เมื่อเรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ทำไมถึงมี 'เขตวัฒนธรรมพิเศษ' ไม่ได้ ?
จินตนาการในเขตวัฒนธรรมพิเศษที่เคยอยู่ใน มติ ครม.เเล้ว เมื่อปี 2553 เราไม่พูดแค่เรื่องของที่อยู่อาศัย เราพูดถึงแหล่งทำมาหากิน พื้นที่ทางจิตวิญญาน เขตวัฒนธรรมพิเศษจึงครอบคลุมหลายพื้นที่ แล้วหลายพื้นที่เราสามารถประกาศได้เลย อย่างพื้นที่ชาวกระเหรี่ยง ห้วยลาดใน ที่เชียงใหม่ ที่สามารถประกาศได้เลย
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกว่า 30 คน เดินทางจาก จังหวัดภูเก็ต เพื่อขอเข้าพบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง กว่า 7 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรรม และตลอด 3 วันในเมืองหลวงกับการเดินทาง เพื่อยื่นขอหนังสือ เพื่อเรียกร้องหาความเป็นธรรม บนแผ่นดินที่ตัวเองเกิด
ขอเรียกร้องที่ถูกถามขึ้น ณ กระทรวงวัฒนธรรม คือ แนวทางผลักดันให้ชุมชนชาวเล เป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่เคยมีมติ ของ ครม. ในวันที่ 2 สิงหาคม 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรับรองมี 2 กลุ่มคือกลุ่มชาวเลและชาวกะเหรี่ยง มติให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตของทั้งสองกลุ่ม ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเก่าแก่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในกำหนดว่าในเรื่องของการฟื้นฟู ทำให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวมไปถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชน และประการต่อมา ในเรื่องของพื้นที่ทำมาหากิน มีทั้งแบบระยะสั้น กำหนดให้เร่งทำภายในเวลา 6 เดือน ไม่เกิน 1 ปี และในแบบระยะยาวให้ดำเนินการภายใน 1 ถึง 3 ปี การกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองความมั่นคงในชีวิตหลายด้าน รวมถึงด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย
มติ ครม.ในครั้งนั้น มีกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบถึง 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม
แนวคิดในเรื่อง การจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม เปรียบดังแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ของกลุ่มคนชาติพันธุ์ เพราะหากมีการดำเนินการในเรื่องนี้ตามมติข้างต้นจริง นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษากลุ่ม พีมูฟ เชื่อว่า จะช่วยลดความขัดแย้งที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ได้ เพราะในกำหนดนั้นมีการบังคับให้พิสูจน์การตั้งอยู่ของพื้นที่ชุมขนนั้นๆ และต้องยอมรับวิถีชีวิตการทำมาหากินของคนกลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ลดลง
แต่ขณะนี้การดำเนินการแทบไม่มี โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรฯ และกรมที่ดินเองก็เพิกเฉยที่จะดำเนินการ
กว่า 6 ปีที่ผ่านมา ความฝันที่เคยลุกช่วง ดูเหมือนจะริบรี่ลงเรื่อยๆ จนเเทบจะมองไม่เห็นปลายทาง ในขณะเดียวกัน นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็รุกคืบเข้ามาทุกทาง จนกระทั่งมีภาพ ความรุนแรงบริเวณหาดราไวย์เกิดขึ้น จนเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ และดูเหมือนว่าในขณะนั้นจะมีมือจากหลายฝ่ายยื่นเข้าช่วยเหลือและแก้ปัญหานี้ทันที ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ความหวังที่จะมีคนหันมาสนใจกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลก็เริ่มกลับมา และยิ่งมีหลักฐานยืนยันจาก ดีเอสไอ ที่สามารถยืนยันการมีตัวตน บนถิ่นฐานแห่งนั้นมาก่อน ที่นายทุนทุกคนจะเข้ามา
