ความหวังสื่อรากหญ้า “วิทยุชุมชนไทย” ในกระแสทุน
เร็วๆนี้ กสทช.ไฟเขียวต่อใบอนุญาตชั่วคราวยืดลมหายใจวิทยุชุมชน 6,001 สถานี ระหว่างรอแผนแม่บทจัดสรรคลื่นคลอดปีหน้า… “สื่อรากหญ้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ไม่มีโฆษณา” จะดำรงอยู่อย่างไรในกระแสทุน ไปฟังทัศนะที่น่าสนใจ
สัมมนาเชิงปฏิบัติการการสร้างเสริมศักยภาพในการสื่อสารของวิทยุชุมชนที่จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อเร็วๆนี้ มีวิทยุชุมชนกว่า 20 สถานีทั่วประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เวทีหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากทุกคนคือการอภิปราย “กสทช. กับความหวังใหม่วิทยุชุมชนไทย” โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในแวดวงสื่อภาคประชาชน
"ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา" รวบรวมมุมมองและความคิดเห็นมานำเสนอ…
“ใบอนุญาตถาวร กับทิศทางการพัฒนาวิทยุชุมชน”
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าสิ่งแรกที่ กสทช.กำลังทำคือเตรียมแผนแม่บทกิจการวิทยุโทรทัศน์ เพื่อกำกับดูแลสื่อของรัฐโดยให้มีการลงทะเบียนใหม่ และนำคลื่นไปทำเป็นบริการสาธารณะ ในส่วนของวิทยุชุมชนก็ต้องอยู่ภายใต้แผนแม่บทใหม่นี้ ซึ่งเมื่อคลอดออกมาแล้วจึงจะเริ่มกระบวนการจัดสรรคลื่น รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น อะไรคือคลื่นธุรกิจ อะไรคือคลื่นบริการสาธารณะ อะไรคือวิทยุชุมชน
“อาจใช้เวลาถึง 1 ปี ถึงเวลานั้นจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับวิทยุชุมชน รวมทั้งเข้าสู่กระบวนการจัดสรรคลื่น ออกใบอนุญาต”
6 พันสถานี เฮ! ได้ต่อลมหายใจอีกครั้ง…
กก.กสทช. กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศระหว่างที่รอ กสทช.ร่างแผนแม่บท ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้คณะกรรมการชุดเล็กฝั่งกระจายเสียงและโทรทัศน์ หรือ กสท.มีมติขยายเวลาทดลองออกอากาศให้กับ 6,601 สถานีวิทยุชุมชน ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทดลองออกอากาศชั่วคราวจากรักษาการกสทช.ก่อนหน้านี้ออกไปอีก 300 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.55
จัดระเบียบคลื่นรัฐ-ดึงสื่อท้องถิ่นสู่ยุคดิจิตอล…
สุภิญญา ยังกล่าวว่า วิทยุชุมชนไม่ว่าจะเป็นการประมูลหรือจัดสรรคลื่นใหม่ หรือการเดินไปสู่ดิจิตอลจะต้องรอแผนแม่บท 3 ฉบับก็คือ แผนบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทวิทยุโทรทัศน์และแผนแม่บทโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช.จะเดินสายทุกภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยคนทำงาน
“ภายใน 4 ปีต้องมีเกณฑ์ทำให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ ต้องมีการลงทะเบียนแยกประเภทคลื่นประชาชนในสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเบื้องต้นก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลภายในกี่ปี ถ้าเปลี่ยนเครื่องส่งทั้งระบบ ประชาชนก็ต้องเปลี่ยนเครื่องรับทั่วประเทศ อาจจะไม่ง่ายแต่ถ้าทำได้ โทรทัศน์ภาคประชาชนเกิดขึ้นแน่นอน การเข้าสู่ระบบดิจิตอลจะทำไห้เกิดคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน หรือคลื่นท้องถิ่น และสิ่งดีๆตามมามากมาย”
“เสียงสะท้อนจากวิทยุชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน”
วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึง 1 ทศวรรษที่ล้มลุกคลุกคลานของสื่อวิทยุชุมชน ว่าวิทยุชุมชนเกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญปี2540 ในยุคแรกๆถูกจับตามองจากทั้งคนภาครัฐและสื่อธุรกิจว่าชาวบ้านจะทำวิทยุเองได้หรือ จัดรายการเป็นหรือ บริหารได้หรือ แต่จนถึงวันนี้วิทยุชุมชน ได้รับการยอมรับทางสังคมมากขึ้น เพราะผ่านการพิสูจน์ชัดเจนว่าชาวบ้านบริหารจัดการคลื่นได้ และทำรายการที่มีประโยชน์กับท้องถิ่น
“ทุกวันนี้พระเองก็อยากมาเปิดวิทยุชุมชน ธุรกิจก็อยากมีวิทยุชุมชน แม้แต่ กอ.รมน.หรือทหารก็อยากตั้งวิทยุชุมชน แสดงว่าวิทยุชุมชนมีบทบาทมากขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นถึงระดับชาติก็ใช้วิทยุชุมชนหาเสียงสร้างฐานคะแนน แม้แต่การต่อสู้ทางการเมืองเหลือง-แดงก็มีวิทยุชุมชนเต็มไปหมด แต่วิทยุชุมชนหลายแห่งก็ยึดมั่นที่จะทำหน้าที่สื่อท้องถิ่นที่ดี”
นโยบายกรมประชาสัมพันธ์จุดเปลี่ยนด้านลบ-ผลกระทบวิทยุชุมชน…
เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่าขณะเดียวกันวิทยุชุมชนก็ถูกมองด้านลบจากการเกิดขึ้นของสถานีออกอากาศราวกับดอกเห็ด สายตาผู้คนในสังคมมองวิทยุชุมชนเป็นเพียงกลุ่มคนขายสินค้า ขายโฆษณาและเป็นพื้นที่ที่นักการเมืองเอาใช้เป็นเครื่องมือ
“เจตนาเดิมวิทยุชุมชนเกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือชาวบ้านในการพูดคุยสื่อสารกัน ปี 2545 มีวิทยุชุมชน 100 กว่าสถานีในเครือข่ายสหพันธ์ ต่อมาปี 2547 ที่นโยบายกรมประชาสัมพันธ์เปิดให้มีโฆษณาและมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นอีกกว่า 4 พันกว่าสถานี แต่มีวิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณาเลยไม่ถึงร้อยสถานี นโยบายตรงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ”
วิชาญ กล่าวอีกว่า ภาพลักษณ์วิทยุชุมชนที่เป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านต้องเสียหาย เพราะถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ ถูกใช้โจมตีทางการเมือง นำไปโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ทุกวันนี้สังคมจึงยังคงตั้งคำถามว่าวิทยุชุมชนดีจริงหรือเปล่า ซึ่งส่งผลกระทบไปยังชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“วันนี้วิทยุชุมชนที่อยู่ได้โดยไม่มีโฆษณาต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชน เช่น ชาวบ้านบริจาคหรือทอดผ้าป่ามาช่วย พอภาพลักษณ์เสียคนที่จะควักกระเป๋าไปช่วยค่าน้ำค่าไฟก็ไม่อยากให้ เพราะไม่แน่ใจว่าดีจริงหรือเปล่า อีกทั้งโดนเบียดจากคลื่นธุรกิจที่มีกำลังส่งสูงกว่า วันนี้วิทยุชุมชนแท้ๆเพื่อชาวบ้านกำลังอยู่ไม่ได้ สื่อท้องถิ่นมีสภาพง่อนแง่นเต็มที”
แนะ กสทช.เร่งจัดระเบียบวิทยุธุรกิจ อย่าให้ล้ำเส้นเบียดสื่อชาวบ้าน…
“กสทช.มีงบเยอะแยะแต่ไม่ลงมาถึงชุมชน ไม่ลงมาปกป้องวิทยุชุมชนที่ถูกภาคธุรกิจเข้ามาเบียดเบียน 4-5 ปีที่ผ่านมาพอมีการประชุมก็เชิญผู้ประกอบการทั้งประเทศเข้ามาโดยไม่ได้แยกแยะว่าใครทำจริง ใครหาประโยชน์ ก็เกิดการโต้เถียงกันแต่เรื่องโฆษณาได้หรือโฆษณาไม่ได้”
