ล้วงเกม สนช.ทำไมใช้ ส.ว.สรรหา-เรียก‘ขุนทหาร’แก้วิกฤติต่อท่อ คสช.?
“…เมื่อเป็นตามสเต็ปนี้ คสช. จะอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีใครกล้าทำอะไรแม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เพราะมี ส.ว.สรรหา คอยเป็น ‘หอก’ ค้ำยันอยู่ รวมถึงหากเกิดวิกฤติในชาติขึ้นมาจริง อาจได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ ‘แก้ไข’ อีกด้วย ?...”
เรียบร้อยโรงเรียน สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) กันไปแล้ว สำหรับการเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มี ’21 อรหันต์’ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ ‘เนติบริกรครุฑ’ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวหอกในการร่าง
ประเด็นหลักของ สนช. ที่ต้องการให้ปรับแก้มีอยู่ 4-5 เรื่อง ได้แก่ การเลือกตั้ง ส.ส. โดยต้องการให้ใช้บัตร 2 ใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเห็นว่าประชาชนเข้าใจง่ายกว่าการเลือกโดยใช้บัตรใบเดียว
ขณะเดียวกันที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เห็นด้วยที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อมาก่อน 3 ชื่อ เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิของสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ขณะเดียวกันหากพรรคการเมืองเอา ‘คนนอก’ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจถูกมองได้ว่าเป็น ‘จุดอ่อน’ ให้พรรคการเมืองโจมตีได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดีมีอยู่อีก 2 ประเด็นที่น่าจับตา และอยู่ในความสนใจของสาธารณชนมาโดยตลอด นั่นคือ ที่มาของ ส.ว. และการแก้ปัญหาหากเกิดวิกฤติขึ้นมาในชาติอีก ?
สำหรับ 2 ประเด็นนี้ สนช. เห็นว่า ที่มาของ ส.ว. ควรเป็นแบบ ‘สรรหาล้วน’ เพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาถ่วงดุล และทำหน้าที่ออกกฎหมายต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังเสนอว่า ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ‘จับมือ’ ร่วมกับบรรดา ‘ขุนทหาร’ ในการ ‘ปลดล็อค’ ผ่าทางตันหากเกิดวิกฤติในชาติ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมเหตุผลของ สนช. มานำเสนอ ดังนี้
หนึ่ง ที่มาของ ส.ว.สรรหา ล้วน
การเสนอให้ ส.ว.สรรหาล้วน 200 คนนั้น เพื่อเป็นการรักษาดุลอำนาจในรัฐสภา กรณีที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหาร ดังนั้นการกำหนดให้ ส.ว. มีที่มาจากการสรรหา ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง จึงมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินงานของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้บัญญัติการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เป็นอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาด้วย เนื่องจากกระบวนการถอดถอนเป็นระบบการตรวจสอบความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงควรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของวุฒิสภา เหมือนกับที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 (ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ไม่ได้บัญญัติอำนาจวุฒิสภาดำเนินการเรื่องการถอดถอน แต่ให้เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย)
สอง ความจำเป็นที่ต้องมีกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ
มีความจำเป็นที่ต้องมีกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ เฉพาะในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ หรือในกรณีที่สถาบันทางการเมืองไม่สามารถใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจบริหารในการบริหารประเทศได้ โดยควรกำหนดให้มีกลไกที่เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศดังกล่าว
โดยให้เป็นอำนาจของรัฐสภา หรือวุฒิสภา ในกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วแต่กรณี ที่จะวินิจฉัยว่า สถานการณ์ใดที่จะถือว่าเป็นวิกฤติของประเทศ และหากปรากฏว่า รัฐสภาหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณีมีคำวินิจฉัยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติของประเทศแล้ว
