เผยแพร่แล้ว พ.ร.บ.องค์การมหาชนฉบับใหม่ ผุดบอร์ด“กพม.”12 คนกำกับ อำนาจอื้อ
เผยแพร่แล้ว พ.ร.บ.องค์การมหาชนฉบับใหม่ 26 มาตรา คลอด บอร์ด“กพม.”ไม่เกิน12 คน อำนาจอื้อ 11 ข้อ ประเมินผล ชง ครม.ยุบรวม เลิกกิจการ กำหนดต้องเสนอร่าง พรฎ.แก้ไขเพิ่มเติมใน 180 วัน กก.1 คนห้ามเป็นเกิน 3 แห่ง
ราชกิจจานุเบกษา 8 ก.พ.59 เผยแพร่พระราชบัญญัติ องค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มีจำนวน 26 มาตรา สาระสำคัญ
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคําว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา 3แห่งพระราชบัญญัติ องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของแต่ละองค์การมหาชน”
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติ องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 “การพิจารณากิจการตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกําหนดโดยข้อเสนอแนะ ของ กพม.”
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5/1 มาตรา 5/2 มาตรา 5/3 มาตรา 5/4 มาตรา 5/5 มาตรา 5/6 มาตรา 5/7 และมาตรา 5/8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542
“มาตรา 5/1 ให้มีคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “กพม.” ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นประธานกรรมการ
(2) กรรมการโดยตําแหน่ง จํานวนสี่คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อํานวยการ สํานักงบประมาณ
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจํานวนไม่เกินเจ็ดคน โดยในจํานวนนี้ ต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในการบริหารองค์การมหาชนอย่างน้อยสองคน ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นผู้รับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการ ของ กพม.
มาตรา 5/8 กพม. มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิก องค์การมหาชน
(2) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกําหนดนโยบาย แนวทาง และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับ การจัดตั้ง การรวม การยุบเลิก การบริหารและพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน
(3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการในคณะกรรมการ และผู้อํานวยการ
(4) เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุน ในกิจการของนิติบุคคลอื่น และการจําหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตามมาตรา 18 ต่อคณะรัฐมนตรี
(5) เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการตรวจสอบ และอนุกรรมการขององค์การมหาชนตามมาตรา 26 รวมทั้ง อัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อํานวยการตามมาตรา 34 ต่อคณะรัฐมนตรี
(6) กลั่นกรองการโอนอํานาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐให้แก่องค์การมหาชน ที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 9 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(7) เสนอแนะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและบุคลากรของ องค์การมหาชนภายหลังการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี
(8) เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา
(9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมาย
(10) จัดทํารายงานประจําปีเกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(11) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย”
มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 19/1 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 “มาตรา 19/1 ผู้ใดจะดํารงตําแหน่งกรรมการในองค์การมหาชนเกินกว่าสามแห่งไม่ได้ ทั้งนี้ ให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตําแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตําแหน่งกรรมการด้วย
มาตรา 20 ให้ยกเลิกความในมาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 42 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพการดําเนินงานขององค์การมหาชน และเพื่อให้องค์การมหาชนมีความเป็นอิสระในการดําเนินกิจการตามความเหมาะสมภายใต้การกํากับดูแล โดยมีเป้าหมายที่แน่ชัด ให้องค์การมหาชนอยู่ภายใต้ระบบการประเมินผลขององค์การมหาชนตามที่ กพม. กําหนด
มาตรา 43 ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนมีอํานาจหน้าที่ กํากับดูแลการดําเนินกิจการขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ของการจัดตั้งองค์การมหาชน นโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการ ที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชนนั้น เพื่อการนี้ให้รัฐมนตรีมีอํานาจสั่งให้องค์การมหาชนชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทํารายงาน หรือยับยั้งการกระทําขององค์การมหาชนที่ขัดต่อกฎหมาย วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชน นโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชนนั้น ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดําเนินการได้”
มาตรา 21 ให้องค์การมหาชนทุกแห่งดําเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไปยังคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ หากไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้สํานักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการดําเนินการแทนและเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
มาตรา 22 ให้คณะกรรมการขององค์การมหาชนตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคณะกรรมการขององค์การมหาชนนั้นจนครบวาระ การดํารงตําแหน่งตามที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งดังกล่าว การนับวาระการดํารงตําแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการซึ่งมิใช่กรรมการโดยตําแหน่ง ขององค์การมหาชนตามวรรคหนึ่ง ให้นับต่อเนื่องกับการนับวาระตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน และตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการจัดตั้งองค์การมหาชน ยังขาดมาตรการส่งเสริมและการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรและบุคคล จึงไม่อาจบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลักการบริหารงานภาครัฐแบบใหม่ สมควรกําหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน เพื่อรับผิดชอบในการเสนอแนะนโยบาย แนวทางการดําเนินงาน การพัฒนา และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับ การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี ปรับปรุงองค์ประกอบ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม และอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการขององค์การมหาชนและผู้อํานวยการขององค์การมหาชน ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนกําหนดแนวทางการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันจะทําให้การบริหารงานและการปฏิบัติภารกิจขององค์การมหาชนมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อ่านประกอบ