วิชาญ บอกอีกว่า กสทช.ควรสร้างหลักเกณฑ์เฉพาะเป็นด้านๆไป ใครประกอบการสาธารณะบริการชุมชนก็ควรทำหลักเกณฑ์ขึ้นมาอีกแบบ ใครเข้ามาเพื่อทำธุรกิจควรใช้หลักเกณฑ์อีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่เหมือนกันทั้งประเทศ และควรกำหนดกำลังส่งคลื่นธุรกิจให้ชัดเจนจะได้ไม่มาเบียดคลื่นบริการสาธารณะ เพราะผู้ได้รับผลกระทบคือวิทยุชุมชนแท้ๆที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ขอเสนอตั้งกองทุนสนับสนุนวิทยุชุมชนแท้ๆให้อยู่รอดได้ เพราะถ้าไม่ดูแลกัน ต่อไปสื่อเพื่อท้องถิ่นก็จะหายไปไม่เหลือ
“แนวคิดเรื่องการจัดผังรายการสถานีวิทยุชุมชน”
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ สะท้อนมุมมองว่าคนทำงานวิทยุชุมชนแท้ๆต้องมีความเชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทางแล้ว ดังสุภาษิตที่ว่าท้องเนื้อแท้ไม่กลัวไฟ เส้นทางวิทยุชุมชนขนานแท้ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นการดำรงอยู่เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้การจัดผังรายการที่ดีจะเพิ่มเรตติ้งผู้ฟังแล้ว ผังรายการวิทยุชุมชนต้องสะท้อนภาพความเป็นชุมชน ไม่ใช่สะท้อนภาพตัวผู้จัด แต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสถานี ต้องมีการเก็บบันทึกรายการ การผลิตรายการต้องมีคุณภาพ ต้องทำให้คนฟังมีส่วนร่วมและรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยุชุมชนนั้นๆ
“วันนี้ต้องยอมรับว่าวิทยุชุมชนแท้ๆยังอยู่ค่อนข้างยาก เพราะมีคลื่นธุรกิจเกิดขึ้นมาก รวมทั้งการเกิดขึ้นของวิทยุอินเตอร์เน็ตหรือทีวีดาวเทียม สารพัดคู่แข่ง วิทยุชุมชนสู้เขาไม่ได้ถ้าไม่พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการนำเสนอ ต้องสร้างสาระ สร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น แม้ว่าอนาคตยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน แต่ต้องอดทนถ้าไม่ใช่ทองเนื้อแท้เส้นทางข้างหน้าจะลำบาก”
จริยธรรมวิชาชีพสื่อเครื่องมือสร้างความเชื่อถือต่อสังคม….
ในฐานะประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ยังกล่าวถึงจรรยาบรรณสื่อท้องถิ่น ว่าวิทยุชุมชนเป็นสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพ ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือการเปิดเพลงให้คนฟังต้องคำนึงถึงจริยธรรม มีอาชีวะปฏิญญาคือให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนว่าจะประกอบอาชีพภายใต้มาตรฐานอะไร แม้ว่ามาตรฐานไม่เท่ากันแต่ให้คำนึงถึงสิ่งที่ทำอยู่ ต้องคิดว่าผู้ฟังเป็นสมาชิกในครอบครัว ถ้าทำได้แบบนี้จะเกิดพลังสนับสนุนตามมามากมาย
“อาชีวะปฏิญญาเป็นคำที่น่าภาคภูมิใจเพราะใช้กับคนที่ประกอบอาชีพที่มีบทบาทต่อสังคม เช่น ทนายความ สื่อมวลชน ถ้าคิดว่าผู้รับสารเป็นคนในครอบครัวเราจะทำสิ่งนั้นกับเขาหรือไม่ ตรงนี้เป็นบรรทัดฐานให้คนทำงานสื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคม สื่อที่รวมตัวกันเป็นองค์กรภายใต้จริยธรรมที่ดีก็สามารถได้รับการสนับสนุนในการพัฒนา” ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ทิ้งท้าย
..................................
สื่อท้องถิ่นในนามของ “วิทยุชุมชนไทย” ปัจจุบันมีเกือบ 7,000 สถานี ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีใครจัดระบบแยกแยะว่าเป็น “วิทยุชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน และไม่มีโฆษณา” วันนี้องค์กรใหม่ในนามของ กสทช.ดูจะเป็นความหวังของ “วิทยุชุมชนทองเนื้อแท้” ที่ต้องจับตากันต่อไป .