สมัชชาปฏิรูปฯ เสนอ 8 มติ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม”
ในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับมีมติขับเคลื่อนประเทศไทย 8 ประเด็น ดังนี้
การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
ให้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เสนอ ครม. รัฐสภา และพรรคการเมืองต่างๆ ผลักดันให้มีกฎหมายรับรองสิทธิในการจัดการที่ดินของชุมชน แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน ให้รับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการที่ดิน แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส และให้ยุติการขับไล่ จับกุม ในระหว่างการดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชนโดยเร็ว และแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชนเร็วที่สุด ให้ ครม.และรัฐสภาแก้ไขปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม อาทิ จำกัดขนาดการถือครองที่ดิน ให้กระทรวงการคลังศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการจัดเก็บภาษี มูลค่าส่วนเพิ่มของที่ดิน สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เป็นต้น
การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
ให้คสป. เสนอ ครม.มีมติยกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั่วทุกภาค หรือโครงการพิเศษใดๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และขอให้เร่งรัดการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 เรื่องแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมกรณีภาคใต้ จัดให้มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั่วทุกภาคของไทยขึ้นใหม่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม มีแผนงานและมาตรการที่เข้มข้น มีระยะเวลา งบประมาณที่ชัดเจน ในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง อาทิ เร่งตรวจสอบเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต่อสัญญาที่ดินของรัฐที่ให้เอกชนเช่า ห้ามปิดกั้นชายหาดสาธารณะและยึดครองทะเลหรือทรัพยากรทะเลและชายฝั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษทางอาญาที่สูงขึ้น เป็นต้น
การคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนกรณีที่ดินและทรัพยากร
สนับสนุนแนวทางของกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิรูปคดีที่ดินและทรัพยากร และขอให้ ครม. รัฐสภา และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นนโยบายสำคัญ เร่งรัดดำเนินการ อาทิ ให้ออก พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม และพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 โดยให้มีกลไกพิจารณาที่มีความเป็นอิสระ ยืดหยุ่น ประชาชนเข้าถึงง่าย ให้กระทรวง/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีต่างๆ เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขกฎหมายเรื่องกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ รวมไปถึงยกเลิกและปรับปรุง แก้ไขประมวลกฏหมายและมติครม.ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม หรือที่เป็นอุปสรรคในการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน เป็นต้น
การปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อความเป็นธรรม
ให้รัฐบาล สภาฯ พรรคการเมืองร่วมกันเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ขยายความครอบคลุมถึงแรงงานทุกคน โดยให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ขณะที่รัฐควรเร่งนำเงินสมทบด้านสุขภาพจากผู้ประกันตนไปใช้สำหรับสิทธิประโยชน์อื่น
ให้ คสป. สนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ประกันตน และการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์
การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคม ที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ
ให้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายและวิสัยทัศน์ระยะยาวว่า “สังคมไทย มีหลักประกันการดำรงชีพใน ระดับที่พอเพียง และมีระบบสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ” มอบหมายกระทรวงด้านสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนารูปแบบและระบบการเงินการคลังเพื่อหลักประกันในยามสูงอายุที่หลากหลายสำหรับทุกคน ครอบคลุมระบบบำนาญ การออมในระดับชุมชน และการจัดระบบหลักประกันด้านการเงินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ตลอดจนพิจารณาแนวทางแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ว่าด้วยการเลิกจ้างงานด้วยเหตุมีอายุเกิน โดยไม่ได้คำนึงหรือประเมินความสามารถในการทำงานอย่างเป็นธรรม ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันจัดหามาตรการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ
การสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
ให้จัดทำวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงาน และกลไก “สร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และการใช้ประโยชน์จากสถานที่ บริการ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเสมอภาค เพื่อสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล สร้างความมั่นคงทางด้านการคลัง และสร้างพลังจิตอาสา โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เร่งรัดการปรับปรุงหรือออกกฎหมายใหม่ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 ปี
ให้ ครม. ผลักดันปฏิรูประบบการคลังเพื่อสังคม และให้คสป. ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและให้ข้อเสนอแนะรูปแบบการบริหารกองทุนที่เหมาะสม และผลักดันให้เกิดการปรับปรุงรูปแบบการบริหารกองทุนเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และสวัสดิการสังคม ให้เสร็จภายใน 1 ปี ผลักดันการแก้ไข พรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ให้เป็นตามที่กล่าวมาข้างต้นให้เสร็จใน 1 ปี
การกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น
เสนอให้มีพ.ร.บ.สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคประชาชน สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น มุ่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การจัดการที่ดิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น เสนอให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมาจากผู้แทนภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างกฎหมายประกอบรธน. ๔ ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ ให้สมาคมองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง ๓ สมาคม เป็นองค์กรประสานงาน ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ทำหน้าที่ศึกษาและพัฒนาข้อเสนอที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองในทุกระดับ ให้มีการแก้ไขรธน. เพื่อให้จัดระบบการเงินการคลังที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินลงสู่พื้นที่โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง
ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม
ให้ครม. มีมติให้กระทรวงและหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดแผนและดำเนินการตามแผนการใช้พลังของศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา เพื่อเยียวยาและกล่อมเกลาจิตใจคนในสังคม มีรายการศิลปะเพื่อเยียวยาสังคมในสื่อ อย่างน้อย 25% ลดการนำเสนอศิลปะที่ล้อเลียนกลุ่มเปราะบาง จัดตั้งสมัชชาศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน จัดทำแผนพัฒนาผู้สร้างและผู้เสพ จัดตั้งสมัชชาผู้ดูหนังแห่งชาติ และมีพื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน โดยการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งออกกฏหมายจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน” และทุนสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตที่ร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์ ให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานรับรองวุฒิการศึกษาให้กับศิลปิน ดูแลด้านลิขสิทธิ์ เฝ้าระวังการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือกดขี่ ล่วงละเมิด เอารัดเอาเปรียบทางสังคม