ทันตแพทยสภาฯเร่งสอบ 'หมอหนีทุน'
มติทันตแพทยสภา ตั้งอนุฯ สอบ "ดลฤดี"หนีทุน ชี้ทำผิดกฎหมายต้องพ้นสมาชิกโดยปริยาย หากศาลสั่งล้มละลายฟันได้ทันที จ่อส่งผลสอบให้ ม.ฮาร์วาร์ด ด้วย
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ทพ.ธรณินทร์ จรัสจรุงเกียรติ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่จ่ายคืนเงินทุนการศึกษาจนเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแทน ว่า เรื่องนี้ผู้ที่เซ็นค้ำประกันให้ ทพญ.ดลฤดี ไม่ได้ร้องเรียนเข้ามา แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ดังนั้นคณะกรรมการทันตแพทยสภา จึงได้หารือและมติกล่าวโทษในกรณีดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อทำหน้าที่ในการสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าอนุกรรมการจะมีการประชุมหารือกันในเร็ว ๆ นี้ โดยจะต้องส่งหนังสือถึงผู้ถูกกล่าวโทษ และผู้ค้ำประกันทั้ง 4 คน มาให้ข้อมูลข้อเท็จจจริงภายในเดือนนี้
ทั้งนี้หากอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาลงโทษต่อไป เบื้องต้นการลงโทษจะมี 4 ขั้นตอน คือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2. ภาคทัณฑ์ 3. พักใช้ใบอนุญาต และ 4. เพิกถอนใบอนุญาต ทพ.ธรณินทร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อนุกรรมการฯ จะมีการส่งหนังสือถึง ทพญ.ดลฤดี ตามที่อยู่ที่ให้ไว้กับทันตแพทยสภาโดยอาจจะมาให้ข้อมูลเอง หรือส่งเป็นเอกสารชี้แจงมาเองก็ได้ แต่หากไม่ให้ข้อมูลก็ถือว่าสละสิทธิในการที่จะปกป้องตัวเอง ทางคณะกรรมการจะพิจารณาตามหลักฐานข้อมูลที่มี โดยหากพบว่าเป็นการกระทำข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ อาทิ กระทำการอันทำให้เสื่อมเสียเกียรติแห่งวิชาชีพทันตกรรม ไม่เคารพกฎหมาย จะถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพไปโดยปริยาย ซึ่งกรณีนี้จะถือว่าฉ้อโกงหรือไม่ก็ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป ส่วนกรณีที่จะมีการฟ้องล้มละลายแล้วศาลตัดสินให้ล้มละลายจะถือว่ามีน้ำหนักมากในเรื่องของการกระทำผิดกฎหมายก็จะเห็นให้มีการพิจารณาพ้นสมาชิกภาพได้
“การพ้นจากสมาชิกทันตแพทย์แล้วไม่สามารถประกอบวิชาชีพในประเทศไทยได้อีก แต่ไม่มีผลต่อการทำงานในต่างประเทศ เพราะทพญ.ดลฤดี เป็นพลเมืองอเมริกา สอบใบอนุญาตของที่นั่นอยู่ ก่อนหน้านี้ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทราบจากสื่อว่ามหาวิทยาลัยมหิดลทำหนังสือถึงเพื่อแจ้งให้ทราบเรื่องของการค้ำประกัน แต่เรื่องการค้ำประกันเป็นเรื่องส่วนบุคคล จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่สำหรับเรื่องจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เรื่องวินัยในการทำงานนั้นทุกประเทศจะมีกฎข้อบังคับของตัวเองอยู่แล้ว ที่อเมริกายิ่งมีบทลงโทษหนัก ดังนั้นเราจะส่งผลการพิจารณาของเราไปให้กับทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูกเอาไปพิจารณาประกอบหรือไม่” ทพ.ธรณินทร์ กล่าว.
ขอบคุณข่าวจาก