สารพัดปัญหา! ฟังเหตุผล‘บิ๊กป๊อก’ แจงงบตำบล 5 ล.ทำไมเบิกจ่ายช้า?
เปิดสารพัดปัญหางบตำบลละ 5 ล้านบาทฉบับ ‘บิ๊กป๊อก’ ยันเบิกจ่ายแล้ว 5 พันล้าน แค่ 14% พบบางอำเภอหาผู้รับจ้างยาก ต้นเหตุทำล่าช้า การบันทึกขั้นตอนสู่ระบบมีปัญหา สิ้นเดือน ม.ค. เพิ่มแน่ถึง 30%
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกับต้องถามกลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี !
สำหรับความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ที่พบว่า มีการเบิกจ่ายใช้จริงแค่ 7.3 ล้านบาท ทั้งที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท
‘บิ๊กตู่’ ตั้งข้อสังเกตไปว่า เหตุผลใดจึงล่าช้า เป็นเพราะระเบียบ หรือดำเนินการรัดกุมเกินไปป้องกันการทุจริต หรือเป็นเพราะไม่มีผู้มารับจ้างกันแน่ ?
(อ่านประกอบ :งบตำบลฯอนุมัติ 3.2 หมื่น ล.เบิกจ่ายแค่ 7 ล.! ‘บิ๊กตู่’สั่งทบทวน-ถามทำไมช้า)
ร้อนถึง ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทำหนังสือชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เล่ารายละเอียด ‘สารพัดปัญหา’ ที่ทำให้มาตรการนี้ เบิกจ่ายงบประมาณได้ล่าช้ากว่าที่เป็นอยู่มาก
มีอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ ดังนี้
เบื้องต้น มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และแนวทางการดำเนินการตามมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยดำเนินการ กำหนดให้จังหวัดต่าง ๆ เสนอโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) คณะกรรมการกลั่นกรองระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อให้สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1-18 พิจารณาอนุมัติ โดยกำหนดให้จังหวัดสามารถเสนอโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2558
ล่าสุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1-18 เริ่มพิจารณาอนุมัติโครงการที่จังหวัดเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558-ปัจจุบัน พบว่า มีโครงการที่นำเสนอทั้งหมด 129,250 โครงการ อนุมัติไปแล้ว 111,348 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 86.15 งบประมาณ 33,361,454 บาท คิดเป็นร้อยละ 91.96 ของกรอบวงเงิน
สำหรับโครงการนี้มีการก่อหนี้ผูกพัน 2,337ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.44 ของกรอบวงเงินเบิกจ่าย 1,223ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.37 ของกรอบวงเงิน
ในข้อเท็จจริงมีโครงการจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้บันทึกในระบบ e-GP จำนวน 1,606 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมจำนวนเงินที่มีการก่อหนี้ผูกพันทั้งหมดกับเงินที่ได้เบิกจ่ายไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 5,167 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.245
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดการดำเนินโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด และได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารของกระทรวงฯติดตามการดำเนินโครงการของจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ได้พบปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า คือ
หนึ่ง โครงการที่ได้รับการอนุมัติมีจำนวนมากกว่า 1.2 แสนโครงการ โดยหน่วยดำเนินการคืออำเภอต่าง ๆ เฉลี่ยอำเภอละกว่า 130 โครงการ
สอง บางอำเภอไม่สามารถหาตัวผู้รับจ้างได้เพราะในพื้นที่มีผู้รับจ้างน้อยราย ทำให้เกิดความล่าช้า
สาม โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะกว่าร้อยละ 80 ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร ทำให้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้โดยเร็ว
สี่ การดำเนินการตามระเบียบพัสดุซึ่งมีกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาที่กำหนดทำให้ไม่สามารถเร่งรัดการดำเนินการได้ อีกทั้งปัญหาการบันทึกข้อมูลในระบบ e-GP และระบบ GFMIS ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด คลังเขต และคลังจังหวัด พบว่า เกิดจากหลายสาเหตุ
ส่วนกรณีที่เป็นโครงการที่งบประมาณต่ำกว่า 1 แสนบาท อำเภอได้ดำเนินการการจัดซื้อจัดจ้างหรือออกใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือทำสัญญาแล้ว แต่เป็นการดำเนินการนอกระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยจัดทำเป็นเอกสาร เพื่อสร้างข้อมูลหลักผู้ขายและเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายโดยตรง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังในการแก้ปัญหา โดยกรมบัญชีกลางได้เพิ่มสิทธิการเข้าใช้งานระบบ GFMIS ให้สามารถบันทึกได้ทุกระบบงาน นับตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-31 มี.ค. 2559 ขยายระยะเวลาการเข้าใช้งานในระบบ e-GP ของผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับสิทธิมากกว่า 1 หน่วยจัดซื้อให้กับหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และเจ้าหน้าที่พัสดุที่ปฏิบัติงานในระบบ e-GP ตามมาตรการดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2559
นอกจากนี้กรมบัญชีกลางมอบหมายให้คลังจังหวัดทั่วประเทศเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้แก่จังหวัดและอำเภอต่าง ๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการและขยายระยะเวลาการให้บริการแก่ส่วนราชการที่ดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวด้วย
ห้า ปัญหาเรื่องการขอใช้ที่ดิน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่เขตอุทยานแห่งชาติ และที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาขออนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยคาดการณ์ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ภายในสิ้นเดือน ม.ค. จะเบิกจ่ายได้ประมาณร้อยละ 30
นี่คือคำตอบจากกระทรวงมหาดไทยถึงสารพัดปัญหาในมาตรการงบตำบลละ 5 ล้านบาท ของรัฐบาล ที่ถูก ‘บิ๊กตู่’ ทวงถามความคืบหน้า และถามว่าเพราะสาเหตุอะไรจึงเกิดความล่าช้า
แต่กลับไม่พูดถึงประเด็นที่บางโครงการถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่า มีพฤติการณ์เบิกจ่ายเงินผิดขั้นตอน-ผิดระเบียบ หรือบางแห่งส่อทุจริต !
อ่านประกอบ :
อบรมจริง 100%! นอภ.นครชัยศรีสอบใช้งบตำบลฯ 3 แสนทำกับข้าวเสร็จแล้ว
ใช้ 3 แสนทำกับข้าวกิน 10 วันจบ! ป.ป.ช.ลุยสอบงบตำบล 5 ล.งิ้วราย-นครปฐม
กลิ่นทุจริตโชย! ป.ป.ช.เจอบางพื้นที่ใช้งบตำบล 5 ล.ไม่โปร่งใส-ลุยสอบแล้ว
เอาจริง! ป.ป.ช.จับมือ มท.ลุยสุ่มตรวจโครงการงบตำบล 5 ล.ปรามโกง
เป็นเสือเข้าไปปรามโกง! ป.ป.ช.จับมือ มท.เฝ้าระวังโครงการตำบลละ 5 ล.
มท.ตั้ง กก.สอบ! งิ้วราย-นครปฐมใช้งบตำบลฯ 3 แสนทำกับข้าวกิน 10 วันจบ