เปิดคำให้การ ป.ป.ช.ซัดแหลกซี 7 -ศาล ปค.ไม่มีอำนาจ คดีทุจริตสนามกีฬาคลอง 6
เปิดคำให้การ ป.ป.ช.ฉบับเต็ม!คดีซี 7 กรมพลฯฟ้องเพิกถอนคำสั่งไล่ออกกรณีทุจริตสร้างสนามกีฬาคลองหก ยันกระบวนการไต่สวนชอบ กม. สอบพยาน 11 ปาก เอกสาร 158 รายการ ซัดผู้ร้องให้การขัดแย้งกัน ตรวจรับงานทั้งที่ยังไม่เสร็จ ลดค่าปรับมิชอบ ตบท้าย ทำตาม รธน. ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา มิฉะนั้นกลไกไล่จับโกงพัง
กรณีนายวิทยา วงษ์สมาน อดีตข้าราชการระดับ 7 สังกัดกรมพลศึกษา ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำสั่ง สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (กรมพลศึกษา) ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ที่มีคำสั่งไล่ออกจากราชการตามคำวินิจฉัยชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) คดีทุจริตก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ ( สนามกีฬาคลอง 6 ) กรมพลศึกษา โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องสอด และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องสอดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา นั้น
ต่อมา นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. (อดีต) ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ยื่นคำร้องสอดต่อศาลปกครองกลางต่อสู้ข้อกล่าวหาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายชี้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดี และคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลางที่จะรับฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาหรือขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกฟ้องของผู้ฟ้องคดี (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.ยก 5 ข้อสู้คดีซี 7 กรมพลฯฟ้องเพิกถอนคำสั่งไล่ออกทุจริตสนามกีฬาคลอง6)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงสาระสำคัญของคำร้องสอดหรือคำให้การของนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยมาเสนอดังนี้
ข้อ 1 ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
(1) เพิกถอนคำสั่งสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ที่ 707/2550 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2550
(2) เพิกถอนคำวินิจฉัยการพิจารณาอุทธรณ์ของ สำนักงาน ก.พ.
(3) ให้ผู้ฟ้องคดีคืนสิทธิและผลประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย ตั้งแต่มีคำสั่งไล่ออกจากราชการจนถึงวันที่มีผลการพิจารณาของศาล
ข้อที่ 2 ผู้ร้องสอด ใคร่กราบเรียนต่อศาลปกครองกลางในเบื้องต้นว่า เหตุที่มีการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องจาก นายรักษ์ ด่านกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และนายพงศกร อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือร้องเรียน ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 กล่าวหา เจ้าหน้าที่กรมพลศึกษา ว่ามีการเบิกเงินให้ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพลศึกษาซึ่งส่อไปในทางไม่สุจริต และนายปรีชา คุณะกฤดาธิการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด ได้มีหนังสือร้องเรียน ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2543 กล่าวหาคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) และโครงการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ (อาคารเอนกประสงค์) สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ กรมพลศึกษา ว่ากระทำโดยมิชอบส่อไปในทางทุจริตไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างและระเบียบของทางราชการ
ต่อมา ผู้ร้องสอดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว และได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคณะอนุกรรมการไต่สวนตามลำดับ ซึ่งคณะอนุกรรมการการไต่สวนได้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการไต่สวน ให้ผู้ฟ้องคดีทราบมาโดยตลอด โดยผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งแล้วและไม่คัดค้านแต่อย่างใด
ในการไต่สวนข้อเท็จจริงคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. 2543 และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. 2547
เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำการอันมีมูลความผิด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้เข้าใจข้อกล่าวหาโดยตลอดและผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว
คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงตามที่มีการกล่าวหา ปรากฏพยานเอกสาร จำนวน 158 รายการ บันทึกการตรวจสถานที่ ภาพถ่ายการก่อสร้าง และพยานบุคคล จำนวน 11 ปาก และผู้ร้องสอดได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในการประชุมครั้งที่ 75/2550 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ดังนี้
