ประชาชนเพื่อการปฏิรูป ประเดิมเปิดเวทีสมัชชาชาติ ฉายภาพการต่อสู้ฉบับคนจน
ประชาชนเพื่อการปฏิรูป ประเดิมเปิดเวทีสมัชชาชาติ ฉายภาพการต่อสู้ฉบับคนจน ‘แม่ สมปอง’ ลั่นผลักดันเปิดเขื่อนปากมูลให้เกิดนโยบาย ด้าน ‘สุแก้ว’ ฉะ กระบวนการยุติธรรมมองนายทุนสำคัญกว่าชาวบ้าน ‘รสิตา’ มองการขับเคลื่อนประชาชนจุดเริ่มต้นปฏิรูปประเทศ
วันที่ 24 มีนาคม สมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 จัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ประชาชน ปฏิรูป ประเทศไทย(ป.ป.ป.)” ณ ฮอลล์ 9 อิมแพค เมืองทองธานี โดยมี นางสมปอง เวียงจันทร์ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำมูล นายสุแก้ว ฟุงฟู ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบกรณีที่ดิน จังหวัดลำพูน และนางรสิตา ซุยยัง เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น
นางสมปอง กล่าวว่า ขณะนี้วิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ถูกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเข้าไปทำลาย นั่นคือ การสร้างเขื่อนปากมูล ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจาการสร้างเขื่อนที่ส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญ เสียอาชีพหาปลา ครอบครัวที่อยู่ต้นน้ำต้องถูกอพยพโยงย้าย และผลสุดท้ายทำให้ชุมนุมแตกแยก ล้มสลายในที่สุด ฉะนั้น จึงรู้สึกว่าน่าจะเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ดึงพี่น้องผู้ด้อยโอกาสให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“ที่ผ่านมารัฐพยายามยัดเยียด โครงการต่างๆ ให้กับชาวบ้าน โดยไม่เคยฟังเสียง ไม่ได้ศึกษาถึงความต้องการและวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวบ้าน ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรม ครอบครัวแตกแยก ทั้งที่ในความเป็นจริงชาวบ้านอยากอยู่อย่างมีความสุขตามธรรมชาติ”
นางสมปอง กล่าวต่อว่า คนจนไม่ค่อยมีช่องทาง หรือเวทีในการเรียกร้อง หรือสะท้อนความคิดเห็นจากผลกระทบของโครงการภาครัฐมากนัก อีกทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมาย ทำให้เราไม่ได้สนใจกฎหมาย และหันไปยึดวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง
“13 รัฐบาลที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้มีการเปิดเขื่อนปากมูล ยังไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งชาวบ้านก็จะเดินหน้าต่อไป โดยพยายามนำข้อมูลระดับล่างผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย”
ด้านนายสุแก้ว กล่าวว่า ชาวบ้านหลายคนและพี่น้องในอีกหลายภูมิภาคในประเทศไทยได้รับโทษจากการใช้ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่นเดียวกับพี่น้องทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการอยู่รอด และเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก แต่คนส่วนใหญ่และภาครัฐกลับมองที่ดินเป็นสินค้า นำไปออกเอกสารสิทธิ์กับนายทุน และปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า
“คนส่วนใหญ่ของประเทศถือครอง ที่ดินอยู่เพียง 10% แต่คนส่วนน้อยของประเทศกลับถือครองที่ดิน 90% และปล่อยให้ต่างชาติมาเช่าที่ดิน ชาวบ้านและคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จึงไม่มีที่ดินทำกิน พอเข้าไปทำมาหากินเลี้ยงลูกหลาน เลี้ยงประเทศในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ก็ได้รับผลกระทบ อย่างผมขณะนี้เป็นนักโทษโดนคดี 43 คดีแล้ว”
นายสุแก้ว กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันนี้ไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับพี่น้อง ไม่มองชาวบ้าน กลับไปมองปัจเจก มองนายทุนสำคัญกว่าชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ที่ดินเป็นของปู่ย่าตายยาย
“แม้ ความหวังของเราจะดูริบหรี่ แต่ก็ดีกว่าไม่มีความหวังเลย โอกาสในการมาพูดครั้งนี้เปรียบเหมือนแสงเทียนที่จะใหญ่และต่อยอดขึ้นไป เรื่อยๆ จะต้องร่วมมือกันให้การปฏิรูปประเทศครั้งนี้มีความหวังมากขึ้น”
ขณะที่นางรสิตา กล่าวว่า จากการล่าอาณานิคมอังกฤษ ส่งผลให้พื้นที่หมู่บ้านสวนพลู ต.บกเบี้ยน จ.เกาะสอง ในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ในเขตประเทศพม่า แต่บรรพบุรุษเกิดในชุมชนบกเบี้ยน เขตเมืองตะนาวศรี ราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันแต่ต่างเวลา ต่างเงื่อนไข จึงส่งผลให้เป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด
“ตั้งแต่เกิดมาการใช้ชีวิตเหมือนคนไทยทุกอย่าง ทั้งสภาพแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม ถึงแม้เราจะพยายามให้ทางการช่วยเหลือ แต่ราชการมักบอกว่าให้อยู่เฉยๆ แล้วเดี๋ยวจะช่วยเอง แต่ก็ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ จนปี 45 เรารวมตัวกันพูดคุย และเริ่มลงมือดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของตัวเอง”
นางรสิตา กล่าวต่อว่า การตรวจสอบเริ่มจากการศึกษาข้อมูลส่วนตัวว่าต้นตระกูลมีที่มาอย่างไร เกิดที่ไหน หลังจากนั้นมีการรวมตัวพูดคุยกัน จนทราบว่าคนไทยพลัดถิ่นอาศัยกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ถึง 35 พื้นที่ ซึ่งมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อให้มีโอกาสได้พูดคุยกันแลกเปลี่ยนปัญหาความคิดเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนเกิดการพยายามร่างกฎหมาย สำหรับคนไทยพลัดถิ่นขึ้น
“ถ้าถามว่ากระบวนการทำงานของเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น คือรูปแบบหนึ่งของการปฏิรูปหรือไม่ โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่านี่แหละคือการปฏิรูป แต่อาจจะเป็นภาพเล็กๆ เป็นประเด็นเฉพาะ แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งระดับประเทศและสากล ล้วนเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จากคนเล็ก คนน้อย แล้วค่อยถักทอเป็นภาพใหญ่” นางรสิตากล่าว