พลิกคัมภีร์กูรูตลาดทุน สร้างหลักบรรษัทภิบาล-จริยธรรมผู้นำที่ดี
เวที CG Forum ครั้งที่ 1 ของปี 2016 ผู้บริหารตลาดทุน ถกจริยธรรม ธรรมาภิบาลองค์กร บ.จดทะเบียน เน้นสร้างวัฒนธรรม-อุดมการณ์ ปธ.ตลท.ชี้ผู้นำที่ดีต้องเป็นโรลโมเดล ให้ยึดแบบอย่าง ขณะที่ผู้บริหาร บ้านปู ยันพบอินไซเดอร์ข้อมูลเมื่อไหร่ ไล่ออกสถานเดียว
“จริยธรรมเป็นเรื่องของผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญ ทั้งในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร เพื่อให้มีจริยธรรมทางธุรกิจ และเป็นแบบอย่างให้บุคลากร เพื่อส่งเสริมให้เป็นองค์กรแห่งความดี และมีความยั่งยืนได้”
เป็นบทสรุปของ ‘ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์’ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวขึ้นในหัวข้อ “จริยธรรมของผู้นำองค์กร” บนเวที CG Forum 1/2016 จริยธรรม:จิตสำนึกหลักบรรษัทภิบาล ณ อาคาร ตลท. ถ.รัชดาภิเษก ท่ามกลางผู้เข้าร่วมจำนวนมาก
ตั้งแต่ ตลท.เปิดดำเนินงาน มีการให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมมาโดยตลอด ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ มีความเข้มแข็ง เกิดความเชื่อมั่น และกลายเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ
เขากล่าวว่า หลักจริยธรมเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันมานาน ถือว่าเป็นหลักที่มีคุณค่าในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผู้นำองค์กรที่ดี มีส่วนสำคัญ โดยต้องเป็น ‘โรลโมเดล’ ให้คนยึดถือเป็นแบบอย่าง มีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ
1.ผู้มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล เพื่อนำพาองค์กรให้เกิดความก้าวหน้า
2.ผู้มีความสามารถ เฉลียวฉลาด เพื่อผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ
3.ผู้สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้มีผู้ติดตามได้
4.ผู้ซื่อตรง ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม
‘จริยธรรม’ จึงเป็นหลักสำคัญมากสำหรับผู้นำองค์กร ซึ่งจะทำให้คนมองกลับมาด้วยความเชื่อมั่น เคารพ และเป็นต้นแบบให้คนติดตามได้
ทำธุรกิจ ห้ามคิดเพียงกำไร จนลืมความเป็น ‘ผู้นำ’
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาความเป็นบรรษัทภิบาลหรือจริยธรรมนั้น ถูกมองไม่เกิดการปฏิบัติจริง ประเด็นนี้ ‘บัณฑิต นิจถาวร’ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) มองว่า การทำให้ ‘จริยธรรม’ เกิดขึ้นจริง ต้องมาจากคนที่มีความทุ่มเท ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ใจและความชื่นชอบ
“หากเรามีองค์กรที่มีเฉพาะรูปแบบ เขียนข้อบังคับมากมาย แต่ไม่ปฏิบัติจริง ผู้บริหารไม่มีใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะขาด ‘จิตวิญญาณ’”
ฉะนั้น ‘จริยธรรม’ คือ ‘จิตวิญญาณ’ ที่จะขับเคลื่อนหลักบรรษัทภิบาลให้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่จะตัดสินความแตกต่างระหว่างองค์กรอยู่ที่พฤติกรรมและการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง ว่ามีจิตวิญญาณเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด
ผู้บริหารไอโอดี แนะนำว่า ไม่อยากให้มองว่าชื่อเสียงองค์กรเป็นต้นทุน ภาระหน้าที่ หรือเปลืองทรัพยากร แต่ให้มองเป็นการบริหารความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร อีกทั้งการวางแผนธุรกิจต้องให้น้ำหนักในแต่ละเรื่องอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เน้นเฉพาะกำไรอย่างเดียว จนลืมความเป็น ‘ผู้นำ’
ส่วนจะผลักดันอย่างไรนั้น เขาระบุว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งหลายบริษัทยังขาด ที่ผ่านมามุ่งเน้นเฉพาะการสร้างรูปแบบ แต่การขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรยังไม่เห็นชัดเจน
“ผู้บริหารต้องชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมใดบ้างที่สำคัญกับองค์กร ก่อนจะกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบาย และกลายเป็นรูปแบบการทำงาน สร้างกิจกรรมให้ผู้ปฏิบัตินำไปปฏิบัติได้ ทั้งนี้ จะเป็นจริงต้องมาจากระดับท็อปขององค์กร”
ภาพลักษณ์ บจ.ไทย อยู่ชั้นแนวหน้าของอาเซียน
บัณฑิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพลักษณ์บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อยู่ในชั้นแนวหน้าของอาเซียน โดยยกตัวอย่าง พม่า และเวียดนาม เข้ามาติดต่อกับไทยเพื่อให้วางหลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ส่วนมาเลเซียมองเราเป็นตัวอย่างด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน
ขณะที่ บจ.ที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ มีการนำเสนอสิ่งที่ดี เกี่ยวกับระเบียบไปวางใหม่ เข้าใจและพยายามทำให้คล้ายกัน นับเป็นตัวอย่างที่ดี
