รับ-หนุน-ต้าน-คว่ำ ? ท่าที 4 ขั้วการเมือง ก่อนเข้าโค้ง ประชามติ
หลังมีการเผยแพร่ร่างแรกรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาเมื่อ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายก็เรียงหน้ากันออกมาตามความคาดหมาย
ช่วงต่อจากนี้แม่น้ำ 4 สายคือคณะรัฐมนตรี-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ-สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนฝ่ายต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วน หากต้องการเสนอความเห็นการร่างรธน.ไปยังกรธ.อย่างเป็นทางการ ก็ต้องทำภายในไม่เกิน 15 ก.พ. เพราะหลัง 15 ก.พ.ไปแล้ว กรธ.ก็จะนำข้อเสนอทั้งหมด มาพิจารณาว่าจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยน แก้ไข เพิ่มเติมร่างแรกรธน.ในประเด็นใดบ้าง
ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอย่างไรเสีย กรธ.ก็คงต้องมีการปรับแก้ไขในบางส่วนไม่มากก็น้อย ก่อนที่จะได้ร่างสุดท้ายออกมาภายในไม่เกิน 29 มี.ค. เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งให้นำร่างไปลงประชามติในปลายเดือนก.ค.ปีนี้
การลงประชามติครั้งนี้ เสียงที่จะตัดสินว่าประเทศไทยจะมีรธน.ฉบับที่ 20 ที่ร่างโดยกรธ.มาบังคับใช้หรือไม่ ก็คือ เสียงประชาชนทั้งประเทศ แต่เพื่อให้พอมองเห็นทิศทางการเมืองในช่วงรณรงค์ประชามติ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่าทีของพรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้การณรงค์ประชามติ มีความเข้มข้น ก่อนที่ประชาชนจะออกเสียงว่าจะ”รับหรือคว่ำ”ร่างรธน.
ทีมข่าวจึงโฟกัสไปที่ “4 ขั้วการเมือง” สำคัญที่มีสมาชิกพรรค ฐานเสียงพรรคอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสำรวจให้เห็นท่าทีของ 4 ขั้วการเมืองดังกล่าว ว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับร่างแรกรธน.ที่จะส่งผลไปถึงการร่างรธน.ออกมาเป็นร่างสุดท้าย และในช่วงการรณรงค์ประชามติ อันประกอบไปด้วย
“พรรคเพื่อไทย-นปช.คนเสื้อแดง” ที่เป็นหน่อเนื้อเดียวกันทางการเมือง เช่นเดียวกับ ”พรรคประชาธิปัตย์-กปปส.”
นปช.ปักธงคว่ำสถานเดียว เชื่อพลังอดีตส.ส.ทำได้ตามเป้า
เริ่มจาก แกนนำเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์อย่าง “นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ แกนนำนปช.-อดีตประธานนปช.ภาคอีสาน 17 จังหวัด-อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย”
ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยว่า หลังจากมีการเผยแพร่ร่างรธน.ฉบับกรธ.ออกมา ก็ได้มีการพูดคุยกับแกนนำนปช. และมวลชนคนเสื้อแดงหลายคน รวมถึงพวกอดีตส.ส.เพื่อไทยจำนวนไม่น้อย ทั้งหมดต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า จุดยืนตอนนี้ยังชัดเจนเช่นเดิม เมื่อกรธ.ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วผิดเพี้ยนไปจากหลักการประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถรับได้
ที่เราคุยกันก็เห็นว่าสิ่งที่กรธ.ออกแบบมาหลายเรื่องรับไม่ได้เช่นเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ออกแบบมาโดยทำให้เกิดการเอาเปรียบ ขโมยอำนาจประชาชน เพราะประชาชนเขาไปใช้สิทธิ์เลือกส.ส.เขตแล้วจะเอาไปคิดหาสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อได้อย่างไร ในเมื่อหลักการต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แล้วพอไปลงเขตแล้วไม่ได้ แต่กลับเอาคะแนนที่แพ้มาคิดหาส.ส.บัญชีรายชื่อ มันผิดกติกาของบ้านเมือง การเมืองต้องมีแพ้มีชนะ คนที่แพ้ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ความหมาย มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากคนที่ชนะทำไม่ดี มาลงเลือกตั้งรอบหน้าคนเขาก็ไม่เลือกกลับเข้าไป
ส่วนเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ทำไมไม่เขียนให้ระบุชัดไปเลยว่าให้มาจากส.ส. ระบบการเลือกตั้งที่เขียนออกมาจะทำให้หลังการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งระบบนี้เคยก่อปัญหามาแล้ว บ้านเมืองเสียหายเพราะมัวแต่ขัดแย้งกันในพรรคร่วมรัฐบาล เทียบกับตอนหลังใช้รธน.ปี 40 ไม่ได้ที่ทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างมาก ทำให้บ้านเมืองเจริญ แต่ตอนนี้กลับจะไปย้อนกลับไปสมัยเก่าอีก
เช่นเดียวกับเรื่องที่มาสว.ที่ไม่ยอมให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มาบอกว่าให้มาจากการเลือกทางอ้อม แต่ดูแล้วก็เป็นลักษณะไม่ต่างจากแต่งตั้งอยู่ดี คนที่เข้าไปก็ไม่ได้เป็นสว.ที่มาจากตัวแทนประชาชนทั้งหมด สว.ต้องให้มาจากตัวแทนปวงชนชาวไทย ในร่างรธน.ฉบับนี้ให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป ควรเคารพอำนาจประชาชนที่เลือกทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาบริหารบ้านเมือง ก็ต้องให้ทั้งสองฝ่ายมาบริหารบ้านเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ใช่เอาใครก็ไม่รู้มาตักเตือน ควบคุม ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ
อีกประเด็นสำคัญที่คนเสื้อแดงเห็นว่า เขียนออกมาแล้วมีปัญหามากก็คือหมวดว่าด้วยเรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรธ.วางหลักการไว้ให้ทำได้ยากมาก ที่ให้พรรคการเมืองที่มีส.ส.เกิน 10 คนต้องออกเสียงอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ หากได้เสียงไม่ครบ มีการไม่ออกเสียง ก็แก้ไขเพิ่มเติมอะไรไม่ได้เลย เรื่องนี้สำคัญมาก
“แกนนำคนเสื้อแดง” กล่าวว่า จากร่างที่ปรากฏ กรธ. เขียนเหมือนหลอกประชาชน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการระบุให้ชัดเจนถึง สิทธิประชาชน อันแตกต่างจากรธน.ในอดีต ไม่มีการเขียนระบุถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เอาไว้
“ สรุปว่าเป็นร่างรธน.ที่รับใช้เผด็จการ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปรับ เป็นร่างฉบับโกงประชาชน ถ้าไม่แก้ไขในร่างสุดท้าย ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในตอนลงประชามติ เพราะขืนไปรับแล้วมีการเลือกตั้ง รัฐบาลเข้ามาก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเกิดรัฐประหารอีก ทหารก็เอาแต่ผลประโยชน์ มาเขียนกติกาในร่างรธน.เพื่อทำให้เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายในอนาคตก็จะเป็นข้ออ้างให้เข้ามาหาอำนาจ มาฉีกรัฐธรรมนูญ ก็เป็นวังวนอุบาทว์ไม่สิ้นสุด”
เท่าที่ผมได้คุยกับเสื้อแดงหลายคนต่างบอกว่ารับไม่ได้ เพราะหากมีการเลือกตั้ง เข้าไปคนที่เข้าไปก็ไม่ได้มีอำนาจไปทำอะไรได้ บ้านเมืองก็ไม่พัฒนา ก็ให้มันคาอยู่แบบนี้ ถ้าประชามติไม่ผ่าน คสช.ก็ต้องรับผิดชอบ
ตอนนี้เราก็ต้องจับตาดูว่า ที่มีการเสนอความเห็นไปถึงกรธ.เช่นที่พรรคเพื่อไทยเสนอไปตามแถลงการณ์ หากกรธ.ไม่แก้ มันก็ไม่มีประโยชน์จะรับร่าง ถ้าร่างไม่ผ่านประชามติ คสช.กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ก็ต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามย้ำว่า หากร่างสุดท้าย ทางกรธ.ไม่มีการปรับแก้จากร่างแรกที่เพื่อไทยกับคนเสื้อแดงไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง ถึงตอนนั้นนปช.คนเสื้อแดง จะรณรงค์ให้คว่ำร่างรธน.”นพ.เชิดชัย” ตอบแบบเน้นย้ำว่า ใช่ เราจะรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เราไม่ต้องไปตั้งเวทีอะไรหรอก ปากต่อปากคนเสื้อแดง ติดต่อสื่อสารกันทางช่องทางต่างๆ ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ บอกต่อกันไปทั่วประเทศให้ไม่ต้องไปลงมติรับร่างรธน. การเคลื่อนไหวให้คว่ำร่างรธน.แม้คสช.จะไม่ยอมเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องถามว่า คสช.กลัวอะไร คสช.ใจไม่กว้างไม่เลิกเรื่องนี้ ถามว่ากลัวอะไร สองปีที่ผ่านมาคนเขาให้โอกาส มาปิดกลั้นกันแบบนี้ จะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังมากขึ้น ถ้าเขาไม่ยอม เสื้อแดงก็ทำกันในภาคประชาชน ก็คุยกันในกลุ่มไปเรื่อยๆ ปากต่อปาก เสื้อแดงส่งข่าวถึงกันเร็วมาก ไม่นานรู้เรื่องกันหมด เขาปิดกลั้นไม่ได้อยู่แล้ว
ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยแม้จะประกาศไม่รับร่างรธน.แต่ยังไม่ยอมประกาศว่าจะรณรงค์ให้คว่ำร่างรธน. เหมือนคนเสื้อแดง “นพ.เชิดชัย” ที่เป็นแกนนำนปช.และเป็นอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกตัวว่า พรรคเพื่อไทย ยังมีจุดยืนเหมือนเดิมคืออยู่บนหลักการประชาธิปไตย แต่เรื่องการให้พรรคเพื่อไทยจะมารณรงค์ เขาก็ต้องรอดูก่อนว่ากรธ.เขาจะแก้ไขตามที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไปไหม ก็ต้องดูร่างสุดท้าย ถ้าผิดจากหลักการที่พรรคเพื่อไทยเสนอความเห็นไป ก็ต้องมีท่าทีที่ชัด แต่ใจผมส่วนตัว มันต้องบอกคสช.ชัดๆ ไปเลย
"จะยื้อไม่ได้ ต้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเองเต็มที่ ทหารเขาจะได้รู้ตัวว่าต้องผ่อนผันอะไรบ้าง ไม่อยากพูดหนัก ถ้าพูดหนักก็คือ คนก็ทนไม่ได้ก็ออกมาไล่กันเอง เพราะเขาก็อยากให้บ้านเมืองกลับมาปกติ"
“แกนนำเสื้อแดง” ยังได้พูดถึงทางออกหากร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติว่า พรรคเพื่อไทยเคยมีท่าทีชัดเจนแล้วว่าให้นำรธน.ปี 40 มาประกาศใช้ แล้วก็เขียนบทเฉพาะกาลให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเขียนว่าให้ร่างกันภายในไม่เกินหนึ่งปี พอร่างกันเสร็จก็นำร่างฉบับนั้นไปลงประชามติ หากร่างผ่านประชามติก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ตามกติกาใหม่ไปเลย อันนี้ดีที่สุด หรือจะนำรธน.ปี 50 มาใช้ก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ปี 40 จะดีกว่า ถ้าทำแบบนี้ ก็รอไปอีกประมาณ 1-2 ปี แล้วได้กติกาใหม่ ช่วงนี้รัฐบาลก็แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไป แล้วทหารก็กลับเข้ากรม กอง เป็นการลงอย่างสวยงาม ไม่ควรนำรธน.ปี 57 มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอะไร มันจะยิ่งบานปลาย พลเอกประยุทธ์จะลงอย่างไม่สวย
“ถ้ากรธ.ไม่ยอมปรับแก้ พวกอดีตส.ส.เขาเคยเป็นตัวแทนประชาชน ก็คิดดูแล้วกัน แป๊บเดียว ก็สื่อถึงประชาชนคนทั่วไป หากว่าพรรคการเมืองอื่น ๆที่ไม่เห็นด้วยกับร่างของกรธ.ถ้ามาช่วยกัน ประชามติไม่ผ่านอยู่แล้ว เชื่อเถอะ” แกนนำเสื้อแดงเน้นย้ำในตอนท้าย
สปท.ปีก กปปส.เชื่อมีสิทธิ์ผ่านประชามติ
ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองที่อยู่ตรงข้ามนปช.-เสื้อแดง นั่นก็คือกลุ่มกปปส.ที่ตอนนี้เคลื่อนไหวในนามมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ทางด้านแกนนำที่ตอนนี้ไปมีบทบาทในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั่นก็คือ “วิทยา แก้วภราดัย สปท.-อดีตแกนนำกปปส.” เขาให้ความเห็นต่อร่างรธน.ฉบับนี้ว่า ในฐานะเป็นกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองใน สภาขับเคลื่อนฯ ที่ได้เคยทำหนังสือในนามกมธ.ไปยื่นต่อกรธ.ในประเด็นข้อเสนอการร่างรธน.ก่อนหน้านี้ เมื่อได้เห็นร่างทั้งฉบับแล้วพบว่า บางประเด็นไม่ปรากฏอยู่ในร่างรธน.270 มาตราดังกล่าว เช่นเรื่องที่เห็นว่าไม่ควรมีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออีกต่อไปแล้ว หรือการให้พิจารณาการออกใบเหลืองใบแดงของกรรมการการเลือกตั้ง แล้วโอนอำนาจทั้งหมดไปให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยการให้ใบเหลืองใบแดงแทนกกต.
เมื่อข้อเสนอของกมธ.ยังไม่ได้รับการพิจารณา ทางกมธ.ก็คงจะขอนัดหารือกับนายมีชัย ประธานกรธ.อีกสักครั้ง เพราะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ต้องการให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังใช้รัฐธรรมนูญต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้ตอบโจทย์การเปิดโอกาสให้คนดี คนเก่งเข้ามาทำงาน กลายเป็นที่รวมของกลุ่มธุรกิจที่ต้องการเข้ามาสู่การเมืองเช่นเพื่อหวังจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
จุดใหญ่คือเราต้องการให้มีร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับแนวทางของกปปส. มาก่อนและเป็นประเด็นที่กรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองก็เห็นด้วย จนมีการนำเสนอแนวคิดนี้ในนามกมธ.ฯส่งความเห็นไปยังกรธ. หรืออย่างเรื่องการกระจายอำนาจการปกครอง ที่ให้มีการขยายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงในจังหวัดที่มีความพร้อม
จากเท่าที่พิจารณาตัวร่างแรกรธน.ที่ออกมา พบว่าจุดอ่อนสำคัญของร่างแรกดังกล่าวคือพบว่าภาพรวมยังไม่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการปฏิรูปออกมาได้ อีกทั้งเป็นร่างที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันไว้ในร่างรัฐธรรมนูญได้ว่าการเลือกตั้งต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ตรงนี้คือจุดอ่อน เพราะเราเคยเน้นเรื่อง ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์เที่ยงธรรมให้ได้
เมื่อถามว่า เท่าที่ได้คุยกับระดับแกนนำกปปส. ด้วยกัน ประเมินสถานการณ์ร่างรธน.ฉบับนี้ต่อไปในอนาคตอย่างไร “วิทยา” กล่าวว่า ทางเราเชื่อว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงจะมีการปรับเปรุงถ้อยคำในร่างรธน.ที่จะออกมาเป็นร่างสุดท้าย เพราะขั้นตอนช่วงนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ยังไม่ใช่ร่างที่เป็นข้อยุติ แล้วข้อเรียกร้องที่ออกมาจากบางพรรคการเมืองเช่น พรรคเพื่อไทย ก็ไปมัวแต่กังวลเรื่องกระบวนการตรวจสอบองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่นองค์กรศาล ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องมากังวลกับกระบวนการตรวจสอบ การตรวจสอบต้องเป็นเรื่องหลักที่ต้องเปิดช่องให้แต่ละฝ่ายทำได้
-มีบางกลุ่มการเมือง ออกมาบอกว่าจะรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเช่นแกนนำนปช.?
