สพม. จี้ชุมชนสร้าง ปชต.รากหญ้า เป็นยาหม้อใหญ่แก้วิกฤติ ปท.
ประธาน สพม.ชี้ประชาธิปไตยหวังพึ่งรัฐธรรมนูญ-นักการเมืองไม่ได้ ต้องทำรากหญ้าเข้มแข็ง ตัวแทนชุมชนโชว์รูปธรรมการเมืองภาคพลเมือง ระบบคุ้มสู่ประชาคมหมู่บ้านกลาง อยุธยา-จัดการสิ่งแวดล้อมที่เปร็ดใน ตราด-สานเครือข่ายตำบลที่บ้านยางทอง อ่างทอง
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) จัดสัมมนา “ถอดบทเรียนชุมชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” โดย ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธาน สพม. กล่าวว่าขณะนี้มีพื้นที่ต้นแบบที่พัฒนากระบวนการประชาธิปไตยชุมชนหลายแห่ง ส่วนใหญ่มีปัจจัยความสำเร็จจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เกิดจากกระบวนการคิดวิเคราะห์เลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ดังนั้นการถอดบทเรียนชุมชนเหล่านี้ไปยังพื้นที่อ่อนแอให้มีโอกาสจะช่วยขยายวงความเข้มแข็งฐานราก
“รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาหม้อใหญ่ในการแก้ปัญหา และนักการเมืองก็เคลื่อนตัวช้าเกินไปที่จะทำให้ประชาธิปไตยพัฒนา สิ่งที่แก้ปัญหาได้แต่หลายคนมองข้ามคือชุมชน ซึ่งเมื่อใดที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยรากหญ้าแข้มแข็งได้ต่อไปไม่ต้องกังวลว่าจะรวมพรรคการเมืองไหม หรือสัดส่วนสส.ต้องเท่าไหร่”ศ.ดร.สุจิต กล่าว
นายปรีชา มั่นศีล ตัวแทนจากพื้นที่บ้านทางกลาง ต.ทางกลาง อ.บางประหัน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าปัญหาที่พบคือการประชาคมพูดคุยที่ไม่ทั่วถึง เนื่องจากชาวบ้านยังไม่เห็นความสำคัญ ทำให้อำนาจการตัดสินใจตกอยู่ที่ผู้ใหญ่บ้านเบ็ดเสร็จ จึงเกิดแนวคิดกระจายอำนาจแบ่งการจัดการในลักษณะคุ้มที่มีอัตลักษณ์ต่างกัน 4 คุ้ม ประกอบด้วยคุ้มทางกลางพัฒนา ประชาร่วมใจ ไทยอบอุ่น และชุมชนพอเพียง มีผู้นำจัดประชุมแล้วนำข้อสรุปที่ได้มาประชาคมรวมในหมู่บ้าน
“คือการใช้หลักประชาธิปไตยให้ทุกคนมีโอกาสเสนอความคิด ข้อสรุปไม่ได้เกิดจากการคิดของคนเดียว แต่เกิดตั้งแต่ระดับครัวเรือน คุ้ม จนถึงหมู่บ้าน โดยมีวัด-โรงเรียนประสานความสัมพันธ์”นายปรีชา กล่าว
นายอัมพร แพทย์ศาสตร์ ตัวแทนชุมชนบ้านเป็ดใน ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด กล่าวว่าประชาธิปไตยฐานรากเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการแก้ปัญหาในมิติอื่นๆไม่เฉพาะการเมือง โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรที่มีเรื่องของทุนและอำนาจมาเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจของชุมชน หากไม่แข้มแข็งชัดเจนก็ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการแก้ปัญหาได้
นายอัมพร กล่าวถึงรูปธรรมในการจัดการปัญหาของพื้นที่ว่า ชุมชนล่มสลายจากการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตกรรมมาทำนากุ้ง ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่ทำให้ชุมชนเกิดหนี้กว่า 30 ล้านบาท สูญเสียที่ดินจำนวนมากให้นายทุน แหล่งน้ำเน่าเสียไม่สามามารถทำมาหากินอย่างอื่นได้ จึงเกิดแนวคิดตั้งกติการ่วมกันโดยใช้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นแกนหลัก หามติร่วมในที่ประชุมตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรหมู่บ้านขึ้น ให้ชาวบ้านมาร่วมเขียนกติการ่วมกันว่าใครทำนากุ้งต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้คณะกรรมการอนุรักษ์ฯ สอดส่องดูแล ตั้งกลุ่มกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์หาทุนประกอบอาชีพแก่ปัญหาเบื้องต้นให้ชาวบ้านก่อน พร้อมกับร่างระเบียบฟื้นฟูป่าชายเลนที่ถูกบุกรุก ปัจจุบันได้ป่าชายเลน 12,000 ไร่คืนมาเรียบร้อย
“ตอนแรกคณะกรรมการหมู่บ้านแก้ไขปัญหาป่าชายเลนเสื่อมโทรมด้วยการปิดป่า ถูกต่อต้านเพราะชุมชนรอบข้างเดือดร้อน เป็นบทเรียนว่ากระบวนการใดก็ตามที่เป็นเรื่องของชาวบ้าน ผู้นำห้ามคิดคนเดียวต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย”ตัวแทนชุมชนเปร็ดใน กล่าว
นางวันเพ็ญ ทับจันทร์ ตัวแทนบ้านยางทอง ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง กล่าวว่าการสร้างประชาธิปไตยชุมชนใช้คณะกรรมการหมู่บ้าน, ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน และสภาวัฒนธรรมตำบลเป็นเครื่องมือประสานความร่วมมือ ผ่านกิจกรรมเวทีชวนคิด ชวนพูด ชวนทำ ให้ทุกคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปทำแผนชุมชนและพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกับท้องถิ่น เชื่อมโยงเครือข่าย 8 หมู่บ้านเป็นระดับตำบล
ทั้งนี้มีการถอดบทเรียนจากพื้นที่ในประเด็นการเชื่อมโยงสวัสดิการและวิสาหกิจชุมชนสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดยนายสุรินทร์ อินทร์เลิศ นำเสนอผลการระดมความคิดเห็นว่าพื้นที่สามารถจัดการทั้ง 2 ประเด็นอย่างเชื่อมโยง ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการทำสวัสดิการแล้วขยายไปเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่สอดประสานในแง่ของการเป็นกลไกรวมกลุ่มระดมทรัพยากรให้เกิดการร่วมทำงานแก้ปัญหาของชุมชน
“บทบาทของผู้นำในพื้นที่สำคัญมาก พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จผู้นำต้องมีศักยภาพในการทำความเข้าใจ เข้าถึงและรู้ปัญหาดี ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการและผู้นำธรรมชาติ ที่สำคัญต้องได้รับการหนุนเสริมจากฝ่ายการเมืองท้องถิ่นและราชการภูมิภาคในลักษณะภาคีไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา”
นายสุรินทร์ กล่าวด้วยว่าในมุมมองเชิงพื้นที่ความเข้มแข็งของชุมชนสามารถสร้างอำนาจพลเมืองที่ช่วยขจัดปัญหา ลด ละ การซื้อสิทธิ์ขายเสียงและระบบอุปถัมภ์ที่ครอบงำสังคมได้ อย่างไรก็ตามบทเรียนทั้งหมดมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และที่ยังติดขัดจำนวนไม่น้อย การขยายฐานเครือข่ายตั้งแต่ระดับหมู่บ้านให้ไกลถึงระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ คือคำตอบสุดท้ายที่จะบอกว่าประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจริง.