บาดแผลตากใบ(จบ) ชีวิตใหม่ของ"มาลีกี" กับคืนวันที่ไม่เคยฝันดีของครอบครัว"รอยะ"
เหตุการณ์ตากใบ หรือการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว แม้หลายชีวิตต้องสูญเสียไป หลายชีวิตยังคงดำดิ่งอยู่ในห้วงทุกข์ แต่ก็มีอีกหลายชีวิตเช่นกันที่หยัดยืนและลุกขึ้นสู้ เพื่อทำชีวิตให้เหลืออยู่ให้มีคุณค่ามากที่สุด
ดังเช่นชีวิตของ มาลีกี ดอเลาะ หนุ่มวัย 35 ปีที่สูญเสียขาข้างหนึ่งจากการถูกถอดเสื้อมัดมือไพล่รังเรียงซ้อนทับกันบนพื้นร้อนฉ่าของรถบรรทุกทหาร หลังจากถูกควบคุมตัวพร้อมกับเพื่อนร่วมชะตานับพันคนที่หน้าโรงพักตากใบ มุ่งหน้าไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เขาเคยต้องนอนซมและทดท้อกับสภาพร่างกายของตัวเอง...แต่วันนี้ชีวิตของมาลีกีไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
"โชคดีที่ได้ภรรยาดี ทำกับข้าวให้เรากิน ซักผ้าให้เรา เธอไม่เคยบ่นเลย" มาลีกีเล่าถึงชีวิตใหม่ของเขาหลังจากที่ได้แต่งงานและมีธุรกิจเล็กๆ ของตนเองเป็นร้านขายของชำ
หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ มาลีกีต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา นานถึง 2 เดือน ตอนนั้นเขายังไม่ได้แต่งงาน จึงมีแต่แม่และน้องสาวเป็นผู้ดูแล
แม่ของเขา "ยาเร๊าะ" ต้องรับภาระดูแลลูกชายช่วงหลังเกิดเหตุใหม่ๆ ช่วงนั้นมาลีกีช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ เนื่องจากแขนและขาฝ่อลีบไร้กำลัง มือทั้งสองข้างหงิกงอจนไม่สามารถจับอะไรได้ แม้แต่กิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น ทาแป้ง แปรงฟัน หรือจับช้อนกินข้าว
มาลีกีต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องจนทำอะไรเองได้บ้าง แต่แม่ของเขาก็เริ่มชราลงจนไม่สามารถดูแลเขาได้อีกต่อไป ครอบครัวจึงมองหาภรรยาให้มาลีกีเพื่อช่วยดูแลเขาแทนแม่
ภรรยาของมาลีกีเป็นคนขยัน พูดน้อย ง่วนอยู่แต่ในครัว ถามอะไรก็ได้แต่ยิ้มเอียงอายไม่ยอมตอบ ไม่ว่าจะเป็นคำถามทั่วๆ ไปอย่างเช่น "เป็นอย่างไรบ้าง?" หรือเรื่องส่วนตัวๆ อย่าง "คิดนานหรือเปล่ากว่าจะตอบตกลงแต่งงานกับมาลีกี?" ทำเอามาลีกีต้องชิงตอบแทนอย่างติดตลกเพื่อกลบเกลื่อนความอายของภรรยา
"ไม่ได้คิดนานเลยใช่ไหม เพราะแบหล่อ" (แบ หมายถึง พี่ชาย หรือคำเรียกแทนสามี) มาลีกีกล่าวกลั้วหัวเราะ และพูดต่อเสียงเข้มว่า "ภรรยาทำหน้าที่ได้ดี ไม่เคยบ่นอะไรเลย และผมเองก็พยายามพูดอะไรขำๆ เพื่อไม่ให้เธอเครียด เพราะโดยปกติก็เป็นคนตลกอยู่แล้ว นี่เองที่เป็นสาเหตุให้เพื่อนๆ ชอบมาหาเราที่บ้าน" เขาว่าเล่าพลางชี้ไปที่เพื่อนผู้ชายซึ่งนั่งจับกลุ่มคุยกันอย่างครื้นเครงอยู่หน้าบ้าน
มาลีกีเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียที่ยื่นฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากรัฐบาลในเหตุการณ์ตากใบ เขาได้เงินมาประมาณล้านกว่าบาท จึงนำเงินเหล่านั้นไปต่อเติมบ้าน เพื่อนำพื้นที่ส่วนหนึ่งเปิดกิจการร้านขายของชำ และอีกส่วนหนึ่งใช้จำนำสวนยางพารา เพื่อนำผลผลิตที่ได้ขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว และยังเลี้ยงดูแม่ของเขาด้วย เมื่อทุกอย่างกำลังไปได้สวย และราคายางก็ดี เขาจึงตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อปลูกต้นยาง
"ทุกเช้าเราก็ไปสวนกับภรรยา ช่วยกันปลูกต้นยาง ช่วยเท่าที่ช่วยได้ เสร็จจากนั้นก็กลับมาขายของ" มาลีกีเล่าถึงชีวิตประจำวัน และกิจการร้านขายของชำของเขาซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนิรันดร ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส
แม้ว่ามาลีกีจะมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สภาพร่างกายของเขายังคงย่ำแย่และเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง เขาเพิ่งผ่านการผ่าตัดไส้ติ่ง และเผชิญกับโรคแทรกซ้อนคือโรคไต อีกทั้งล่าสุดหมอบอกว่าเขาเป็นไส้เลื่อนด้วย ที่สำคัญเขามีอาการชาบริเวณหลังและแขนทั้งสองข้าง จึงต้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์สี่ล้อดัดแปลงสำหรับคนพิการมาขับ เพื่อให้สามารถออกไปไหนมาไหนได้บ้าง โดยเฉพาะไปทำสวน ซึ่งเหมือนเป็นการทำกายภาพบำบัดไปในตัว
แม้สภาพร่างกายจะเป็นเช่นนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากมาลีกีก็คือ เขาไม่เคยท้อ เขายังคงยิ้มได้ หัวเราะได้ และพยายามทำงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้โดยไม่ยอมอยู่ในฐานะคนพิการไปตลอดชีวิต
แต่มีกี่คนเล่าที่จะก้าวข้ามความโศกเศร้าและทดท้อไปได้อย่างมาลีกี...
ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดควรเริ่มต้นที่ “ฝ่ายรัฐ” ด้วยการยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจสร้างความสูญเสียให้กับผู้คนนับร้อยนับพันชีวิต...เช่นนี้!
7 ปีแห่งฝันร้ายและหวาดภัย
ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่าเหตุการณ์ตากใบทำให้เกิดบาดแผลในหัวใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย และหนึ่งในนั้นก็คือ "ยาลีละห์ รอยะ"
"7 ปีแล้วยังเหมือนเดิม ไม่หมดเรื่อง เหมือนมีเชื้ออยู่ต่อเนื่อง" เป็นเสียงของยาลีละห์ แม่ของลูกชายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ลูกของนางถูกจับ และยังคงประสบกับฝันร้ายมาจนทุกวันนี้
ยาลีละห์ เล่าว่า ตอนนั้นลูกชายทำขนมขาย วันที่เกิดเหตุก็ไม่ได้รู้เรื่อง เพียงแต่น้ำตาลหมดจึงออกไปซื้อน้ำตาลที่ร้านในตัวอำเภอตากใบ แล้วก็เห็นการชุมนุมกันวุ่นวาย จึงเดินเลยเข้าไปดู
"แค่นั้นเองเขาก็ถูกจับตัว ถูกขังอยู่อาทิตย์กว่า เมื่อออกมาก็ใช้ชีวิตปกติ แต่ดูเหมือนทางการจะมองเราไม่ปกติ เพราะเมื่อปีที่แล้วลูกชายถูกเชิญตัวไปโดยหมาย พ.ร.ก. (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แล้วก็ถูกคุมตัวอยู่ที่ค่ายสิรินธร 1 อาทิตย์"
เรื่องราวร้ายๆ ยังไม่จบลง เพราะเมื่อกลับมาอยู่บ้านอีกครั้ง ลูกชายได้สมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 1 สัปดาห์ก็มีเจ้าหน้าที่จากพื้นที่อื่นติดต่อมา บอกว่าจะเข้ามาเยี่ยม ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะการจะเข้ามาต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่หน่วยที่ดูแลในพื้นที่ทราบก่อน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดนี้ไม่แจ้ง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่รู้สึกหวาดกลัว
"เรายังอยากได้ความยุติธรรม ให้เรื่องจบตามความเป็นจริง ไม่มีข้อหาหรือข้อสงสัยอะไรมาทำความยุ่งยากหรือทำลายชีวิตของคนที่รอดตายมาได้จากเหตุการณ์ตากใบอีก บางคนไปรายงานตัวแล้วยังมีเจ้าหน้าที่มาหาข้อมูลอยู่เรื่อยๆ คนเขาเบื่อแล้ว ไม่รู้จะมาหาข้อมูลอะไรกันนักหนา พอมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน เพื่อนบ้านก็มองเราในแง่ลบ ทำให้เราเกิดผลกระทบอีก เพื่อนบ้านจะมาหาเราก็ไม่กล้า ทั้งๆ ที่เราอยู่กันตามปกติ เพื่อนไทยพุทธก็เยอะ พวกเขาเข้าใจ เขายังบอกว่าเจ้าหน้าที่สร้างเหตุการณ์เพื่อให้ได้งบประมาณลงมา"
ยาลีละห์ เปิดใจด้วยว่า ทั้งเบื่อทั้งสงสารตัวเองและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ทำมาหากินอย่างผาสุกเสียที ไม่ต้องมามัวหวาดระแวงกัน และทุกวันนี้ไม่มีใครอยากพูดเรื่องตากใบอีกแล้ว
"เรื่องรื้อฟื้นคดีเราไม่ได้คิด ผลลัพธ์ที่เขาเคยบอกว่าคนตายเพราะขาดอากาศหายใจก็ไม่เป็นไร คนที่ตายก็ไปสบายแล้ว เรากลัวผลลบกับคนที่ยังอยู่มากกว่า จริงๆ ไม่อยากให้รื้อคดี อยากให้จบไปจริงๆ และไม่อยากพูดถึงอีก"
นี่คือผลกระทบทางอ้อมของเหตุการณ์ตากใบซึ่งแน่นอนว่ายังคงเป็น "เงื่อนไข" ของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปัจจุบัน แม้เหตุการณ์จะล่วงผ่านมานานกว่า 7 ปีแล้วก็ตาม...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มาลีกีกับมอเตอร์ไซค์ดัดแปลงพิเศษ
2 ร้านขายของชำของมาลีกี
หมายเหตุ : รอฮานี จือนารา เป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
อ่านประกอบ :
1 บาดแผลจากตากใบ (1) เหยื่อที่ยังมีลมหายใจ กับเป้าหมายซ้ำซากของฝ่ายความมั่นคง
2 บาดแผลจากตากใบ (2) ดวงตาที่มอดดับกับชีวิตที่มอดหวัง