ก็เป็นเรื่องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของนักการเมือง อย่าไปกังวล ความคิดเห็นตอนนี้ยังออกมาเฉพาะภาคการเมืองที่ออกมาแสดงความเห็นกัน ต้องรอฟังความเห็นประชาชนด้วยเป็นเรื่องสำคัญเพราะคนที่จะไปออกเสียงประชามติคือประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง เป็นเรื่องของประชาชน
“วิทยา-สปท.” ที่เป็นนักการเมืองมาหลายสิบปี วิเคราะห์ว่า ร่างรธน.ฉบับกรธ.มีความเป็นไปได้ที่จะผ่านประชามติ หากกรธ.มีการยอมปรับปรุงร่างในตอนเขียนร่างฉบับสุดท้าย ที่ผ่านมา ก็เห็นว่ากรธ.ก็ไม่ได้บอกว่าจะผูกขาดจะไม่ปรับปรุงแล้ว คนที่ออกมาบอกว่าไม่รับ ก็ยืนยันอยู่อย่างเดียว แต่ขอให้จับตาการสะท้อนกลับมาว่าพวกที่บอกไม่รับ อยากให้ดูว่าเขาไม่รับเพราะอะไร มีเหตุผลการอธิบายออกมาหรือไม่ในการไม่รับ
“พรรคเพื่อไทยเขาชัดเจน ว่าไม่ชอบการตรวจสอบและไม่ชอบการที่ศาลจะมีอำนาจมากขึ้น ประเด็นพวกนี้ผมเชื่อว่าประชาชนเขาคิดคนละอย่างกัน ผมมองว่ากระบวนการที่ประชาชนเขาเชื่อมั่นมากที่สุด ในระบอบประชาธิปไตยยังน่าจะเป็นศาล มากกว่านิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร ปัจจัยที่จะทำให้ร่างผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ อยู่ที่การอธิบายให้ประชาชนเข้าใจบนหลักที่เป็นจริง อย่ายืนอยู่บนผลประโยชน์ความขัดแย้งของนักการเมือง กรธ.ต้องยืนอยู่บนผลประโยชน์ประชาชนต่อการปฏิรูปการเมือง อย่าไปฟังนักการเมืองมาก”
ผมว่าต้องดูช่วงสุดท้าย ที่ออกมาตอนนี้ยังเป็นแค่ร่างแรกยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย อย่าเพิ่งบอกว่าจะรับหรือไม่รับ ช่วงนี้หลังร่างแรกออกมาแล้ว ก็เป็นช่วงการนำเสนอว่าแต่ละฝ่ายต้องการอยากได้อะไรซึ่งที่แต่ละฝ่ายนำเสนอก็ต้องนำมาให้ประชาชนได้รับทราบด้วย และการที่ยังไม่มีความชัดเจนจากคสช.ในการแก้ไขรธน.ปี 57 เพื่อรองรับกรณีร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายเขายังไม่ได้คิดว่าจะให้ทำอย่างไร จะไปให้เขาต้องคิดล่วงหน้า ต้องตอบมาล่วงหน้าก่อนก็จะเป็นการคาดคั้นมากเกินไป ต้องรอดูสถานการณ์ก่อนอย่าเพิ่งรีบกัน ตอนนี้มันรีบ ออกมาบอกว่าจะรับ ไม่รับ ทั้งที่ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย คนที่บอกไม่รับ อาจจะหน้าแตกหากสุดท้ายกรธ.เขายอมแก้ไข
พท.พร้อมชูธงคว่ำ แต่ไม่เคลื่อนอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ท่าทีของอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญคือ ”พรรคเพื่อไทย” ทาง “สามารถ แก้วมีชัย –คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย -ทีมติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย” ย้ำท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้ว่า เมื่อพรรคได้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงท่าทีของพรรคต่อร่างแรกรธน.ฉบับกรธ.ไปแล้วเมื่อ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้ก็ต้องรอดูกรธ.ที่ควรต้องนำเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายไปปรับแก้ เพราะอะไรที่ปรับแก้ได้ก่อนจะไปสู่ร่างรธน.ร่างสุดท้าย ทางกรธ.ก็ควรทำ เพราะพรรคเพื่อไทยก็มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ก็บอกไปให้กรธ.ได้เห็นว่าร่างรธน.ที่ร่างออกมา เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วจะมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนเข้ามา มันไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย และในที่สุดกลไกทั้งหลายที่เขียนไว้เช่นบอกทำเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต สุดท้ายมันก็จะกลับมาสร้างปัญหา
“ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย” ยกตัวอย่างที่บอกว่าไม่สามารถรับร่างรธน.ฉบับกรธ.ได้เช่น วิธีการเลือกตั้งที่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มันก็เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนหรือระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ก็จะไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เสียงข้างมาก ก็จะกลายเป็นรัฐบาลผสม ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งจะไม่มีความเป็นผู้นำ เพราะร่างรธน.เขียนทำให้นายกฯจะถูกกดดันจากฝ่ายต่างๆ แถมซ้ำการทำนโยบายและโครงการต่างๆ ก็จะทำไม่ได้เพราะจะถูกล็อกไว้หมดจากองค์กรอิสระที่ไปเปิดช่องให้สตง.-ป.ป.ช.และกกต.ให้ทักท้วงการทำโครงการของรัฐบาลได้ รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจวินิจฉัยมาตรา 7 เดิมได้ ในที่สุดองค์กรเหล่านี้จะมาครอบงำสถาบันที่มาจากประชาชน
ที่สำคัญร่างรธน.ก็ไปเขียนแตกต่างจากเดิมเช่นไปเขียนว่าต้องมีการออกพรบ.ว่าด้วยการเงินการคลัง คือต่อไปนี้เวลารัฐบาลจะทำเมกะโปรเจกต์เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ ก็จะถูกกฎหมายเหล่านี้คุมหมด ไม่ให้ไปกู้เงินไปทำ ให้ทำเฉพาะตามกำลังที่มี คือเงินภาษีที่รัฐเก็บได้แต่ละปี แล้วเราจะไปสู้กับใครได้
“ในที่สุดรัฐบาลก็จะถูกมัดตราสังข์เหมือนกับเป็ดง่อย ต่างประเทศก็ไม่อยากมาลงทุน เพราะไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลจะทำได้เพราะจะถูกท้วงติงจากองค์กรอิสระตลอด กล่าวโดยสรุปมันไม่ใช่เฉพาะประชาชนจะถูกลืมว่าเป็นเจ้าของอำนาจแต่ร่างฉบับนี้จะทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาของประเทศ”
พรรคเพื่อไทยก็เห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้ร่างนี้ออกมา อนาคตมันไม่ใช่การปฏิรูปแต่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ในเมื่อโลกต้องมีการแข่งขันกันแต่กลับมาออกกติกาแบบนี้ จะมีรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ ถูกมัดตราสังข์แล้วจะไปแข่งขันกับใครได้
“สามารถ” กล่าวต่อไปว่า ได้แต่หวังว่าผู้มีอำนาจจะเข้าใจสิ่งที่พรรคเพื่อไทยชี้ประเด็นออกไป ไม่อย่างนั้นจากที่คิดจะแก้ปัญหาหนึ่ง จะกลายเป็นว่าจะเกิดปัญหาอื่นตามมา บ้านเมืองก็จะมีปัญหา แต่หากสุดท้ายกรธ.ไม่ยอมปรับแก้ไขก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสินขั้นสุดท้าย พรรคก็จะสะท้อนปัญหาให้ประชาชนได้รับรู้ เช่นบอกแบบพยากรณ์ล่วงหน้าให้ฟังว่าถ้าเป็นแบบนี้ หลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นแล้วประชาชนก็ตัดสินใจ หากเขารับร่างก็เป็นการตัดสินใจของประชาชน แต่หากประชาชนไม่รับร่างรธน. ก็เป็นการตัดสินแล้วว่าประชาชนเห็นว่ามันไปไม่ได้ ถ้าแบบนี้กรธ.ก็ต้องรับผิดชอบ
-ท่าทีพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไร เพราะตอนนี้อย่างฝ่ายนปช. ก็ประกาศแล้วว่าจะรณรงค์ไม่ให้ประชาชนรับร่างรธน.?