ตามข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) การกระทำของผู้มาฟ้องคดีมีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วร้ายอย่างแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 และ
ตามข้อกล่าวหาที่ 2 กรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ (อาคารอเนกประสงค์) สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ กรมพลศึกษา มีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระวัดระวัง รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ให้เสียหายแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง
ให้ส่งรายงานเอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ฟ้องคดีตามมาตรฐานความผิดดังกล่าว โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี และมีหนังสือแจ้งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดี อันเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้ว การไต่สวนข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของผู้ร้องสอดจึงมีผลผูกพันผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี
@ ยันกระบวนการไต่สวนสุจริต-ชอบ กม.-พยาน 11 ปาก
ข้อ 3 จากข้อเท็จจริงดังที่ผู้ร้องสอดได้กราบเรียนมาข้างต้น จึงเห็นได้ว่ากระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงผู้ร้องสอด เป็นไปโดยสุจริต ถูกต้องตามขั้นตอน และชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้วจึงมีผลให้คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคำวินิจฉัยของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งได้พิจารณาโทษทางวินัยแก้ผู้ฟ้องคดีตามมาตรฐานความผิดผู้ร้องสอด ได้มีมติดังกล่าว ย่อมเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันและไม่มีเหตุที่ศาลปกครองกลางจะเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำขอผู้ฟ้องคดี ด้วยเหตุผลที่จะกราบเรียนต่อศาลปกครองกลางทั้งประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้
(1) ข้ออ้างคำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การไต่สวนและรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุกรรมการไต่สวนและมติชี้มูลของผู้ร้องสอดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดความเที่ยงธรรม รับฟังพยานหลักฐานที่เป็นเท็จ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตามที่กล่าวหา นั้น
ผู้ร้องสอด ขอประทานกราบเรียนต่อศาลปกครองว่า ดังที่ผู้ร้องสอดได้กราบเรียนไว้ในข้อที่ 2 ว่า การรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของผู้ร้องสอด เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี นั้น ผู้ร้องสอดได้รับฟังจากการที่คณะอนุกรรมการการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ประกอบด้วย พยานเอกสาร จำนวน 158 รายการ และพยานบุคคล จำนวน 11 ปาก รวมถึงพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ด้วย
โดยการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนนั้นได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. 2543 และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. 2547 ครบถ้วนถูกต้องแล้ว พร้อมทั้งให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และผู้ฟ้องคดีได้มีโอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้วทุกประการ
ผู้ร้องสอดได้นำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ฟ้องคดีมาพิจารณาทั้งหมดครบถ้วนแล้ว และได้รับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีได้นำมาประกอบการชี้แจงข้อกล่าวหา โดยได้นำมาประกอบการพิจารณาร่วมกับพยานหลักฐานอื่น เพื่อพิจารณาและชี้มูลความผิดแก่ผู้ฟ้องคดี แต่พยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดีไม่อาจหักล้างข้อกฎหมายและพยานหลักฐานอื่นๆ ที่ปรากฏในรายการไต่สวนได้
@ ผู้ฟ้องให้การในศาล ปค.-ป.ป.ช. ขัดแย้งกันเอง
อีกทั้ง ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ยกขึ้นกล่าวอ้างต่อศาลปกครองกลาง ขัดแย้งกันเองอย่างชัดแจ้ง กับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ที่ผู้ฟ้องคดีเคยให้การไว้กับผู้ร้องสอด กล่าวคือ
ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างต่อศาลปกครองกลางว่า รายการผนังบานเลื่อน ไม่อยู่ในสัญญาก่อสร้าง ไม่มีราคาก่อสร้างให้ และไม่ปรากฏว่าอยู่ในงวดงานใด และเป็นงานที่ผู้รับจ้างทำงานให้โดยไม่คิดราคาเพิ่มเติม นั้น
ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อผู้ร้องสอดว่า “เมื่อมีเรื่องร้องเรียนตนจึงได้ตรวจสอบจากหลักฐานแบบรูปราบการท้ายสัญญาจ้างจึงได้ทราบว่า ผนังบานเลื่อนที่ได้ติดตั้งในห้องประชุม 1 และ 2 ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการ โดยผนังบานเลื่อนไม่ได้บุผิวผนังบานเลื่อนและไม่มีการเจาะช่องประตูเข้า-ออก บนผนังบานใดบานหนึ่ง ไม่มีการร้องสายเคเบิลเพื่อป้องกันความปลอดภัย”
จึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นมา เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบของตน อีกทั้งยังเป็นการให้การที่ขัดแย้งกันเองอย่างชัดแจ้ง เป็นข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ ประกอบกับพยานถ้อยคำบุคคลและพยานเอกสารที่คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมและแสวงหามานั้นมีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องร้องคดีมีมูลความผิด การไต่สวนและรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุกรรมการไต่สวนและมติชี้มูลของผู้ร้องสอดจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการดำเนินการไต่สวนและรับฟังพยานหลักฐานด้วยความเที่ยงธรรม และเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 72 กำหนดให้คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่ โดยสรุปดังนี้
(1) ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของ ผู้รับจ้างโดยตรวจสอบกับแบบรูปรายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาทุกสัปดาห์ (2) มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนงานจ้างได้ตามที่เห็นสมควรและตามหลักวิชาการช่างเพื่อให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา และ (4) เมื่อตรวจเห็นว่าเป็นการถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาแล้ว ให้ถือว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานครบถ้วนตั้งแต่วันที่ผู้รับจ้างส่งงานจ้างนั้น
การไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีกับพวก ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างได้จัดทำใบตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในงานงวดที่ 6 งวดที่ 7 และงวดที่ 8 ทั้งที่งานไม่ถูกต้องครบถ้วนตามแบบรูปรายการละเอียดในสัญญาและยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา รวมทั้งได้พิจารณามีมติให้งดหรือลดค่าปรับให้กับผู้รับจ้างไปโดยมิชอบ ดังรายละเอียดที่ผู้ร้องสอดจะได้กราบเรียนต่อไปในข้อ (2) พยานของผู้ร้องสอดจึงมีน้ำหนักและรับฟังได้อย่างหนักแน่นว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาจริง ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้ออ้างข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
(2) ข้ออ้างคำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีในฐานะกรรมการตรวจการจ้างได้จัดทำใบตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในงานงวดที่ 6 งวดที่ 7 และงวดที่ 8 ถูกต้องตามแบบรูปรายการและแล้วเสร็จตามสัญญาโดยชอบแล้วรวมถึงผู้ฟ้องคดีในฐานะอนุกรรมการพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับฯ ได้พิจารณางดหรือลดค่าปรับ เป็นไปโดยชอบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 139 ด้วยเช่นกัน นั้น
@ บรรยายยิบตรวจรับงานทั้งที่ผู้รับเหมายังทำไม่เสร็จ
ผู้ร้องสอขอประทานกราบเรียนว่า จากการไต่สอนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีทุจริต ต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในโครงการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) นั้น เมื่อปีงบประมาณ 2541 กรมพลศึกษาได้มีโครงการจัดจ้างก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาสำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และเฟสปิกเกมส์ครั้งที่ 7 ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) จำนวน 4 หมวดงาน ประกอบด้วย
หมวดงานที่ 1 สนามแข่งขันฮ็อกกี้ หมวดงานที่ 2 สนามเบสบอล หมวดงานที่ 3 สนามลู่วิ่งมาตรฐานและลานกรีฑาสนามแข่งขัน และหมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลางและได้ดำเนินการจัดจ้างแต่ละหมวดงานโดยวิธีพิเศษ สำหรับในส่วนของหมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลาง กรมพลศึกษาได้ทำสัญญาจ้างบริษัท สยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ให้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ตามสัญญาเลขที่ ก.4/2541 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 และกรมพลศึกษาได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท พรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานตามสัญญาเลขที่ ค.1/2541 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2541
ผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างตามคำสั่งกรมพลศึกษา ที่ 514/2541 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 ผู้ฟ้องคดีจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 72 ซึ่งกำหนดว่า
“คณะกรรมการตรวจการจ้าง มีหน้าที่ ดังนี้...(4) เมื่อตรวจเห็นว่าเป็นการถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาแล้ว ให้ถือว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานครบถ้วนตั้งแต่วันที่ผู้รับจ้างส่งงานจ้างนั้นและให้ทำใบรับรองผลการปฏิบัติงานทั้งหมดหรือเฉพาะงวด แล้วแต่กรณีโดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน อย่างน้อย 2 ฉบับ มอบให้แก่ผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับ เพื่อทำการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง และรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ ในกรณีที่เห็นว่าผลงานที่ส่งมอบทั้งหมดหรืองวดใดก็ตามไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา ให้รายงานหัวหน้าส่วนราชการผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเพื่อทราบ หรือสั่งการ แล้วแต่กรณี”
โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนได้นำสัญญาก่อสร้างหมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลาง ตามสัญญาเลขที่ ก.4/2541 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมแบบรูปรายการและรายละเอียดประกอบแบบแนบท้ายสัญญาจ้าง มาใช้ในการตรวจสอบอาคารบริการกลางพร้อมสาธารณูปโภคปรากฏผลการตรวจสอบว่ามีรายการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้างและแบบรูปรายการละเอียดท้ายสัญญาจ้างในงวดที่ 6 งวดที่ 7 และงวดที่ 8 ดังนี้
1. ผนังบานเลื่อนห้องประชุมใหญ่และห้องประชุมย่อย 2 ไม่ถูกต้องตามรูปแบบรายการท้ายสัญญาจ้าง โดยผนังบานเลื่อนเป็นแผ่นโลหะเคลือบสังกะสี ไม่มีวัสดุบุตกแต่งผิวด้านนอกทั้ง 2 ด้าน ในผนังบานเลื่อนกั้นห้องทั้ง 2 ชุดไม่มีการเจาะเป็นประตูเพื่อผ่านเข้า-ออก ในผนังบานใดบานหนึ่ง ไม่มี Safety Cable ร้อยต่อมาจากระบบลุกล้อ เพื่อป้องกันการตกของแผ่นผนังกั้นห้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างมิได้ก่อสร้างตามแบบรูปรายการดังกล่าว และมิได้มีการแก้ไขสัญญาจากผู้มีอำนาจ
2. ก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าซึ่งติดตั้งในห้องน้ำชาย-หญิง ชั้นล่างและชั้นบน (ห้องน้ำหญิง 1 ห้องน้ำชาย 2 และห้องน้ำหญิง 6 ห้องน้ำชาย 7) เป็นก๊อกน้ำแบบมือหมุน ยี่ห้อ Grohe ไม่ใช่ก๊อกน้ำแบบอัตโนมัติรุ่น DAL 36147 ของ Grohe หรือรุ่น BAP-1 ของ KARAT ตามแบบรูปรายการท้ายสัญญาจ้างโดยข้อเท็จจริงมีการปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ก๊อกน้ำจากก๊อกน้ำอัตโนมัติเป็นก๊อกน้ำแบบมือหมุน โดยมิได้รายงานเสนออธิบดีกรมพลศึกษาซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้อนุมัติและปรับลดราคาค่าก่อสร้างลงแต่อย่างใด
3. ร่องรางคอนกรีตข้างทางเท้าตลอดแนวถนนทั้ง 2 ข้าง หน้าอาคารบริการกลางไม่มีแผ่นคอนกรีตปิดทับด้านบนของร่องรางทั้งหมด และขนาดของร่องรางไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการท้ายสัญญาจ้า
4. ระบบบำบัดน้ำเสีย ด้านหลังอาคารบริการกลางเป็นถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปฝังไว้ใต้ดินใช้ปั๊มเติมอากาศเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้ายี่ห้องฟูจิ ไม่ปรากฏว่ามีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสียแบบจุ่มน้ำ (Submersible Pump) เพื่อใช้ในการระบายน้ำตามที่กำหนดไว้ในรูปแบบรายการ และปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้าง ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 และลงวันที่ 20 สิงหาคม 2542 ผู้ฟ้องคดีกับพวกในฐานะคณะกรรมการการตรวจการจ้างได้รายงานว่าผู้รับจ้างได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสียแบบจุ่มน้ำของระบบบำบัดน้ำเสียแล้วเสร็จ ทั้งที่ยังไม่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสียแบบจุ่มน้ำในระบบบำบัดน้ำเสียของอาคารบริการกลางแต่อย่างใด
5. ลานจอดรถหน้าอาคารบริการกลาง มีการเทคอนกรีตเป็นลานโดยไม่แบ่งช่วงรอยต่อและไม่มีการหยอดยางแอสฟัลท์ในจุดเชื่อมต่อของคอนกรีต และตามรายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้าง ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 และลงวันที่ 20 สิงหาคม 2542 ผู้ฟ้องคดีกับพวกในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างได้รายงานว่าผู้รับจ้างได้ทำงานลานจอดรถในส่วนของงานตัดร่องรอยต่อ (Joint) และหยอดยางแอสฟัลท์ (Joint Fillter) แล้วเสร็จตามที่ผู้ควบคุมงานแจ้งไว้ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างเทคอนกรีตลานจอดรถโดยมีการตัดร่องรอยต่อ (Joint) และหยอดยางแอสฟัลท์ (Joint Fillter) ตามที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกได้จัดทำรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด
