หวั่น "ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง" คลอดมาเป็นพิมพ์เขียวเดียว แล้วใช้ทั้งประเทศ
'น้าแก้ว สังข์ชู' ยันไม่ได้มีทางเดียว แนะต้องทำทั้งแนวราบ-ดิ่ง ขณะที่ 'เพิ่มศักดิ์' ชี้การกระจายงบฯที่ชุมชน ไม่ใช่หลักจัดการตนเองจริง หยุดร้องขอรัฐ ขอให้คิดพึ่งตนเองสร้างรายได้ สร้างสวัสดิการชุมชน
วันที่ 25 มีนาคม คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน 5 ภาค จัดประชุมวิชาการ “พลังประชาชน ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ที่ห้องปฏิรูป 4 ในเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ 1 ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี
นายแก้ว สังข์ชู กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงการจัดการตนเอง ลำพังเพียงภาคประชาชนอย่างเดียว ทำไม่ได้ เพราะคำว่า พลังประชาชนหมายรวมถึงทุกภาคส่วนต้องมาร่วมมือกันใช้อำนาจที่มี มาจัดการให้สอดรับกับชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ไม่ใช่สรุปออกมาเป็นพิมพ์เขียวเดียวแล้วใช้ทั้งประเทศแบบนั้นไม่ได้
นายแก้ว กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการจะนำประเด็นพลังประชาชนจัดการตนเองมาเป็นพิมพ์เขียว เนื่องจากวันนี้ชุมชนบางส่วนยังเห็นประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงกระแส พูดกว้างๆ ว่า ต้องจัดการตนเองและมีแนวทางเดียว ซึ่งไม่ตอบโจทย์พื้นที่ การจัดการตนเองจริงๆ โดยต้องบอกได้ว่า ชุมชนเมืองจะทำอย่างไร ชนเผ่าทำอะไร
“การจัดการตนเองต้องทำทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ถ้าบอกแค่ว่าจะยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ต้องมีนายอำเภอ ให้ไปแก้กฎหมาย ทำไม่ได้ต่อให้ตายแล้วสามชาติก็ยังไม่เกิด ที่ได้จริงๆ คือตัวเองต้องเอาความรู้ ความจริง และข้อมูลมาใช้ เช่น ถ้าบอกว่ กฎหมายมันเป็นอุปสรรค อาจชวนท้องถิ่นด้วยกันมาออกเป็นข้อบัญญัติก่อนก็ได้ นี่คือการจัดการในเบื้องต้น แล้วให้รัฐบาลมาสนับสนุนสิ่งที่ทำ” นายแก้ว กล่าว
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ท้องถิ่นต้องรู้จักการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่คือ ต้องไม่ใช่แค่การถ่ายโอนอำนาจ แต่ต้องให้เกิดการคืนอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ เท่าที่เห็นข้อเสนอชุมชนมักระบุว่า รัฐต้องกระจายงบประมาณมาที่ชุมชนให้ถึงร้อยละ 35 ตามนโยบายกระจายอำนาจเดิม ซึ่งวันนี้ได้เพียงร้อยละ 25 ตรงนี้นี่ไม่ใช่หลักจัดการตนเอง เพราะหากทำเองจริงชุมชนต้องไม่ไปเรียกร้องที่รัฐ แต่พื้นที่เองต่างหากที่ต้องคิดสร้างรายได้ สร้างสวัสดิการขึ้นมาดูแลและพัฒนากันเอง
“นี่เป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างระบบคิดแรกที่ได้ "เงิน" แต่ ไม่ได้ความยั่งยืน วินาทีต้องยืนหยัดและเดินหน้าได้แล้ว เพราะสังคมมาถึงทางตันที่หวังพึ่งใครไม่ได้ ไม่มีทางเลือก จะทำเหมือนเด็กมีอะไรไปฟ้องพ่อฟ้องแม่ วันนี้พ่อคงตอบว่าคงช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพ่อไม่มีเวลา ไม่มีเงิน ที่สำคัญไม่มีความรู้” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้ช่วย ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศเป็นงานใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่า หากทำเพียงแค่ชาวบ้านไม่มีทางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้และชุมชนท้องถิ่นเองก็เหนื่อยมาก เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง การจัดการตนเองในที่นี้คือสร้างดุลกันทุกภาคส่วน เรื่องอำนาจเป็นเรื่องมาทีหลัง แต่การไปปรับโครงสร้างปรับระบบคิดของชาวบ้านให้หาทุนที่ตนมีมาแทนที่การตีบ ตันทางการเมืองปัจจุบันเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า
“หนึ่งปีต่อจากนี้จะเป็นปีแห่งการค้นหาของชุมชนว่าอะไรที่จะไปปรับโครง สร้างหรือมีองค์ประกอบอะไรจากข้างล่างที่มีคุณค่าให้เริ่มทำได้จริงก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะทุกจังหวัดพูดเรื่องจัดการตนเองกันหมดแล้วเพียงแต่ยังหลวมอยู่ เหมือนคิดแล้วค้าง ยังไม่มีรายละเอียด ถ้าจะทำให้ชัดเจนต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ”
นางทิวาพร ศรีวรกุล ผู้ประสานเครือข่ายป่าต้นน้ำ ต.บางกระแจ๊ะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองมานานแล้ว แต่ยังทำได้แค่ระดับหนึ่งไม่ทะลุทะลวง เพราะมีอำนาจอื่นจากคนที่รู้มากกว่ารู้ไกลกว่านำวิถีมาครอบงำไว้ อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า ชุมชนสามารถนำอำนาจนั้นกลับมาได้ โดยคิดถึงสิ่งที่เคยทำ ทบทวนว่าต้องการเห็นหมู่บ้าน ตำบล เป็นอย่างไร แล้ววางแผนทำได้เลย สำคัญที่สุดคือต้องระวังอย่าหวังให้รัฐบาลหรือคณะกรรมการปฏิรูปมาเป็นตัว เปลี่ยนต้องเริ่มที่ตนเองและจบด้วยตนเอง
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนหนึ่งสะท้อนความเห็นไม่เชื่อว่า ชุมชนจัดการตนเองจะเป็นทางออกของการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากยังเห็นว่า เป็นภาพเพ้อฝันเกินไป และบางพื้นที่ก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะสามารถจัดการตนเองได้ บางแห่งมีทุกอย่างที่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองควรมี เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กลุ่มสวัสดิการต่างๆ แต่ท้ายที่สุดอำนาจการเบ็ดเสร็จก็อยู่ที่ท้องถิ่น ชาวบ้านแทบไม่มีส่วนร่วม
ช่วงท้าย ศ.สุริชัย หวันแก้ว จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่มากน้อยแค่ไหน ท้องถิ่นจัดการตนเองต้องทำแล้ว เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนว่าหากรอความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ มีทางอยู่รอด ชุมชนต้องลงมือกันเอง หากไม่มีจุดตั้งต้นก็ไม่มีทางถึงปลายทาง