เขายืนยันด้วยความมั่นใจ ว่าในบรรดาผู้ทำธุรกิจ ไม่ว่าที่ใดจะชื่นชอบบริษัทไทย ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเป็นตัวอย่าง จึงวิงวอนให้ทุกบริษัทตระหนักและรักษาคุณภาพเหล่านี้ไว้ ถือเป็นความร่วมมือต้องช่วยกันในการกำกับดูแล
พบอินไซด์เดอร์ข้อมูลเมื่อไหร่ ‘บิ๊ก บ.บ้านปู’ ไล่ออกทันที
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งองค์กรที่ผู้บริหารอย่าง ‘ชนินท์ ว่องกุศลกิจ’ ให้ความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เขาบอกว่า เราพยายามเขียนขึ้นมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทใหม่ ๆ มุ่งเน้นหลักจริยธรรม โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความมีวิสัยทัศน์
ในปี 2545 บริษัทเริ่มทำนโยบายบรรษัทภิบาล ตลท. ในลักษณะรูปเล่ม นำเสนอเกี่ยวกับค่านิยม อุดมการณ์ ให้มีมาตรฐานระดับสูงทางจริยธรรม คุณธรรม และวิชาชีพ โดยใช้คู่มือดังกล่าวให้ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรทุกคน ทั้งในและต่างประเทศ ยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
“ปัจจุบันการรับคนเข้ามาทำงาน จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่คล้าย ๆ กัน แต่จะไม่รับเพราะเป็นคนเก่ง จากนั้นจะมีการฝึกอบรม ปฐมนิเทศ ซึ่งบริษัทปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง”
กรณีอินไซด์เดอร์ข้อมูลดังที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชน ผู้บริหารบ้านปู ตอบว่า หากพบเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นการใช้ข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญ จะให้ ‘ออก’ ทันที
ทั้งนี้ ประเด็นความขัดแย้งหรือการใช้ข้อมูลมักปรากฎให้เห็น แต่เราจะให้ความสำคัญแต่ละคนจะดูแลรักษาข้อมูลมาก การเก็บรักษาข้อมูล การปล่อยข้อมูลตรงเวลา การไม่ใช้ข้อมูลเป็นโทษ เป็นสิ่งที่ใส่ใจมาก ฉะนั้นต้องตรวจสอบเป็นระยะ มีบางจุดในการจัดซื้อจัดจ้าง จะตรวจสอบตลอด และระบุอยู่ในแผนประจำปี ควรให้ความสำคัญส่วนใดเป็นพิเศษ
‘อุดมการณ์’ เป็นสิ่งแรกต้องให้ความสำคัญ
ขณะที่ ‘เชาวลิต เอกบุตร’ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงิน และการลงทุน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เล่าประสบการณ์ว่า ทำงานกับเอสซีจีมา 34 ปี ตั้งแต่วันแรกจะได้รับคำแนะนำจากพี่ ๆ ถึงอุดมการณ์ในการทำธุรกิจขององค์กร 4 ประการ คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้อธิบายในรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อชี้ให้เห็นภาพว่า เหตุใดบริษัทจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้ และยึดถือปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
ผู้บริหารเอสซีจี บอกอีกว่า ปัจจุบันบริษัทเปลี่ยนแปลงไปมาก การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ การเข้ามาของพนักงานก็ไม่ได้มีเฉพาะพนักงานใหม่ วันนี้เรามีพนักงานประมาณ 5.2 หมื่นคน ในประเทศ 3.6 หมื่นคน และต่างประเทศ 1.6 หมื่นคน ส่วนใหญ่ในต่างประเทศจะเป็นพนักงานที่ถูกควบรวมกิจการ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพนักงานในหรือต่างประเทศ ‘อุดมการณ์’ ถือเป็นสิ่งแรกที่ให้ความสำคัญ ช่วยสร้างความสะดวกในการอ้างอิงและยึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน และยังให้ความสำคัญกับการ ‘ลงมือปฏิบัติ’ ด้วย
“การกำหนดแนวทางต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่สามารถสร้างความมั่นใจในเรื่องการปฏิบัติได้จะยากลำบาก”
ทั้งนี้ กระบวนการทำให้คนอยู่ในองค์กรและหยั่งรากลึกลงไปได้ เชาวลิต มองว่า ประกอบไปด้วยหลายด้าน ที่สำคัญ คือ ต้องให้ความมั่นใจ เมื่อปฏิบัติตามอุดมการณ์ ตามแนวทางที่กำหนด บริษัทก็จะให้การคุ้มครองปกป้องเต็มที่
......................................................................................
กรณีความล้มเหลวด้านธรรมาภิบาลของ บจ.ที่ปรากฎให้เห็นเป็นข่าวในสื่อมวลชนบ่อยครั้ง น่าจะเป็นบทเรียนทุกองค์กร ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อมิให้ซ้ำรอย จนสร้างผลเสียต่อภาพลักษณ์ ฉะนั้นต้องสร้าง ‘ผู้นำ’ ที่ดี ทำหน้าที่ปกป้องชื่อเสียงองค์กรด้านจริยธรรม ขับเคลื่อน ผลักดัน และปฏิบัติ ภายใต้การดำเนินงานที่มีประสิทธิผลต่อไป .
อ่านประกอบ:ก.ล.ต. ยกกรณีซีพี ออลล์ เล็งแก้หลักธรรมาภิบาล พบผู้บริหารทำผิด ขึ้นบัญชีดำทันที
เผยพฤติการณ์ผู้บริหารซีพี! ก.ล.ต.สั่งปรับ 33 ล.อินไซเดอร์ซื้อหุ้นแม็คโคร
อ้างข้อมูลลับ! ก.ล.ต.ไม่ให้ผลสอบผู้บริหารซีพีอินไซเดอร์ซื้อหุ้นแม็คโคร
สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ห่วงผู้บริหารอินไซเดอร์หุ้น กระทบผู้ลงทุนรายย่อย
ก.ล.ต.ปรับปธ.ซีพีออลล์-รอง ปธ.ทรูฯ-พวก 4 ราย 33 ล.ใช้ข้อมูลวงในซื้อหุ้นแม็คโคร