นายกฯย้ำปรับค่าจ้าง 25% ไม่แทรกแซงไตรภาคี
ผู้นำแรงงานวอนขอเป็นของขวัญเมย์เดย์ อย่างน้อย 12.5% ก่อน ประธานสภาอุตสฯชี้ปรับค่าจ้างทั้งระบบต้องรอบคอบ เกรงราคาสินค้าพุ่งตาม
วันที่ 7 เม.ย.54 ที่อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐนมตรี กล่าวในการเสวนาเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ : แรงงานไทยดีจริงหรือ? ว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะต้องพิจารณา 2 ส่วนคือ การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและการลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจหรือนายจ้าง ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังดูรายละเอียดว่าจะต้องทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจอยู่ได้หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้ค่าจ้างสูงแต่ไม่มีใครจ้างแรงงาน ซึ่งตัวเลขค่าจ้างที่เสนอมานั้นต้องอยู่กับความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่อยากจะขึ้นเท่าไหร่ตามใจชอบ ตนเองขอดูรายละเอียดตัวเลขต่างๆก่อน ซึ่งเบื้องต้นอาจขึ้นเท่ากันในรอบแรกหรือไม่เท่ากันแล้วไปปรับเพิ่มเติมให้ในรอบที่ 2
“ในใจผมคิดว่าต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อให้เขาอยู่ได้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า หลังจากนั้นจะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดซึ่งต้องควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการลดต้นทุนการผลิต การที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ 25 นั้น ไม่ได้เป็นการทำลายระบบคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี แต่เป็นนโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจและค่าจ้างในประเทศให้ดีขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในมุมมองของลูกจ้างต้องการให้มีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด หากจะมีการปรับจริงมองว่าควรเป็นวันที่ 1 พ.ค.ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ อยากให้ปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอาไว้ ที่จะปรับภายใน 2 ปี
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานทั้งระบบต้องดูอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนกับการปรับขึ้นราคาสินค้า ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยกลไกลที่สำคัญยังคงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี หากปรับค่าจ้างทันทีก็จะเกิดปัญหา เพราะค่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน .
ที่มาภาพ : http://www.rd1677.com/branch.php?id=73722