เปิดวงเงิน 271 ล. ว่าจ้าง CAAi จากอังกฤษ ออกใบรับรองเดินอากาศใหม่ หวังปลดธงแดง
กพท.ได้ดำเนินการจัดจ้างบริษัท CAAi เพื่อดำเนินการตามขอบเขตการดำเนินงานในระยะที่ 1 ก่อน วงเงินประมาณ 3 ล้านปอนด์ ค่าจ้างจะจ่ายตามจำนวนวันทำงานที่เกิดขึ้นจริง
นับตั้งแต่ประเทศไทยถูกตรวจสอบ ภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program:USOAP) ตามแนวทางการเฝ้าระวังตรวจตราอย่างต่อเนื่อง ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization:ICAO) เมื่อเดือนมกราคม 2558 ซึ่งผลการตรวจสอบในครั้งนั้น พบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC Certification)
ผ่านมากว่า 1 ปี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มิได้นิ่งนอนใจ มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานการบินพลเรือนของไทย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน และเพื่อให้กระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC Certification) เป็นไปตามมาตรฐานและข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติของ ICAO และเพื่อให้ผู้ได้รับการรับรองการเดินอากาศของไทยเป็นที่ยอมรับจาก ICAO และหน่วยงานกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศต่างๆ
ปัจจุบัน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทำการรับรองใหม่ (Re-Certification) ให้แก่ผู้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศของไทยทุกราย ที่วันนี้มีผู้ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศทั้งหมด 41 ราย โดยเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินระหว่างประเทศ 28 ราย
สำหรับแนวทางการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่นั้น กพท. มีการว่างจ้างองค์กรเชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล คือ บริษัท CAA International Limited (CAAi) สหราชอาณาจักร ให้ส่งผู้ตรวจสอบ (Inspector) ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาร่วมดำเนินการกับผู้ตรวจสอบของไทย
เรื่องนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ก็ได้เห็นชอบแผนพัฒนาคุณสมบัติผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบิน ตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปผ.) เสนอ โดยให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินในการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบิน ระยะที่ 1 จำนวน 17 คน และผู้ตรวจสอบความปลอดภัยด้านอื่นๆ จำนวน 52 คน จำนวนกว่า 86 ล้านบาท
และในการว่างจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมดำเนินการตรวจสอบให้คำปรึกษา และเสนอทางในการตรวจสอบ เพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ กรอบวงเงินกว่า 185 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์ เท่ากับ 51 บาท)
รวมเป็นกรอบวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 271 ล้านบาท
ปัจจุบัน กพท.ได้เจรจากับบริษัท CAAi จนได้ข้อยุติเกี่ยวกับขอบเขตการดำเนินงาน วงเงิน และรายละเอียดในการจ่ายค่าจ้างแล้ว
ขอบเขตการดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 ระยะ
ระยะที่ 1 ดำเนินการเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ให้แก่ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินระหว่างประเทศ 28 ราย โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ตรวจสอบของบริษัท บริษัท CAAi กับผู้ตรวจสอบของ กพท.ที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันจะมีการฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติงาน สำหรับผู้ตรวจสอบของกพท.ที่ต้องการฝึกอบรมเพิ่มเติม
ระยะที่ 2 สนับสนุนการเตรียมการเพื่อรับการตรวจสอบ ICAO Coordinated Validation Mission (ICVM) ซึ่งจะครอบคลุมการตรวจสอบทั้ง 8 ด้าน
1.กฎหมายระเบียบต่างๆ 2.หน่วยงานและหน้าที่การกำกับดูแลความปลอดภัย 3.การออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ 4.การปฏิบัติการบินของอากาศยาน 5.สมควรเดินอากาศของอากาศยาน 6.สอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน 7.การบริการเดินอากาศ และ 8.สนามบินและการช่วยเดินอากาศภาคพื้น
ซึ่ง 8 ข้อดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ICAO ตรวจพบข้อบกพร่องและนำมาสู่การปักธงแดง
ทั้งนี้ กพท.ได้ดำเนินการจัดจ้างบริษัท CAAi เพื่อดำเนินการตามขอบเขตการดำเนินงานในระยะที่ 1 ก่อน วงเงินประมาณ 3 ล้านปอนด์ (ราคาไม่รวมภาษีทุกประเภท) โดยค่าจ้างจะจ่ายตามจำนวนวันทำงานที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการจัดจ้าง โดยวิธีการพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
ก่อนหน้านี้ นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานและ ผอ.กพท. กล่าวว่า หลังครม.เห็นชอบผู้เชี่ยวชาญ CAAi จะเริ่มเข้าทำงานตั้งแต่ พ.ค.นี้ เวลา 6 เดือน โดยเข้าอบรมคู่มือและกฏระเบียบการบินของไทยก่อน 3 สัปดาห์จากนั้นเริ่มตรวจสอบสายการบินได้
และภายในสิ้นปีนี้ กพท.จะเชิญให้ ICAO เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนพิจารณาว่าจะนำไปสู่การปลดล็อกการบินหรือไม่...