืออีก 7 คน ล่าสุดพบว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่เบื้องต้นพบว่านักบินจำนวน 2 คน ใน 7 คน ไม่มีความผิดคือ นายสัญญา ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการแผนกทดสอบและพัฒนาการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน และนายวิรุณ มหิทธิกุล ผู้อำนวยการแผนกเอกสารการบินและรัฐสัมพันธ์/ นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ส่วนที่เหลืออีก 5 คนคาดว่าจะใช้เวลาสอบสวนและสรุปอีกประมาณ 1-2 วัน จึงจะสอบสวนแล้วเสร็จ ส่วนสาเหตุที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบ และสิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังทำเรื่องเกี่ยวกับคนซึ่งเซ้นซิทีฟ จะต้องออกข่าว ต้องระวัง แม้ว่าเขาจะผิด อาจมองได้ว่าเขาเองเป็นคนไม่ดี แต่อาจมีสถานการณ์หรือปัญหาภายในที่ทำให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ส่วนกรณีนายศานิต คงเพชร นั้น ส่วนตัวไม่ได้มีอะไรกับเขา ไม่ได้ทะเลาะกัน และที่มีข่าวออกมาว่าต่อยกัน ไม่ใช่ต่อยจริง เพียงแค่ฟึดฟัด แต่ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ไม่มีเรื่องส่วนตัวใดๆเลย แต่เรื่องนี้เกิดจากการกระทำของเขาในสนามบิน กระทบกับผู้โดยสาร 800 คน และการบิน 4 เที่ยวที่จะบินไปถึง ซึ่งเขาพลาดเพราะการกระทำของเขาเราจึงให้เขาออก ไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นายพาที ยังกล่าวถึงประเด็นที่ว่านกแอร์ใช้นักบินที่ไม่มีมาตรฐานการบินไปทำการบินว่า ครูการบินมาจากบริษัทการบินไทย ขับ 747 มาตลอด 20 ปี และทำเรื่องความปลอดภัย และระบบความปลอดภัยไม่ได้มาจากผู้บริหารสายการบิน แต่ผู้ที่เซ็นอนุมัติผ่านมาตรฐานคือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหารที่จะไปบังคับให้นักบินที่ไม่ได้มาตรฐานขึ้นบิน ยืนยันว่านกแอร์ปฏิบัติตามขั้นตอนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และคู่มือการตรวจสอบมาตรฐานสายการบินเพื่อออกรับรองการเดินอากาศ (AOCR) พร้อมกับย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารด้วยว่า การปฏิบัติงานของสายการบินนกแอร์นั้นได้มาตรฐาน ภายใต้ข้อบังคับของ ICAO และ AOCR อยู่แล้ว แต่เพื่อให้บริษัทสามารถขยายกลุ่มพันธมิตรไปยังสายการบินในทวีปยุโรปได้ ต้องมีการปรับมาตรฐานโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับมาตรฐานของยุโรป (EASA) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการแลกเปลี่ยน โดยเช่าเครื่องบินพร้อมนักบินจากสายการบินยุโรปที่ร่วมมือกัน มาทำการบินให้นกแอร์ในช่วงไฮซีซั่นและเครื่องบินของนกแอร์ นักบินนกแอร์ จะถูกเช่าไปบินที่ยุโรปเช่นกัน จากเดิมการปรับโครงสร้างจะเริ่มการแลกเปลี่ยนเครื่องและนักบินในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่พอมีปัญหาภายในบริษัทก็ต้องเลื่อนไปเริ่มการแลกเปลี่ยนในปี 60 อย่างไร ก็ตาม มั่นใจได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นโดยเร็ว
“ย้ำเราจะมีพันธมิตรที่ยุโรป แลกเปลี่ยนทำการบินระหว่างกันระหว่างไฮซีซั่นกับโลว์ซีซั่น ซึ่งถ้าเป็นไฮซีซั่นของเขา เราจะส่งนักบินของเราไปบินที่ยุโรป เพื่อลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจช่วงโลว์ซีซั่น และในทางตรงข้าม หากเป็นไฮซีซั่น ของเรา เครื่องบินเขาจะมาบินในไทย และไม่ใช่แค่เขาตรวจสอบเราเพียงอย่างเดียว เราก็ต้องตรวจสอบเขาด้วย ซึ่งคงไม่สามารถบอกชื่อสายการบินได้ แต่จะทำให้เราทำกำไรได้มากขึ้นอีก” นายพาทีกล่าว