6.ประตูทางเข้า – ออก บริเวณสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ ยังไม่ได้มีการติดตั้งแต่อย่างใด ขณะผู้รับจ้างส่งมอบงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจการจ้างงานงวดที่ 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 ผู้รับจ้างยังมิได้ติดตั้งประตูทางเข้า – ออก แต่ผู้ฟ้องคดีกับพวกในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างกลับรายงานว่างานแล้วเสร็จตามสัญญา อีกทั้งผู้ฟ้องคดีกับพวกยังได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รายงานกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ได้ติดตั้งประตูทางเข้า – ออก ในรายงานตรวจการจ้างงาน งวดที่ 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) ต่ออธิบดีกรมพลศึกษาว่าจ้าง เพื่อตัดลดงานและปรับลดราคาค่าจ้างลงเป็นเหตุให้ราชการเสียหาย ทั้งที่ในการตรวจการจ้างในคราวเดียวกันนั้นได้มีการรายงานกรณีที่ผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานไว้ 2 รายการ คือ งานระบบรดน้ำต้นไม้และงานระบบไฟฟ้าส่องสว่างทางเดินหลัก รวมทั้งได้ปรับลดราคาค่าจ้างงานผู้รับจ้างงานที่ผู้รับจ้างไมได้ทำดังกล่าวด้วย แต่ผู้ฟ้องคดีกับพวก กลับหยิบยกเรื่องการติดตั้งประตูทางเข้า – ออก ซึ่งยังไม่ดำเนินการยกติดตั้ง ขึ้นมาพิจารณาว่าเป็นการก่อสร้างรายการหนึ่งที่ผู้รับจ้างจะต้องทำการแก้ไขซ่อมแซมก่อนการตรวจการจ้างงานงดที่ 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) ปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 และได้มีการระบุว่างานติดตั้งประตูทางเข้า – ออก สนามกีฬา ผู้รับจ้างได้ทำงานแล้วเสร็จตามที่ผู้ควบคุมงานแจ้งไว้
โดยผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ทำการตรวจการจ้างงานงวดที่ 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) โดยรายงานรับรองว่างานเสร็จถูกต้องตามสัญญางวดที่ 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นการรายงานที่ไม่ถูกต้องตามความจริง
@ ส่อทำเอกสารใบรับงานเป็นเท็จ
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะกรรมการตรวจการจ้างได้จัดทำใบตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในงานงวดที่ 6 งวดที่ 7 และงวดที่ 8 ถูกต้องตามแบบรูปรายการและแล้วเสร็จตามสัญญาโดยชอบแล้ว นั้น
ผู้ร้องสอดขอประทานกราบเรียนว่า บริษัท สยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ผู้รับจ้างก่อสร้างหมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลาง ได้ส่งมอบงานงวดที่ 6 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 บริษัทพรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัดผู้ควบคุมงาน ได้รายงานต่อประธานกรรมการตรวจการจ้าง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2542 ระบุว่าได้ตรวจสอบดูแล้ว งานแล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 ผู้ฟ้องคดีกับพวกในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างได้จัดทำใบตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2542 ระบุว่างวดที่ 6 เสร็จถูกต้องตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2541 ต่อมา ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดที่ 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) ในวันที่ 3 ธันวาคม 2541
จะเห็นได้ว่าในวันที่ 3 ธันวาคม 2542 ซึ่งผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดที่ 7 และ 8 นั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการตรวจการจ้างงานงวดที่ 6 ในวันที่ 14 มกราคม 2542 เป็นเวลาประมาณเดือนเศษ ผู้ฟ้องคดีสามารถที่จะตรวจการจ้างงานงวดที่ 7 และ 8 ไปพร้อมกับการตรวจจ้างงานงวดที่ 6 ในวันที่ 14 มกราคม 2542 แต่ผู้ฟ้องคดีกับพวกกลับอ้างว่าติดภารกิจการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในช่วงเดือนธันวาคม 2541 จึงไม่สามารถตรวจการจ้างงานในงวดที่ 7 และ 8 ได้ และปล่อยให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างงานในบางรายการที่ยังไม่แล้วเสร็จต่อไป โดยอ้างว่าเป็นรายการก่อสร้างที่ชำรุดเสียหายจากการใช้งานแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์และกีฬาเฟสปิกเกมส์ ต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนถึงจะทำการตรวจรับงานได้ โดยใช้ระยะเวลานานถึง 8 เดือน อันเป็นระยะเวลาของการแก้ไขซ่อมแซมนานเกินปกติวิสัย โดยผู้ฟ้องคดีเพิ่งได้ตรวจการจ้างงานงวดที่ 7 และ 8 ในวันที่ 23 สิงหาคม 2542
