นักวิชาการ สสค.ชี้การเรียนรู้ช่วงเด็กปฐมวัย เป็นยุคทองสมองเปิดรับดีสุด
ม.หอการค้าไทย-มมส.-24 อบต. ลงนามบันทึกความร่วมมือ ‘ปฐมวัยสร้างได้’ พัฒนาทักษะเด็กยุคใหม่ ศตวรรษที่ 21 ผู้เชี่ยวชาญ สสค. เผยการเรียนรู้ในช่วงเด็กปฐมวัย เป็นยุคทองของเวลาที่สมองเปิดรับดีที่สุด โดยเฉพาะด้านพฤติกรรม ต่อยอดพัฒนาทักษะสูงขึ้น
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือ ‘ปฐมวัยสร้างได้’ ผนึกกำลัง 24 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมจัดเวทีเสวนา เรื่อง ทิศทางจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ณ ห้องประชุม อาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มมส.
ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากมองถึงมุมเศรษฐศาสตร์แบบเห็นแก่ตัว ที่อิงจากงานวิจัยของ เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล ที่ทำการติดตามเด็กปฐมวัย 2 กลุ่ม เป็นเวลา 27 ปี พบว่า เด็กที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการสมวัยด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบไฮสโคปมีผลกระทบเชิงบวก เช่น การศึกษามีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการให้สมวัย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความคุ้มในเชิงของการลงทุนแล้วนั้น ผลของงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับต่อผู้เข้าร่วมโครงการและสังคมประมาณ 7-12 บาท
ด้านผศ.ดร.พชรวิทย์ จันทร์ศิริ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มมส. กล่าวว่า คณะศึกษาศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็นคณะที่ผลิตครู ในประเทศไทยมีทั้งหมด 57 สถาบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ร่วมผลิตครูด้วย ดังนั้นหากเราเป็นผู้รู้ผู้มีปัญญาแล้วก็ควรใช้ความรู้พัฒนาตัวเอง และนำไปช่วยเหลือผู้คนในสังคม โดยมีหลักคิดที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ถ้าพูดถึงการศึกษาปฐมวัยช่วง 10 ปีแรก คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มมส. กล่าวต่อว่า คณะศึกษาศาสตร์ มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ และเริ่มมองเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและตรงหลักปณิธานของคณะ ซึ่งคณะที่ผลิตครูจาก 57 สถาบัน ทั่วประเทศ มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ผลิตครูปฐมวัย และมมส.เป็นนักรบในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ มองว่าเด็กที่เกิดมาก็ควรได้รับโอกาสอย่างที่สมควรจะได้ เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ
“การเรียนการสอนแบบไฮสโคปทำให้ต้องทบทวนว่าดีหรือไม่ ที่ให้เด็กลงมือปฏิบัติมากกว่าการท่องจำ เกิดการเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติ เรียนในสิ่งที่สนใจ เราเพียงแต่แค่ตั้งข้อตกลงและสอดแทรกระบบความคิด ความรับผิดชอบเข้าไปให้เด็กได้เรียนรู้ทุกอย่างไปพร้อมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ผศ.ดร.พชรวิทย์ กล่าว
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. เปิดเผยว่า การเรียนรู้ในช่วงเด็กปฐมวัยถือเป็นยุคทองของช่วงเวลาที่สมองเปิดรับได้ดีที่สุด โดยเฉพาะทักษะด้านพฤติกรรม (non-cognitive skills) เช่น ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความพยายาม ความอดทนอดกลั้น ความสามารถในการคิด โดยทักษะเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงานปี 2020 หากพ้นช่วงเวลาสำคัญนี้ไปถือเป็นการทำลายโอกาส
ขณะที่นางทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เห็นถึงความพยายามของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้คุณภาพด้วยการพัฒนาครูและสถานที่ นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติได้มีคณะอนุกรรมการซึ่งดูแลเรื่องมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม พบว่าเมื่อมาถึงปลายทางกลับเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะความไม่เข้าใจของครูผู้ดูแลเด็กและผู้รับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดังนั้นความร่วมมือของคนในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะรัฐพยายามมานานและนโยบายยุทธศาสตร์ก็มีอยู่จำนวนมาก สุดท้ายคนที่อยู่กับเด็ก คือ ครู พ่อแม่ และชุมชน ต้องมาช่วยกัน และหากทุกมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาสนับสนุนเพื่อให้เป็นความรู้ที่ลงถึงอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับ จ.มหาสารคาม ก็เชื่อว่าจะกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
สุดท้าย นางเพ็ญพันธ์ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวเสริมว่า เรากำลังทำเรื่องสำคัญที่สุด คือ การพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ เด็ก 30% ที่เกิดใหม่ในแต่ละปีมีแนวโน้มที่จะพัฒนาการผิดปกติไม่สมวัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้จะช่วยให้เกิดพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น
“จาก 30% อาจลดลงเหลือเพียง 10% ก็ได้ การเรียนรู้ของเด็กจึงเป็นเรื่องของพัฒนาการที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น และการพัฒนาในท้องถิ่นก็เห็นผลได้ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ต้องการพลังในการขับเคลื่อน” นางเพ็ญพันธ์ กล่าว .