ครั้งนั้น พวกเขาทุกคนต่างมีหวังว่า พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ของบรรพบุรุษจะยังสามารถคงอยู่สืบต่อไปให้ลูกหลาน แต่แล้ว เมื่อผลประชุมเจรจานัดแรกที่ดูเหมือนไม่สามารถหาข้อยุติได้ แม้ว่า ทางบ.บารอน จะเสนอยกที่ดิน 2 งานให้เป็นที่สาธารณะให้ชาวเลใช้ตั้งบาไล แต่มีข้อแม้ว่าต้องย้ายจากจุดเดิม
ซึ่งทางด้าน นายสนิท แซ่ซั่ว ตัวแทนชาวเล ยืนยันว่าอย่างไรก็ตามต้องตั้งบาไล ไว้ที่เดิมเพราะเป็นพื้นที่จิตวิญญาณ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ด้านผู้ว่าราชการจ.ภูเก็ต จึงให้ชาวเลสามารถใช้ช่องทางยื่นฟ้องศาลปกครอง กลายเป็นว่า หลักฐานที่ดำเนินการเก็บมาตั้งแต่ ภาพถ่ายดาวเทียม ดีเอ็นเอ จากโครงกระดูกบรรพบุรุษ เป็นต้น ไม่อาจที่จะยืนยันการมีตัวตนของ ชาวเลได้เลยแม้แต่น้อย
"จำเป็นหรือไม่ที่ต้องสนใจคนเหล่านี้” คำถามจาก ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ก่อนที่ อาจารย์ จะชวนคิดในคำถามต่อมาที่ว่า จินตนาการของเราคือ เมื่อเรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ เป็นเขตที่สามารถจะถอดรื้อกฎหมายต่างๆ ได้ ทำไมเราจะมีเขตที่ปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบาง มีภาษาวัฒนธรรมแตกต่างกัน หรือที่เรียกโมเดลนี้ว่า เขตวัฒนธรรมพิเศษไม่ได้
"หากเราไม่ปกป้อง คนเหล่านี้ ถ้าจะไม่ดูแล ไม่ปกป้อง ถามหน่อยว่า เราจะเอาคนเหล่านี้ไปตั้งไว้ตรงไหน พวกเขาจะกลายเป็นคนที่อยู่อย่างแปลกหน้าในถิ่นกำเนิด ของตัวเอง แล้วทำไมเขาจะต้องหลีกทางให้กับคนอื่น” ดร.นฤมล ยังคงตั้งประโยค ชวนเราทุกคนคิด
หากมองในเชิงของปัญหาวิกฤติชาวเลที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีหลายแง่ที่ยังแฝงอยู่เเละซ่อนเร้น จนกระทั่งปะทุมาให้เราเห็นตามหน้าข่าวที่ผ่านมา
"ราไวย์เป็นแค่หนึ่งปัญหา เท่านั้น ต้องถามคนในสังคมหน่อยว่า สังคมยอมรับได้ไหม หากจะพบว่า ฝั่งหนึ่งเป็นโรงแรมหรู ห้าดาว มีไฟฟ้าใช้ มีน้ำสะอาดดื่ม แต่อีกฝั่งหนึ่งเป็น น้ำสะอาด ห้องน้ำยังไม่มี สภาพเป็นอยู่แออัด ถามว่า บรรทัดฐานของสังคมแบบนั้นเรารับได้หรือไม่ เรามองว่า น่าอยู่หรือเปล่า เราพัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็นหรือไม่ คนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนานั้นจริงๆ หรือไม่” ดร. นฤมล ยังคงตั้งคำถามต่อให้กระตุกความคิด
จินตนาการเรื่องเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ที่ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่เข้าท่าที่สุด และก้าวหน้าที่สุดในการจัดการเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การที่จะทำให้เป็นจริง ยังติดระเบียบ ติดกฎหมาย กลไก หลายอย่างยังไม่เอื้อ หลายส่วน
แม้แต่นายดำรง ทองสม รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้แทนรับข้อเรียกร้องของชาวเลก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันให้ชุมชนชาวเลเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม เพราะไม่มีกฎหมายให้ดำเนินการ
ฝั่ง ดร.นฤมล บอกว่า จินตนาการในเขตวัฒนธรรมพิเศษที่เคยอยู่ใน มติ ครม.เเล้ว เมื่อปี 2553 เราไม่พูดแค่เรื่องของที่อยู่อาศัย เราพูดถึงแหล่งทำมาหากิน พื้นที่ทางจิตวิญญาน เขตวัฒนธรรมพิเศษจึงครอบคลุมหลายพื้นที่ แล้วหลายพื้นที่เราสามารถประกาศได้เลย อย่างพื้นที่ชาวกระเหรี่ยง ห้วยลาดใน ที่เชียงใหม่ ที่สามารถประกาศได้เลย
“เรื่องที่อยู่อาศัย หากมีการโต้แย้งเรื่องสิทธิ ควรจะมีการคุ้มครองสิทธิก่อน อย่าเพิ่มให้มีการซื้อขายที่ดินอันนั้น อย่างที่ดินราไวย์ที่เปลี่ยนมือมาหลายครั้ง ปัญหาตรงนี้มีมานานแต่ไม่เคยมีการจัดการเสียที”
ภาพหนังสือพิมพ์กลุ่มชาติพันธุ์ออสเตรเลีย ที่มา:http://aiatsis.gov.au/
แต่หากจะลองไปดูกรณีของการจัดทำเขตพื้นที่พิเศษในลักษณะแบบนี้ กับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศออสเตรเลีย ที่สามารถนำเอาความเข้าใจจากสังคมสมัยใหม่ กลับเข้าสู่ กลุ่มคนชาติพันธุ์ที่มีอยู่มาก่อนบนแผ่นดินแห่งนั้น อย่างกรณี ของกลุ่ม Wurundjeri ชนเผ่าที่อาศัยของในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศออสเตรเลีย มีการจัดตั้งองค์กรที่ดูแลในนาม Wurundjeri Tribe Land and Compensation Cultural Heritage Council โดยจุดประสงค์ในการก่อตั้ง เพื่อสร้างการรับรู้จากสังคมถึงรากฐานทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์รวมไปถึงสิทธิในการอยู่อาศัยบนพื้นดินบรรพบุรุษ
การจัดการต่างๆ ภายใต้เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่อยู่มาก่อน จะได้รับเกียรติในฐานะเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริงและยังคมสามารถใช้ชีวิตตามธรรมเนียมประเพณี ดังเดิมได้ รวมถึงมีการออกคู่มือเพื่อการความรู้จักกับลักษณะในเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้เกียรติกับชนกลุ่มนี้ ทั้งยังมีการคงซึ่งชื่อเดิมของสถานที่ต่างๆ ตามภาษาพื้นเมืองเอาไว้ เป็นอีกหนึ่งอย่างในการให้เกียรติ และที่สำคัญกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ มีหนังสือพิมพ์ที่ทั้งระบบการจัดการ อยู่ภายใต้คนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวออกสู่สังคม
ลักษณะของสิ่งเหล่านี้คือการให้เกียรติในฐานะที่พวกเขาคือผู้อยู่มาก่อน เป็นเจ้าของที่ดินตรงผืนนั้น แน่นอนว่ากว่าถึงวันนี้ ความไม่เข้าใจจนนำมาสู่การบานปลายเกิดขึ้นมาเเล้วหลายครั้ง
แต่สิ่งที่ในฐานะมนุษย์ด้วยกันต้องการและเราทุกคนต่างต้องการคือการ ทำความเข้าใจและการให้เกียรติซึ่งกันเเละกัน เชื่อว่า เมื่อเรารู้จักกนมากขึ้น เราจะเข้าใจกันมากกว่านี้
แต่วันนี้มองกลับมาที่ชะตากรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลความหวังของพวกเขา อยู่ตรงไหน เราจะยอมให้พวกเขา กลายเป็นคนแปลกหน้าในผืนดินของตนเองหรือไม่ นโยบายแนวก้าวหน้าที่เคยมีมาหลายฉบับ จะถูกปักฝุ่นกลับมาใช้ให้เกิดรูปธรรมเมื่อไร ในวันที่ ร่างรธน. ฉบับล่าสุด กำลังถูกตั้งคำถามว่า สิทธิชุมชนที่หายไป ปรัชญาโลกสมัยใหม่ ทุนนิยมเสรีสุดโต่ง ใครดีใครได้ ความหมายของการเป็นมนุษย์ บรรทัดฐานของสังคมเราจะมีหรือไม่
คงเป็นคำถามที่คนไทย ต้องกลับไปคิดกันต่อ
ที่มาภาพ:http://transbordernews.in.th/home/