นอกจากนี้ นายพาทียังกล่าวกรณีที่มีการให้ข่าวออกมากระทบความเชื่อมั่นนั้น ขอชี้แจงว่าเวลาคนถูกให้ออกแล้วจนตรอก จะพูดอะไรก็ได้ จึงต้องให้อภัยเขาบ้าง ตนเป็นซีอีโอสายการบินนกแอร์มา 12 ปี ต้องทำให้ได้มาตรฐาน และจะไม่ยอมเด็ดขาดที่จะทำให้ชื่อเสียงองค์กร ตัวเอง กรรมการ และผู้ถือหุ้นเสีย ซึ่งมาตรฐานของนกแอร์ไม่ได้ต่ำกว่าสายการบินอื่น พร้อมระบุอีกว่าสายการบินนกแอร์ไม่ได้บินเกินชั่วโมงบินมาตรฐานมาก เมื่อตรวจสอบพบ จึงมีการปรับลดเที่ยวบินลง และนักบินของนกแอร์ปัจจุบันไม่ขาด และช่วงที่ตรวจพบปัญหาด้านการ บริหาร จึงได้ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้มีการออดิทหากจะเพิ่มเที่ยวบินต่อไป จะต้องมีนักบินและเครื่องบินเพิ่มตามมาตรฐาน ICAO ซึ่งในอนาคตจะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบสายการบินนกแอร์ ดังนั้น จึงไม่ได้มีปัญหาภายในและปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดเฉพาะกลุ่ม โดยยืนยันค่าตอบแทนของนักบินไม่น้อยกว่าคู่แข่ง
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวถึงในวันเดียวกันถึงกรณีที่มีข่าวว่ากัปตันสายการบินนกแอร์ต่ำกว่าเกณฑ์ขึ้นบินว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการขึ้นบินในแต่ละครั้งจะต้องผ่านมาตรฐานด้านการบินและใบอนุญาตหรือไลเซนส์ของนักบินมี อายุอยู่แล้ว ซึ่งมีลักษณะเหมือนใบขับขี่ และการเรียนการสอนของนักบินผ่านสถาบันการบินพลเรือนและสถาบันของเอกชนที่ได้มาตรฐานสากล ถ้านักบินไม่ผ่านคุณสมบัติที่กำหนดก็ไม่สามารถที่จะขึ้นบินได้ ที่ผ่านมาผู้บริหารสายการบินนกแอร์แจ้งว่า นักบินทุกคนผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านการบินไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในองค์กรที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาของสายการบินนกแอร์ว่าเป็นเรื่องภายในของบริษัท ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เชิญนายพาทีมาหารือแล้วว่า ขอให้บริหารจัดการอย่าให้ความขัดแย้งบานปลาย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเอียซ่า เป็นเรื่องของความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานของนกแอร์เองก่อนที่ภายนอกจะเข้ามาจัดการมาตรฐาน ซึ่งตนได้หารือกับนายออมสิน ชีวะ-พฤกษ์ รมช.คมนาคมแล้ว ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร
อย่างไรก็ดี วันเดียวกัน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงปัญหาของสายการบินนกแอร์ ว่า กสร.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพบว่ามีการเลิกจ้างนายศานิต คงเพชร ผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินใดๆ เนื่องจากจงใจกระทำความผิดร้ายแรงต่อบริษัท ในกรณีนี้นายศานิตสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ 2 ทาง คือ การยื่นคำร้อง (คร.7) กับพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อขอรับเงินค่าชดเชยบรรเทาความเดือดร้อน จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ส่วนการดำเนินการสอบสวนทางวินัยจำนวน 7 ราย ในจำนวนนี้ถูกสั่งพักงานจำนวน 2 ราย เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-23 ก.พ. ส่วนพนักงานที่ถูกสอบสวน 5 คน ยังปฏิบัติงานตามปกติ เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่นายจ้างและลูกจ้างต้องทำความเข้าใจระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย พนักงานที่ถูกสั่งพักงานระหว่างการ สอบสวน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน หากผลสอบลูกจ้างไม่ผิดนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน.
ขอบคุณข่าวจาก