มองเกม สนช.ค้านสุดใจ! ส.ว.สรรหาไขว้-จับตาให้อำนาจ คสช.แต่งตั้งเอง
“…หากมองจากหมากเกมนี้ ที่ สนช. หลายรายคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมแบบไขว้แบบนี้ อาจเป็นไปได้ว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่แล้วเสร็จ จะไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. ได้อีก เพราะนอกเหนือจากต้องลาออกก่อน 90 วันตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องสู้กับบรรดาพรรคการเมือง ที่เตรียมจะเฟ้นหาคนเข้าไปนั่งเป็น ส.ว. ค้ำยันอำนาจด้วย…"
กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง !
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ’21 อรหันต์’ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ‘เนติบริกรพญาครุฑ’ เป็นประธานฯ ที่เผยแพร่ร่างแรกให้สาธารณชนได้รับทราบเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ท่ามกลาง ‘เสียงค้าน’ ของบรรดาฝ่ายการเมือง-นักวิชาการ รวมถึงประชาชนส่วนหนึ่งว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ?
โดยเฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเปิดทางให้ ‘คนนอก’ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ดำรงตำแหน่งได้ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็น ‘จัดสรรปั้นส่วนผสม’ เกลี่ยคะแนนให้ทุกพรรคการเมือง ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. ใบเดียว และการสรรหา ส.ว. ทางอ้อม
นี่ยังไม่นับรวมบทเฉพาะกาลที่คงอำนาจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง
(อ่านประกอบ :ค้านเลือก ส.ว.ไขว้-กา ส.ส.บัตรเดียว! สนช.ถกข้อดี-ข้อเสีย รธน.ชง กรธ.แก้)
ล่าสุด ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้หารือถกเถียงประเด็นข้อดี-ข้อเสียในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนจะส่งให้ กรธ. นำไปปรับแก้ไข โดยมีสมาชิก สนช. ยกมือขออภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
แต่ประเด็นสำคัญที่ สนช. หลายรายค้านกันมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องการให้เลือกตั้ง ส.ว. แบบทางอ้อม และไขว้ !
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมแบบไขว้นั้น กรธ. เคยอธิบายไว้ว่า การเลือก ส.ว. ชุดนี้ จะให้ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม เป็นคนสรรหา โดยใช้วิธีการสรรหาแบบไขว้กัน ยกตัวอย่าง กลุ่มวิชาชีพ A ต้องได้รับการสรรหาโดยกลุ่มวิชาชีพ B ส่วนกลุ่มวิชาชีพ B ได้รับการสรรหาโดยกลุ่มวิชาชีพ C และไขว้กันอย่างนี้ไปทุกกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มต้องสรรหาให้ได้ 10 คน รวมแล้วครบ 200 คน ตามร่างรัฐธรรมนูญพอดี
ซึ่งวิธีการแบบนี้ สนช. อย่าง ‘พล.อ.สมเจตน์’ ไม่เห็นด้วย และออกตัวว่า “เป็นวิธีการที่ทำให้ไม่เกิดความภาคภูมิใจ”
พร้อมเปิดฉากอภิปรายด้วยวลีเด็ดว่า “กรธ.ติดกับคำว่ายึดโยงประชาชน”
โดย พล.อ.สมเจตน์ ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมแบบไขว้ ไม่ตอบโจทย์ระบบการเมืองไทยในขณะนี้ สมควรให้ใช้ระบบ ส.ว. สรรหา เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 จะดีกว่า และมั่นใจว่า ส.ว.สรรหา จะสามารถถ่วงดุลระบบการเมืองไทยได้
ขณะที่ นายธานี อ่อนละเอียด เป็นอีกรายหนึ่งที่ออกมาคัดค้านการเลือก ส.ว. แบบนี้เช่นกัน โดยยกตัวอย่างว่า การเลือกดังกล่าวอาจเปิดช่องให้ ‘บล็อกโหวต’ ได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตกับสภาสนามม้า และสภาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ
พร้อมแนะทางออกว่า ควรเปิดรับสมัครจากผู้มีประสบการณ์ มีความสามารถจากกลุ่มวิชาชีพ และใช้เขตการเลือกตั้งแบบการเลือกตั้ง ส.ส. เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกกันไปเลย และการทำแบบนี้จะได้บุคคลที่ยึดโยงกับประชาชนด้วย
และไม่ใช่แค่ 2 รายนี้เท่านั้น ยังมี สนช. อีกหลายราย วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องที่มาของ ส.ว. เช่นกัน โดยเห็นว่า หากใช้การเลือกตั้งทางอ้อมแบบไขว้ อาจเกิดปัญหาอีกหลายประการ และน่าจะมีการ ‘บล็อกโหวต’ เกิดขึ้น ทำให้วุฒิสภาไม่มีการถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร
นี่เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สนช. ไม่พอใจ และคัดค้านอย่างหนัก ไม่นับระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้วิธีกาบัตรใบเดียว ซึ่ง สนช. หลายคนมองว่า ปิดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะประชาชนบางรายอาจเลือก ส.ส. พรรคหนึ่ง และอีกใบเลือกอีกพรรคหนึ่งก็ได้
อย่างไรก็ดีหากมองจากหมากเกมนี้ ที่ สนช. หลายรายคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมแบบไขว้แบบนี้ อาจเป็นไปได้ว่า กังวลหากมีการเลือกตั้งใหม่แล้วเสร็จ จะไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. ได้อีก เพราะนอกเหนือจากต้องลาออกก่อน 90 วันตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องสู้กับบรรดาพรรคการเมือง ที่เตรียมจะเฟ้นหาคนเข้าไปนั่งเป็น ส.ว. ค้ำยันอำนาจด้วย
ท่ามกลางข่าวสะพัดมาว่า สนช. เตรียมที่จะเสนอแนะให้ กรธ. แก้ไขบทเฉพาะกาล โดยให้ คสช. เป็นคนเลือก ส.ว. ชุดแรกเอง ซึ่ง สนช. มากฝีมือกฎหมายรายหนึ่ง เป็นผู้ร่างข้อเสนอนี้ให้กับ กรธ. รวมไปกับข้อเสนอแนะอื่น ๆ
นัยว่าเป็นการค้ำยันอำนาจของ คสช. ภายหลัง ‘ลงจากหลังเสือ’ ?
หากเป็นเช่นนี้ บรรดา สนช. ที่อยากเข้าไปเป็น ส.ว. คงจะ ‘อุ่นใจ’ ขึ้นมากเลยทีเดียว !
และหากจำกันได้ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยปรึกษากับนายมีชัย เพื่อขอให้ ส.ว. ชุดแรกภายหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งนานถึง 10 ปี แต่นายมีชัยไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าเกิดเสียงค้านขึ้นมากมายแน่ จึงขอต่อรองเหลือแค่ 5 ปี ซึ่งปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ติดตามภายหลังวันที่ 15 ก.พ. ที่รับฟังความคิดเห็นจาก ‘แม่น้ำทุกสาย’ เสร็จสิ้นแล้ว !
อ่านประกอบ : สะพัด! สนช.ชง กรธ.ให้ คสช.เลือก ส.ว.ชุดแรก ‘สมชาย’ปัด-ขอแก้แค่ปมเลือกไขว้