รายงานเปิดปากคำ 54 ผู้ร้องเรียนถูกทรมานชายแดนใต้
วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้ร่วมกันจัดโครงการการสร้างการตระหนักรู้การป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ภายในงานจะมีการเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557-2558” เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้เข้าใจถึงปัญหาการกระทำทรมานฯ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือในการหยุดยั้งการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม
ในความเห็นของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายฯ เห็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลา 37 วัน โดยกำหนดข้อห้ามและสร้างอุปสรรคต่างๆ ทำให้ขาดการตรวจตราจากองค์กรภายใน และขาดการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกจับกุม กัก หรือควบคุมตัว ถูกทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาบางคน และหน่วยงานของรัฐบางแห่ง จนเกิดเป็นข้อร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง
รายงานสถานการณ์การทรมานฯ ที่จะถูกนำไปเปิดเผยบนเวทีวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations Fund for Victims of Torture) โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่าย ได้เก็บรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานฯ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเสียหายทั้งทางกายและจิตใจ ฟื้นฟูและสนับสนุนให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม และได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาจากรัฐ พร้อมเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการทั้งในทางนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติ เพื่อป้องกันและขจัดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ไม่ให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ในความเห็นของมูลนิธิฯและองค์กรเครือข่ายก็ยังมองว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหยุดยั้งการกระทำทรมานได้
เปิดข้อมูลร้องเรียน 54 ราย
สำหรับรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ซึ่งตามชื่อรายงานระบุ พ.ศ.2557-2558 นั้น หมายถึงห้วงเวลาของการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลในรายงานนี้เกิดขึ้นเฉพาะปี 2557-2558
การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งดeเนินการออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI) และได้นำหลักการสากลที่ชื่อว่า “พิธีสารอิสตันบูล” มาเป็นแนวทางในการตั้งกรอบคำถามและแนวทางการบันทึกผลกระทบจากการทรมานฯ
ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากผู้ร้องเรียนและได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ถูกกระทำทรมานฯ โดยมีผู้ร้องเรียนระหว่างปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 54 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลการร้องเรียนตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2558 บางปีก็ไม่มีการร้องเรียน โดยเฉพาะปีแรกๆ หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยปีที่มีการร้องเรียนมากที่สุดเป็น 2 ปีหลัง คือ ปี 2557 กับปี 2558 มี 17 กรณี กับ 15 กรณี ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเพราะประชาชนได้รับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้สามารถเข้าถึงการร้องเรียนได้มากขึ้น
สำหรับอายุของผู้ร้องเรียนว่าถูกทรมานฯ อยู่ในช่วง 29-38 ปีมากที่สุด คือ 28 คน รองลงมาคือช่วงอายุ 19-28 ปี จำนวน 21 คน โดยผู้ร้องเรียนมีภูมิลำเนาอยู่ในปัตตานี 31 คน นราธิวาส 13 คน และยะลา 10 คน
ปากคำเหยื่อ...สารพัดวิธีทรมาน
รูปแบบการทรมาน ซึ่งมาจากคำบอกเล่าฝ่ายเดียวของผู้ร้องเรียน มีทั้งขณะถูกจับกุม, ระหว่างอยู่บนรถหลังถูกจับกุม, ระหว่างอยู่ในกระบวนการซักถาม และระหว่างถูกคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัว ได้แก่ ฐานปฏิบัติการทางทหาร และสถานที่ตั้งของหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ
วิธีกระทำการทรมาน ซึ่งเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าฝ่ายเดียวของผู้ร้องเรียนเช่นกัน ได้แก่ 1.การกระทำทรมานทางจิตใจ เช่น ข่มขู่ การซักถามโดยใช้เวลานาน การรบกวนการนอน ขังเดี่ยว เป็นต้น
2.การกระทำทรมานทางร่างกาย เช่น การทุบตีทำร้ายร่างกาย, การใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นหยดตรงจุดใดจุดหนึ่งของร่างกายอย่างต่อเนื่อง อาทิ หน้าผาก ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกกดดัน แต่ไม่มีร่องรอย, การทำให้สำลักหรือบีบคอ, การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ, การให้อยู่ในอุณหภูมิสุดขั้ว, การบังคับให้กิน ดื่ม, การนำแผ่นร้อนมาจี้ที่เท้า หรือการใช้ไฟฟ้าช็อต, การทำให้ขาดอากาศ หรือแม้แต่ทำเสียงดัง หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ
เปิดนิยามการทรมาน
สำหรับนิยามของ “การทรมาน” ตามข้อบทที่ 1 (1) แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ.1984 (เรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 “การทรมาน” หมายถึงการกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่ง
(1) ข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลที่ถูกทรมานหรือจากบุคคลอื่น
(2) การลงโทษบุคคลที่ถูกทรมาน สำหรับการกระทำที่บุคคลนั้น หรือบุคคลที่สามกระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ
(3) เป็นการข่มขู่ให้กลัว หรือบังคับขู่เข็นผู้ถูกทรมาน หรือบุคคลที่สาม หรือ
(4) เพราะเหตุใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด
โดยการกระทำนั้นเป็นการกระทำ (หรืองดเว้นการที่จักต้องกระทำ) โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลอื่นโดยการยุยง หรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลใดที่ใช้อำนาจรัฐ
ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ข้อบทที่ 4 (1) ประเทศภาคี รวมทั้งประเทศไทย จะต้องประกันว่าการกระทำทรมานทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของประเทศตน แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อหาความผิดฐานกระทำทรมาน
ฝ่ายความมั่นคงไม่พอใจ-ขู่ฟ้อง
รายงานฉบับนี้ ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่าย เคยนำเสนอต่อ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างเดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข เมื่อปลายปีที่แล้ว
สำหรับเนื้อหาในรายงาน ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดยระบุว่าเป็นข้อมูลเก่าที่นำมาเปิดเผยอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมระบุว่าปัจจุบันไม่มีการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังมีข่าวบางกระแสจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงไทยกำลังพิจารณาเพื่อดำเนินการฟ้องร้ององค์กรที่จัดทำรายงานฉบับนี้ด้วย