ผลสำรวจม.หอการค้า คาดปี 2559 ยุค คสช.ยังมี"จ่ายใต้โต๊ะ" 5-15%
“การลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1%
ส่งผลให้มูลค่าการคอร์รัปชั่นลดลงได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท”
“แม้สถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทยดีขึ้น จากผลสำรวจของดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น และดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นของประเทศปี 2558 อันเนื่องมาจากการตระหนักปัญหาคอร์รัปชั่นของภาคประชาชน และการที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาสนับสนุนการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังหลายเรื่อง แต่จะต้องทำเป็น พ.ร.บ. จึงจะยั่งยืน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ติดตามตรวจสอบ จึงจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ภาคธุรกิจต้องยกระดับการทำงานมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เอ่ยขึ้นในงานเสวนา “ชนะแน่หรือแพ้แท้จริงกับการโกงชาติ” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมดุสิตธานี
ยังมีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ฝันว่าจะได้เห็นในรัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ที่หวังว่าจะมาเป็นเครื่องมือช่วยยับยั้งการทุจริตในส่วนราชการได้
หากย้อนมาดูสถานการณ์ในการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบราชการ จะเห็นว่า คสช.มีคำสั่งปลดและย้ายข้าราชการเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วยมาตรา 44 เป็นจำนวนมาก แต่จากข้อมูลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Corruption Situation Index:CSI) เดือนธันวาคม 2558 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งสำรวจกลุ่มเป้าหมาย 2,400 ตัวอย่าง ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ
ผลสำรวจแสดงความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยประเมินจากงบประมาณประเภทจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ
(หน่วยเป็นล้านบาท)
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุสิ่งที่ค้นพบจากการสำรวจว่า ตั้งแต่การสำรวจในปี 2553-2556 พบว่า เปอร์เซนต์ (%) เงินเพิ่มพิเศษของรายรับที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา เฉลี่ยอยู่ที่ 25-35%
ขณะที่ช่วงมิถุนายน 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 15-25% หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ถึง 2.5 แสนล้านบาท ช่วงเดือนธันวาคม 2557 ลดลงเหลืออยู่ที่ 1-15%
และแม้รัฐบาลจะพยายามเอาจริงกับการจัดการข้าราชการที่ทุจริต ผลสำรวจล่าสุดในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ก็ยังคงมี เปอร์เซนต์ การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ หรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาอยู่ 1-15% โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาทถึง 1.6 แสนล้านบาท
เมื่อมาดูการประเมินวงเงินคอร์รัปชั่นจากงบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างงบลงทุนรัฐวิสาหกิจระหว่างปี 2554-2559 ผู้ประกอบการประมาณการว่า มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่นมีวงเงิน 1-15% ของงบประมาณ และคาดว่าในปี 2559 ก็คงจะยังมีการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้สัญญาประมาณ5-15% โดยคิดมูลค่าเป็น 1.7 แสนล้านบาท
ดร.เสาวณีย์ เห็นว่า การลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1% จะส่งผลให้มูลค่าการคอร์รัปชั่นลดลง 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเมื่อแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่น การป้องกันการคอร์รัปชั่น การปราบปรามการคอร์รัปชั่น และการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก
ในมุมมองของข้าราชการและนักธุรกิจ ให้คะแนนเรื่องความรุนแรงของปัญหา การป้องกัน และการปราบปรามคอร์รัปชั่นลดลงจากเดือนมิถุนายน 2558 และให้คะแนนด้านการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อธิการบดีม.หอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ผลกระทบของสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นไทยยังส่งผลต่อ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ด้วย หากดูข้อมูลปี 2558 ถ้ามูลค่าอัตราการคอร์รัปชั่นอยู่ระหว่าง 5-25% ก็จะส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ 0.39-1.97% ส่วนในปี2559 นั้น หากยังคงมีการจ่ายเพิ่มของภาคเอกชนให้กับหน่วยงานราชการหรือนักการเมืองแล้ว แค่เพียง 5-25% ผลกระทบต่ อGDP ของประเทศก็จะสูงกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากงบประมาณการลงทุนของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
ฉะนั้นกฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เพราะการลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1% จะส่งผลให้การคอร์รัปชั่นลดลงได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท
สิ่งสำคัญที่ภาคประชาชน ข้าราชการและภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยด่วนที่สุดเพื่อต่อต้านการทุจริตนั้น ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า มีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ นั่นคือ 1.การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดและมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด 2.สร้างระบบให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนตรวจสอบได้ และ3.คือทำให้การเมืองโปร่งใส
ทั้งนี้ข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการต่อต้านการทุจริต ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นั่นคือการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ชื่อ “โครงการระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ” (Thailand Government Spending) ทางเว็บไซต์ www.govspending.data.go.th
ปัจจุบันมีชุดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างจากหมวดงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ 500 ชุดข้อมูลที่มาจาก 100 กรมทั่วประเทศ ที่จะมีการแสดงล่าสุดสถานะทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาคสช.เองจะพยายามใช้ไม้แข็งโยกย้าย หรือสั่งสอบข้าราชการที่คาดว่าน่าจะมีเอี่ยวกับการทุจริต แต่ข้อมูลกลับสะท้อนให้เห็นว่ายังไม่สามารถที่จะขจัดการทุจริตออกไปได้ ในฐานะประชาชนคนไทยอาจจะต้องใช้เครื่องมือชุดใหม่ที่รัฐบาลพยายามผลักดันเรื่องการเปิดเผยข้อมูลมาร่วมกันตรวจสอบ เพื่อลดอัตราการทุจริตและลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด