"สวนสุนันทา” ชี้แจง ไม่เกี่ยว อ.จ.หนีทุน ผู้ฟ้องคือสังกัดใหม่อุดรธานี
“สวนสุนันทา” ชี้แจงกรณีอาจารย์หนีทุน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับมหาวิทยาลัย เพราะแม้ว่าอดีตจะเคยเป็นอาจารย์ในสังกัด แต่เมื่อได้รับทุนได้ย้ายสังกัดไปอยู่อีกแห่ง และเป็นคดีความกับต้นสังกัดใหม่
หลังจากสื่อนำเสนอข่าวอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนปริญญาเอก หนีทุนนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ชี้แจงถึงกรณีที่นางภัทรพร บัวทอง อดีตอาจารย์สังกัดคณะวิทยาการจัดการ ซึ่งได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยซาราโซตา รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และสุดท้ายก็หนีทุนตกให้เป็นภาระการชดใช้ของผู้ค้ำประกัน 3 รายว่า จากการตรวจสอบข้อมูลที่ฝ่ายนิติการของมหาวิทยาลัย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องร้องของมหาวิทยาลัยกับผู้ค้ำประกันทั้ง 3 รายนี้แต่อย่างใด และยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมานางภัทรพรไม่เคยมีหนังสือมายังมหาวิทยาลัยแจ้งว่า ยินดีจะชดใช้เงิน 6 ล้านบาทและมหาวิทยาลัยก็มิได้เป็นผู้ไปฟ้องศาลล้มละลายให้บุคคลผู้ค้ำประกันทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลายแต่ประการใด
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า กรณีของนางภัทรพร จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เป็นอดีตอาจารย์ของสวนสุนันทาจริง แต่เมื่อได้รับทุนการศึกษานั้น ได้รับจากสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏในขณะนั้น และนางภัทรภรได้เลือกที่จะไปรับราชการที่สถาบันราชภัฏอุดรธานี การทำสัญญาขอรับทุนและการมีผู้ค้ำประกัน 3 ราย ดำเนินการกับสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มิได้ทำกับสวนสุนันทา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว มหาวิทยาลัยยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อสำเร็จการศึกษานางภัทรพรจึงต้องไปใช้ทุนและเป็นอาจารย์ในสังกัดของสถาบันราชภัฏอุดรธานี
“กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติให้ลาออกหรือการดำเนินการฟ้องร้องผู้ค้ำประกันทั้ง 3 ราย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสวนสุนันทา เพราะสถานภาพของอาจารย์ภัทรพรในขณะนั้น มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสวนสุนันทา ได้สอบถามกับผู้ค้ำประกันหนึ่งในสาม คือท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ภากิตต์ ตรีสุกลซึ่งเป็นอาจารย์ของสวนสุนันทา ก็ได้รับคำชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับสวนสุนันทาแต่ประการใด มหาวิทยาลัยที่ฟ้องร้องผู้ค้ำประกันทั้งสามรายคือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผมตรวจสอบไปที่ สกอ. ก็ไม่พบเรื่อง เพราะได้โอนงานไปให้อุดรธานีแล้ว”
รองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช ยังกล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข้อสงสัยว่า ในขณะที่อาจารย์ยังมีปัญหาค้างทุนการศึกษาแต่มหาวิทยาลัยกลับอนุมัติให้ลาออกได้นั้น เป็นไปตามระเบียบก.พ.ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2551 ซึ่งผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจจะยับยั้งได้ มีอำนาจเต็มที่ที่จะยับยั้งได้ก็แค่ 90 วันเท่านั้นและเป็นคนละส่วนกับการชดใช้ทุน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสวนสุนันทา เมื่อบุคลากรคนใดจะลาออกจากมหาวิทยาลัย จะให้กองคลังตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนทุกครั้ง กรณีที่มีหนี้สินก็จะใช้ช่วงเวลาในอำนาจ 90 วันนี้เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับผู้ค้ำประกัน
ที่มาภาพ:หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559