ประชุมเหมืองทองเลย ล่ม! หลังโดนกดดันหนักจากชาวบ้าน
อบต.เขาหลวงยกเลิกการประชุมลับพิจารณาขยายพื้นที่เหมืองทองคำ หลังชาวบ้าน กดดันหนัก ด้านตัวแทนชาวบ้าน เผยการประชุมควรเปิดเผย ย้ำเหตุคัดค้านเพราะที่ผ่านมาปัญหาผลกระทบจากเหมืองยังจัดการไม่ได้ ชี้เรื่องนี้ต้องรอบคอบเพราะมีคนได้รับผล กระทบวงกว้าง
สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย กว่า 200 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และ ประธานสภา อบต.เขาหลวงเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 59 ที่ผ่านมาเพื่อคัดค้านไม่ให้มีการประชุมลับสามัญ ครั้งที่ 2 และขอเข้าร่วมรับฟังการประชุมที่มีจะมีการลงมติในวาระค้างพิจารณา กรณีขอต่ออายุขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก ในการทำเหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และพิจารณาการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ หรือขยายพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแปลงใหม่บนภูเหล็กที่ค้างมาตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2558 ซึ่งการประชุมจะจัดขึ้น ณ สภา อบต.เขาหลวง
ต่อมาชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้เดินทางมาเฝ้ารอการประชุมบริเวณหน้าประตูทางเข้าของอบต. ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 15 ก.พ. ซึ่งประตูถูกกันเป็นเขตห้วงห้าม โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็น คำสั่งจากผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยวังสะพุง ให้พื้นที่เป็นเขตควบคุมห้ามเข้า
ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 16 ก.พ. 59 ซึ่งเป็นวันที่มีการนัดประชุมระหว่างหน่วยรัฐในพื้นที่กับ บ.ทุ่งคำ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางอบต.ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ เข้าควบคุมพื้นที่ที่มีการชุมชนของชาวบ้าน ภายใต้แรงกดดันของกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันบริเวณหน้าประตุทางเข้า อบต. เขาหลวง เพื่อไม่ให้มีการประชุมลับเกิดขึ้น
จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.35น. นายสมัย ภักดิ์มี ประธาน อบต.เขาหลวง ได้ออกมาแถลงการเลื่อนการประชุมลับในครั้งนี้ ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่าเรื่องการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าคงจะไม่มีการประชุมลับอีก ซึ่งคาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในเดือน พฤษภาคม ศกนี้
ด้าน นางระนอง กองแสน ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า สาเหตุที่ชาวบ้านต้องคัดค้านการประชุมลับครั้งนี้ เพราะต้องการปกป้องพื้นที่ป่าเอาไว้ ยังไม่อยากให้มีการขยายเหมืองออกไป เนื่องจากที่ผ่านมาความขัดแย้งและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับยังไม่สามารถจัดการได้ หากมีการขยายพื้นที่เขตทำเหมืองออกไปอีก จะส่งผลกระทบมากกว่าที่ประสบอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาผลกระทบจากการทำเหมืองมีตั้งแต่ปัญหาเรื่องสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่ม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการทำมาหากิน อื่นๆ อีกมากที่ยังไม่มีการแก้ไข ซึ่งกินบริเวณกว่า 6 หมู่บ้าน
นางระนอง กล่าวว่า เขตพื้นที่ป่าควรเป็นสิทธิของชุมชนในการจัดการ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพิงใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน แหล่งอาหารได้ การคัดค้านครั้งนี้เพราะมองว่า การประชุมเพื่อพิจารณาควรให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมเข้ารับฟัง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะคนของรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนในชุมชนที่กำลังได้รับผลกระทบ การเข้าร่วมรับฟังจึงจำเป็น
นอกจากนี้นางระนอง กล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะมีประกาศยกเลิกการประชุมในวันนี้เเล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านไม่ได้นิ่งนอนใจ จะคอยเฝ้าระวังและคอยดูท่าทีจากทางภาครัฐตลอดเวลา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้านที่นี้ทุกคน.
ขอบคุณภาพประกอบจาก: เพจ เหมืองแร่ เมืองเลย V2