ดีเอสไอปัดแทรกแซงศาสนจักรรื้อคดี‘ธัมมชโย’ เหตุผ่าน 18 ปี มส. ไม่มีมติ
ดีเอสไอแจง ‘พระโสภณพุทธวิเทศ’ ปัดรื้อคดี ‘ธัมมชโย’ ปมนำเงินไปซื้อที่ดินเป็นชื่อตัวเองขึ้นมาทำใหม่ ลั่นไม่ได้แทรกแซงศาสนจักร แค่ถามความคืบหน้า มส. ตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ หลังผ่านไป 18 ปียังไม่มีมติ
จากกรณีพระโสภณพุทธวิเทศ (จิตติก์ ญาณชโย) เจ้าอาวาสพุทธาราม เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กพาดพิงถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีมีหนังสือแจ้งไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) ให้รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่คณะสงฆ์ได้วินิจฉัยไปแล้ว เพื่อใช้กฎนิคหกรรมปรับอาบัติปาราชิกพระเทพมหาญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตามลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่า ได้ใช้อำนาจฝ่ายอาณาจักรแทรกแซงศาสนจักร และเข้าข่ายชักรพะสงฆือาบัติ ซึ่งเป็นอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักที่ต้องอาศัยความอนุเคราะห์จากคณะสงฆืจึงออกจากอาบัติได้) ผิดหลักพระพุทธศาสนานั้น
ล่าสุด คณะโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ข่าวดังกล่าวมีที่มาจากที่พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือพระพุทธอิสระ ยื่นเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบและดำเนินการเรื่องต่าง ๆ รวม 17 ประเด็น ซึ่งรวมถึงประเด็นร้องขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของพระธัมมชโย และของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง ที่อาจกระทำผิดอาญา ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายและ พ.ร.บ.สงฆ์ อันมีสาระเกี่ยวกับประเด็นเมื่อประมาณปี 2542 พระราชภาวนาสิทธิ์ (สมณศักดิ์ขณะนั้น) หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ถูกกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สอสบสวนดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ หรือจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือทุจริตต่อหน้าที่ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาดังกล่าวตกเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในประเด็นเกี่ยวกับการนำเงินของวัดพระธรรมกายไปซื้อที่ดินและโอนเป็นชื่อตนเอง
กรณีดังกล่าวมีการต่อสู้คดีในศาลเกือบ 7 ปี จนเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2549 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานอัยการถอนฟ้องคดีดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าได้มีการมอบที่ดินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกายแล้วซึ่งในทางอาญาในข้อหาดังกล่าวถือว่าคดีสิ้นสุดลงตามกฎหมาย แต่ได้มีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่า พระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก แต่คณะผู้ปกครองสงฆ์ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
คณะโฆษกดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ทางการสืบสวนของดีเอสไอพบว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2542 และมีมติมอบเอกสารพระลิขิตให้เจ้าคณะภาค 1 พิจารณา ซึ่งพระลิขิตดังกล่าว มีการนำเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ 15/2542 เมื่อ 26 เม.ย. 2542 และครั้งที่ 16/2542 เมื่อ 10 พ.ค. 2542 โดยที่ประชุมได้มีมติสนองพระดำริให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม และนอกจากนั้นยังมีมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 193/2542 ที่ให้สนองพระดำริโดยตลอดให้ชอบด้วยกฏหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม อีกด้วย
ในประเด็นนี้ดีเอสไอ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535) มาตรา 8 กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม และในมาตรา 15 ตรี กำหนดให้มหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และมาตรา 13 กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง ซึ่งตามกฎหมาย สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการรับสนองงานตามบัญชาและพระกรณียกิจของพระสังฆราช รวมทั้งดำเนินการและประสานงานกับคณะสงฆ์ในการลงนิคหกรรมและตรวจตราถวายคำแนะนำแก่พระภิกษุ สามเณร ฯ
และเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่พบว่าที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีเพียงมติรับทราบ โดยยังไม่ได้ตัดสินหรือรับรองว่า พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2542 หรือไม่ ประกอบกับมหาเถรสมาคมและผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สงฆ์ ให้ครบถ้วนทุกประเด็น
ด้วยเหตุดังกล่าวดีเอสไอ จึงมีหนังสือแจ้งผลการสืบสวนและขอทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว และจะได้แจ้งผลการดำเนินการให้ ผู้ร้องทราบ อันเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย หาได้ใช้อำนาจฝ่ายอาณาจักรแทรกแซงศาสนจักร ดังที่เข้าใจไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เชิญเจ้าหน้าที่ดีเอสไอร่วมฟังการประชุมชี้แจงการพิจารณาดำเนินการทางวินัยสงฆ์ตามพระธรรมวินัยเกี่ยวกับประเด็นลิขิตสมเด็จพระสังฆราชในประเด็นการอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย และจะได้ชี้แจงผลการดำเนินการให้ดีเอสไอทราบเป็นหนังสือต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบพระธัมมชโย จาก sanook