ประกอบกับ เมื่อพิจารณาเอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ปรากฏว่ารายการก่อสร้างที่อ้างว่าเป็นงานที่ชำรุดเสียหายต้องซ่อมแซมนั้น เป็นงานที่ติดตั้งใหม่หรือยังมิได้ดำเนินการ เช่น งานติดตั้งผนังบานเลื่อนสำเร็จรูป ห้องประชุมย่อย 2 งานติดตั้งเครื่องดับเพลิงมือถือชนิด ABC ขนาด 15 ปอนด์ จำนวน 10 ชุด งานติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสียแบบจุ่มน้ำ (Submersible Pump) ของระบบบำบัดน้ำเสีย งานติดตั้งประตูเข้า – ออก และงานตัดร่องรอยต่อ (joint) และหยอดยาแอสฟัลท์ (Joint Fillter) อีกทั้ง ผู้รับจ้างได้ทำหนังสือส่งมอบงานงวดที่ 7 พร้อมกับงานงวดที่ 8 (งวดสุดท้าย) ในวันที่ 3 ธันวาคม 2541 โดยไม่ผ่านผู้ควบคุมงานเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบรายงานของผู้ควบคุมงาน แต่ผู้ฟ้องคดีกลับไม่สอบถามหรือขอรายงานความเห็นจากผู้ควบคุมงานว่าผู้รับจ้างก่อสร้างงานงวดที่ 7 และ 8 แล้วเสร็จถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เมื่อใด อันเป็นการที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 72 รวมทั้งตามที่เคยถือปฏิบัติมาตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 6 ซึ่งประธานกรรมการตรวจการจ้างจะต้องได้รับการรายงานจากผู้ควบคุมงานในหนังสือมอบงานของผู้รับจ้างว่างานที่ผู้รับจ้างส่งมอบนั้นแล้วเสร็จตามสัญญาในแต่ละงวดแล้วประธานกรรมการตรวจการจ้างจึงจะบันทึกสั่งให้นัดคณะกรรมการการตรวจการจ้างให้ไปทำการตรวจการจ้าง
และยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ในการติดตั้งผนังบานเลื่อนสำเร็จรูปห้องประชุมย่อย 2 ห้องประชุมใหญ่อาคารบริการกลางนั้น บริษัท สยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ผู้รับจ้าง ได้สั่งซื้อจาก บริษัท วรรธนะ จำกัด โดยได้เริ่มจัดส่งและติดตั้งผนังบานเลื่อนสำเร็จรูปห้องประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2541 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และเริ่มจัดส่งและติดตั้งผนังบานเลื่อนสำเร็จรูปห้องประชุมย่อย 2 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 โดยบริษัทวรรธนะ จำกัด ได้รับชำระเงินงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ซึ่งนายทักขพล วรรธนะสาร กรรมการผู้จัดการบริษัท วรรธนะ จำกัด ได้ให้ถ้อยคำยืนยันว่าบริษัทวรรธนะ จำกัด ได้ส่งของและติดตั้งผนังบานเลื่อนอาคารบริการกลางโครงการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) ในช่วงวันเวลาตามใบส่งของของบริษัทดังกล่าว
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะกรรมการตรวจการจ้างได้จัดทำใบตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในงวดที่ 6 งวดที่ 7 และงวดที่ 8 ว่างานเสร็จถูกต้องตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2541 จึงขัดกับหลักฐานการสั่งซื้อและการส่งของอย่างชัดเจน นอกจากจะเป็นการปฏิบัติที่ขัดกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 72 แล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาทำเอกสารและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 (1) และ (4) อีกด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
@ สั่งลดหรืองดค่าปรับผู้รับเหมามิชอบ
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การดำเนินการงดหรือลดค่าปรับ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 139 แล้วนั้น
ผู้ร้องสอดขอประทานกราบเรียนว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 139 (1) กำหนดว่า “การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ ที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของส่วนราชการ...” ผู้ร้องสอดขอประทานกราบเรียนว่า ก่อนหมดอายุสัญญาจ้างก่อสร้างทั้ง 4 หมวดงาน ในวันที่ 31 สิงหาคม 2541 ผู้รับจ้างทั้ง 4 หมวดงาน ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.นำเบญจพลพาณิชย์ ผู้รับจ้างหมวดงานที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด นครสวรรค์คอนสตรัคชั่น ดีเอส เอ็น ผู้รับจ้างหมวดงานที่ 2 บริษัทสหธิดาชัยก่อสร้าง จำกัด ผู้รับจ้างหมวดงานที่ 3 และบริษัท สยาม อินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ผู้รับจ้างหมวดงานที่ 4 ได้มีหนังสือแจ้งอุปสรรคและขอสงวนสิทธิ์ในการขอขยายเวลาการก่อสร้าง กรมพลศึกษาได้มีคำสั่งที่ 690/2542 ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างในการก่อสร้างสนามกีฬาสำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 จำนวน 4 หมวดหน่วยงาน ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) โดยกำหนดให้ทำหน้าที่พิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างและให้นำเสนอคณะอนุกรรมการตรวจการจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยผู้ฟ้องคดีได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการพิจารณางดหรือลดค่าปรับฯ มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบดังกล่าว จากรายงานการประชุมการพิจารณาการงดและลดค่าปรับการก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 4 หมวดงาน ครั้งที่ 2/2542 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2542 และบันทึกการประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างงานก่อสร้าง จำนวน 4 หมวดงาน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 แล้วเห็นว่า ขณะที่พิจารณาและมีมติดังกล่าวนั้น ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ผู้รับจ้างทั้ง 4 หมวดงาน มีเหตุที่จะงดหรือลดค่าปรับจริงหรือไม่ จำนวนกี่วัน และเหตุดังกล่าวเกิดจากความผิดหรือบกพร่องของกรมพลศึกษาในฐานะส่วนราชการผู้ว่าจ้าง ตามข้อ 139 อีกทั้งการที่ นายสุวรรณ กู้สุจริต ประธานกรรมการได้แจ้งว่ามีหนังสือสภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ 1678/2542 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2542 เรื่องยืนยันมติคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลอง 6) นั้น หนังสือฉบับดังกล่าวมี่ผลบังคับตามระเบียบและกฎหมายที่จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างหรือบทบังคับเรื่องการงดหรือลดค่าปรับแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในการพิจารณาดังกล่าว สรุปได้ว่า ให้ผู้ควบคุมงานนำเสนอความเห็นต่อประธานกรรมการตรวจการจ้างผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับฯ แต่กลับปรากฏว่าคณะอนุกรรมการตรวจการจ้างไม่ได้นำความเห็นของบริษัท พรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด ผู้ควบคุมงาน ซึ่งได้รายงานไว้ก่อนมีการประชุม ตามหนังสือ ที่ PPD 99/168 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 มาพิจารณาแต่อย่างใด โดยหนังสือของผู้ควบคุมงานได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่ผู้รับจ้างทั้ง 4 หมวดงาน ก่อสร้างงานล่าช้าซึ่งเกิดจากผู้รับจ้างเอง อันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญที่คณะกรรมการตรวจการจ้างจะต้องรับฟังและนำมาประกอบการพิจารณางดหรือลดค่าปรับ ให้แก่ผู้รับจ้างทั้ง 4 หมวดงาน การที่คณะกรรมการตรวจการจ้าง และคณะอนุกรรมการพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับฯ ได้ร่วมกันมีมติให้งดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างทั้ง 4 หมวดงานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 139 ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
ผู้ร้องสอดขอประทานกราบเรียนต่อศาลว่า กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจการจ้างก็โดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้การตรวจรับผลงานที่ผู้รับจ้างส่งมอบว่าถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงมีหน้าที่ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างด้วยความละเอียดถี่ถ้วนและใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการตรวจสอบงานจ้างให้เป็นไปตามรูปแบบรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา
จากข้อเท็จจริงดังที่ได้กราบเรียนข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ทำการรับรองว่าผลงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง ทั้งที่ทราบการก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการท้ายสัญญา ซึ่งรายการที่ผู้รับจ้างก่อสร้างไม่ถูกต้องนั้น เป็นรายการก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบการจ้างสามารถตรวจสอบและพบเห็นความบกพร่องหรือความไม่ถูกต้อง และสามารถใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบได้ ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีเอาใจใส่และทำการตรวจการจ้างโดยละเอียดรอบคอบอย่างเต็มความสามารถก็จะพบความบกพร่องหรือความไม่ถูกต้องนั้นได้ ความเสียหายต่อราชการที่ได้รับจากการก่อสร้างไม่ตรงตามสัญญาดังกล่าว จึงเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ละเลยหน้าที่ของตนในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 72 และในฐานะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับฯให้กับผู้รับจ้าง ได้มีมติให้งดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างทั้ง 4 หมวดงาน โดยมิชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 139 อันเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย การกระทำของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ด้วยตุผลดังกล่าวข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
@ ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา-ป.ป.ช.ใช้อำนาจตาม รธน.