ให้เป็นอำนาจของประธานศาลรัฐธรรมนูญในการเรียกประชุมร่วมกันของผู้บัญชาการเหล่าทัพ (ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงกลาโหม และบุคคลอื่นใดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยให้ที่ประชุมดังกล่าวมีอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
สำหรับเหตุผลที่ต้องบัญญัติกลไกนี้ไว้คือ แม้ว่ามาตรา 207 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะกำหนดว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อย่างไรก็ดีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้เฉพาะกรอบอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 205 เท่านั้น ไม่สามารถนำหลักการในมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศได้
สำหรับมาตรา 205 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุทำนองว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยความเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทั้งหากมองในภาพรวม จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประเด็นมีการเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญประการหนึ่งต่ออนาคตการเมืองไทย
ยกตัวอย่าง หากวันใดวันหนึ่งเกิดวิกฤติการณ์ในชาติขึ้นมา (ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม) ทำให้รัฐบาลชุดนั้นต้องล้ม และประกาศยุบสภา รอการเลือกตั้งใหม่ ทว่าหากดำเนินการเลือกตั้งไม่ได้ วุฒิสภาจะมีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยว่า สถานการณ์ขณะนั้น ‘วิกฤติ’ จริงหรือไม่
ถ้าจริง อำนาจหน้าที่ทั้งหมดทั้งมวลจะตกเป็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในการเรียกประชุม ‘แม่ทัพนายกอง’ ประธานองค์กรอิสระ (ป.ป.ช. สตง. ฯลฯ) และ ‘บุคคลอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด’ (ตรงนี้ยังไม่ทราบว่าใคร) โดยให้มีอำนาจบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว (ซึ่งยังไม่มีการระบุว่าต้องทำอย่างไรบ้าง)
ตรงนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง และสอดคล้องกับกระแสก่อนหน้านี้ว่า สนช. มากฝีมือกฎหมายรายหนึ่ง ได้ ‘แนบ’ ความเห็นขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแต่งตั้ง ส.ว.สรรหา ชุดแรก ภายหลัง ‘ลงจากหลังเสือ’ เพื่อเป็นการค้ำยันฐานอำนาจ คสช. ไว้
(อ่านประกอบ : สะพัด! สนช.ชง กรธ.ให้ คสช.เลือก ส.ว.ชุดแรก ‘สมชาย’ปัด-ขอแก้แค่ปมเลือกไขว้)
ดังนั้นหากเกิดวิกฤติการณ์ในชาติ และวุฒิสภา (ซึ่งมาจากการสรรหาของ คสช. หรือจะเป็นการสรรหาแบบปกติก็ตาม) วินิจฉัยว่า ‘จริง’ แล้ว บรรดาอดีต คสช. อาจเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกเรียกเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยหรือไม่ (ตามที่บัญญัติไว้ว่า ‘บุคคลอื่นที่รัฐธรรมนูญกำหนด’) รวมไปถึง ‘ขุนทหาร’ ที่ถูก คสช. วางไลน์ ‘ขั้วอำนาจ’ ไว้หมดแล้ว
เมื่อเป็นตามสเต็ปนี้ คสช. จะอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีใครกล้าทำอะไรแม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เพราะมี ส.ว.สรรหา คอยเป็น ‘หอก’ ค้ำยันอยู่ รวมถึงหากเกิดวิกฤติในชาติขึ้นมาจริง อาจได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ ‘แก้ไข’ อีกด้วย ?
และต่อจากนี้ไป ‘รัฐบาลเลือกตั้ง’ อาจต้องอยู่ลำบากมากขึ้น ต้องดำเนินการให้อยู่ ‘ในรูปในรอย’ ของการปฏิรูปประเทศ เพราะอำนาจหน้าที่การบริหารดูท่าจะลดน้อยถอยลงค่อนข้างมาก
เนื่องจาก ป.ป.ช. กกต. และ สตง. สามารถเสนอความเห็น ‘เตือน’ ได้ทันทีหากมีนโยบายอะไร ‘แหลม’ ต่องบประมาณแผ่นดิน
นอกจากนี้หากเกิดวิกฤติขึ้นมา (ไม่ว่าจริงหรือไม่) อาจทำให้รัฐสภา หรือวุฒิสภา ดำเนินการวินิจฉัย และเรียก ‘ขุนทหาร’ เข้ามากุมบังเหียนการบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่งก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ดีขณะนี้ต้องรอดูความเห็นจาก คสช. และคณะรัฐมนตรี ด้วยว่ามีข้อเสนอเช่นใด เพื่อให้ กรธ. ไปปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์
ท่ามกลางการโจมตีจากพรรคการเมืองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ในขณะนี้ !