3 พันล.! โชว์รายได้ล่าสุด 'บ.ไทยธุรกิจฯ' ก่อนถูกร้องสอบปมบัตรสินเชื่อเกษตรกร
เปิดตัว'บ.ไทยธุรกิจฯ' ในเครือ ธ.ก.ส. ก่อนถูกร้องสอบปมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร -โชว์รายได้ล่าสุด 3 พันล้าน
บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ TABCO กำลังถูกจับตามอง
เมื่อ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีให้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด (TABCO) เนื่องจากเกิดปัญหาเรื่องการส่อทุจริตในโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรและดำเนินงานของ ธ.ก.ส.
โดยกรณีนี้เกิดจากที่ได้ยื่นกระทู้ถามถึงนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เรื่อง ความผิดปกติและพฤติการณ์ส่อทุจริตในโครงการดำเนินการจัดทำบัตรสินเชื่อเกษตรกรจำนวน 4.2 ล้านใบ ซึ่งมีราคาแพงกว่าท้องตลาดโดยทั่วไปและไปจัดทำจากต่างประเทศ อีกทั้งมีข้อจำกัดว่าบัตรสินเชื่อเกษตรกรดังกล่าว สามารถใช้รูดซื้อสินค้าเฉพาะอุปกรณ์การเกษตรในร้านค้าร่วมของบริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด ที่ ธ.ก.ส. ถือหุ้นอยู่เท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 ทุนปัจจุบัน 120,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 21/115 ซอยงามวงศ์วาน 47 (ชินเขต 2) แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไป
ปรากฎชื่อ นาย อดุลย์ กาญจนวัฒน์ และนาย สมเกียรติ สิทธิชัยพร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย ชวลินทร์ สายหล้า นาย ผลึก อาจหาญนาย จิตตพัฒน์ ประสิทธิศุภการ นาย สำเนียน พันหล่อมโส นาย สินสมุทร คงประโยชน์ และนาย สมโชค จันทร์ใหม่ ร่วมเป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ถือหุ้นใหญ่สุด 120,000 หุ้น มูลค่า 12,000,000 บาท หุ้นที่เหลือกระจายตัวอยู่ใน สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) 24 จังหวัดทั่วประเทศ
ล่าสุดนำส่งงบการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้จากการขาย 3,803,009,614.07 บาท รายได้อื่น 3,247,959.52 บาท รวมรายได้ 3,806,257,573.59 บาท
ส่วนรายจ่าย มีต้นทุนสินค้าที่ขาย 3,734,051,729.26 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 24,368,423.08 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 30,816,541.93 บาท รวมรายจ่าย 3,789,236,694.27 บาท กำไรสุทธิ 2,669,097.71 บาท
ข้อมูลจากเว็บไซต์ บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด (http://www.tabco.co.th/web2015/tabco.asp) ระบุที่มาของบริษัทฯ ว่า จากข้อมูลตัวเลขรายได้ประชาชาติของประเทศไทยปรากฏอย่างชัดเจนและต่อเนื่องว่า รายได้ของภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนน้อยกว่ารายได้ของภาคนอกเกษตรกรรม และประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในชนบท โดยอาศัยเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) โดยผ่านสาขาของ ธ.ก.ส. ตามจังหวัดต่างๆ สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารรัฐบาลได้ให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่ปี 2509
ต่อมาในปี 2523 ธ.ก.ส. ได้ให้บริการสินเชื่อในรูปของวัสดุอุปกรณ์และบริการทางการเกษตรร่วมกับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดหาวัสดุอุปกรณ์และบริการทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ยุติธรรม จนกระทั่งปี 2532 ทาง ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยการดำเนินงานดังกล่าวของ ธ.ก.ส. พบว่า เกษตรกรร้อยละ 95 ต้องการใช้วัสดุอุปกรณ์การเกษตรภายใต้ระบบการให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส. ต่อไป เพราะเกรงว่า หาก ธ.ก.ส. ไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าว ทางเกษตรกรจะถูกเอารัดเอาเปรียบ เรื่องราคาและคุณภาพของปัจจัยการผลิตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันทาง ธ.ก.ส. กลับพิจารณาเห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ของสถาบันเกษตรกรที่จะดำเนินการด้วยตนเอง เพราะเป็นผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยตรง
ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ( สกต. ) ขึ้นในระดับจังหวัด จำนวน 64 สหกรณ์ โดยเริ่มดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก และจนถึงปัจจุบัน มี สกต. ดำเนินงานให้บริการแก่เกษตรกรครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยขอบข่ายหน้าที่ของ สกต. คือ ดำเนินการทั้งธุรกิจซื้อ ธุรกิจขาย และบริการต่างๆ ให้แก่เกษตรกรสมาชิก กล่าวคือ สกต. จะเป็นตัวแทนสมาชิกจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตร หรือ สินค้าอุปโภคบริโภค และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ให้แก่สมาชิก ตลอดจนรวบรวมผลิตผลการเกษตรเพื่อจำหน่าย รวมถึงจัดหาบริการทางการเกษตรอื่นๆ เช่น การขนส่ง การขุดบ่อน้ำ เป็นต้น โครงสร้างของ สกต. นั้น แม้จะเป็นสหกรณ์ในระดับจังหวัด แต่ได้ขยายสาขาออกไปในระดับอำเภอและหน่วยบริการสมาชิกในระดับหมู่บ้านหรือตำบลด้วย ส่วนในระดับประเทศนั้น ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับ สกต. ทั่วประเทศ จัดตั้ง บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ TABCO ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานของ สกต. ทั่วประเทศ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ในการรวมกันซื้อ รวมกันขาย รวมทั้งการให้บริการเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร
"TABCO" เริ่มขึ้นจากแนวความคิดของบรรดา สกต. ทั้ง 64 สหกรณ์ ที่มีความเห็นตรงกันว่า ถ้าหากมีองค์กรกลางของตนเอง ที่สามารถทำการแทนสมาชิกในรูปของบริษัทจำกัด โดยรวบรวมความต้องการของ สกต. ทั่วประเทศ ก็จะเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ TABCO จึงได้รับการจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมี สกต. เป็นผู้ถือหุ้น 90% และได้เชิญ ธ.ก.ส. เข้าถือหุ้นด้วย 10% ต่อมาได้มีการเพิ่มทุนเพื่อให้ สกต. ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เข้าถือหุ้นอีก 20 ล้านบาท โดย TABCO ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสนับสนุนกิจการของ สกต. ทั้งด้านธุรกิจซื้อ-ขายและบริการ
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวย้ำว่า บัตรสินเชื่อดังกล่าวจะสามารถซื้อของหรือปัจจัยการผลิตเฉพาะในบางยี่ห้อที่ในร้านค้าร่วมของ TABCO สั่งเข้ามาจำหน่ายได้เท่านั้น และไม่สามารถนำไปซื้อสินค้าหรือปัจจัยการผลิตอื่นที่เกษตรกรต้องการ แต่ TABCO ไม่ได้สั่งซื้อเข้ามาจำหน่ายได้ โดย ธ.ก.ส. ให้ TABCO จัดซื้อหาปุ๋ยซึ่งมีเฉพาะปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว ไม่มีการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเกิดข้อกังขาว่าการจัดซื้อจัดจ้างมาได้โดยวิธีใด และยังพบภายหลังว่า เป็นปุ๋ยเคมีที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และด้อยคุณภาพ
“ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งสองหน่วยงานนี้ทำงานไม่สนองนโยบายรัฐบาล จึงขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบ ให้เกิดความชัดเจนทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกร ซึ่งถือเป็นรากฐานหลักของประเทศไทย ในการนำพาโครงการของรัฐบาลไปสู่ความสำเร็จและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าปราศจากการทุจริตในเชิงนโยบายและการทุจริตในเชิงธุรกิจต่อไป"
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอฟังคำชี้แจงจาก ธ.ก.ส. และ บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด แบบชัดๆ อีกครั้ง