ข้อ 4 ผู้ร้องสอด ขอประทานกราบเรียนต่อศาลปกครองกลางอีกว่า ในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงนี้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองกลางและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่อง
“คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ”
บทบัญญัตินี้เห็นได้ว่า กฎ คำสั่ง หรือ การกระทำอื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ผู้ฟ้องคดีจะอ้างต่อศาลปกครองว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องเป็น กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่อ้างเหตุหนึ่งเหตุใดในสามประการ คือ
ประการแรก “ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”
ประการที่สอง “ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น” หรือ
ประการที่สาม “ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ”
ส่วนการรับฟังข้อเท็จจริงไปในทางหนึ่งทางใดย่อมเป็นดุลยพินิจของผู้ร้องสอดโดยแท้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องสอด ฟังข้อเท็จจริงผิดกฎหมาย ดังนั้น มติของผู้ร้องสอด จึงชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยอาศัยมติดังกล่าว และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงไม่อาจถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องสอด จึงเห็นว่า ศาลปกครองกลางไม่อาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาแต่ประการใด
ผู้ร้องสอด เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง แต่อำนาจดังกล่าวไม่รวมถึงการใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของผู้ร้องสอด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองจึงไม่อาจเพิกถอนมติของผู้ร้องสอด ในฐานะที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้องสอด และผู้ฟ้องคดีไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ร้องสอด และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของผู้ฟ้องคดีได้ เพราะการดำเนินการทางวินัยกรณีเช่นนี้เป็นคนละกรณีกับการดำเนินการทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาทั่วไป กล่าวคือ
เป็นการดำเนินการตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ร้องสอด มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของผู้ร้องสอด เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ฟ้องคดีนั้นและผู้ฟ้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์เฉพาะดุลยพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ส่วนฐานความผิดทางวินัยตามที่ผู้ร้องสอด วินิจฉัยแล้วผู้บังคับบัญชาไม่อาจวินิจฉัยเป็นประการอื่นได้อีก แม้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนมติของผู้ร้องสอด แต่หากศาลวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมมีผลเช่นเดียวกับการเพิกถอนมติของผู้ร้องสอด มีผลให้มติของผู้ร้องสอดใช้บังคับไม่ได้อีกต่อไป จึงกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตลอดจนมาตรการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องสอด ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 บัญญัติให้อำนาจไว้ ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ (เอกสารหมายเลข 29) อันเป็นการสอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 อีกทั้งการวินิจฉัยชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองแต่ประการใด
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมติของผู้ร้องสอด และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลางที่จะรับฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา
ข้อ 5 ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงขอศาลปกครองกลางได้โปรดพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งยกฟ้องของผู้ฟ้องคดี
เห็นได้ว่าเนื้อหาคำให้การของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อสู้ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันยังชี้ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา
สุดท้ายอยู่ที่ว่าผู้ฟ้องคดี (นายวิทยา) ได้นำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมายื่นคำคัดค้านคำให้การของ ป.ป.ช. อย่างไร? ขณะนี้เจ้าตัวได้ยื่นคำคัดค้านแล้วเช่นกัน และศาลปกครองจะพิจารณาคดีนี้อย่างไร?
ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ
อดีต ขรก.คดีทุจริตสนามกีฬา 2 พันล. ยื่น ‘ประยุทธ์’ ขอกลับรับราชการหลังศาลยกฟ้อง
เปิดคำพิพากษาคดีสร้างสนามกีฬา 2 พันล. พยานซัดกันนัว-ยกฟ้องอดีตอธิบดีกับพวก