ถ้ามันยังมีปัญหา เราก็คงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน พรรคคงไม่ถึงกับรับแบบตะพึดตะพือไปเพราะอยากจะเลือกตั้ง ทั้งที่เลือกตั้งไปแล้วไม่ได้แก้ปัญหาให้บ้านเมือง
กติกานี้ก็เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่ว่ารับไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลังได้ เพราะเขียนแบบปิดประตูตายเลย เขียนแบบไม่ให้มีทางแก้ได้เลย เพราะเขียนล็อคไว้หมด ไม่มีทางทำได้ เราก็จะทำความเข้าใจกับประชาชน แม้จะมีคำสั่งคสช.ห้ามและปิดกลั้น แต่วันนี้ก็มีช่องทางเช่นโซเชียลมีเดียในการสื่อไปถึงประชาชนได้ ก็เป็นช่องทางที่ทำได
พรรคคงไม่เรียกประชุมคน ไม่ไปปลุกคน แต่เน้นการให้ความรู้กับประชาชน แต่ถ้าเป็นไปได้ คสช.ก็ควรใจกว้าง ก่อนลงประชามติก็ควรให้ทั้งสองฝ่ายได้ดีเบตกัน แล้วให้ประชาชนตัดสิน เราก็คงทำได้ตามกรอบที่เราทำได้ เพราะดูแล้ว คสช.ก็คงไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองจัดประชุมกันหรือยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่แม้คสช.จะไม่ปลดล็อค แต่มันก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ ประชาชนก็ยังมีช่องทางติดต่อสื่อสารกันได้อยู่ มันมีหลายช่องทางไม่เหมือนเมื่อก่อน ยืนยันว่า พรรคคงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรแต่จะเน้นให้ความรู้กับประชาชนว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ากติกาตามรธน.มันเป็นแบบนี้
ปชป.ขอดูจนถึงร่างสุดท้าย
ปิดท้ายที่ฝั่ง ”พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่ง “วิรัช กัลยาศิริ-อดีตส.ส.สงขลาและหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์” บอกว่าความเห็นอย่างเป็นทางการของพรรคคาดว่าแกนนำพรรคคงจะมีการแสดงท่าทีต่อร่างรธน.ดังกล่าวออกมาในเร็ววันนี้ แต่ความเห็นส่วนตัวจากการศึกษาร่างแรกรธน.ของกรธ. มีความเห็นว่า มีหลายเรื่องที่มีความก้าวหน้าขึ้น
“วิรัช” ยกตัวอย่างว่า อาทิ เรื่องการให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาการให้ใบแดง ตัดสิทธิคณะกรรมการการเลือกตั้งในการออกใบแดงออกไป ก็ถือว่าเป็นส่วนที่ก้าวหน้า เพราะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่เราได้ร้องขอกันมานานแล้ว ว่าการตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง ควรให้โอกาสบุคคลผู้นั้นได้มีโอกาสสู้คดี ก็ให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา แต่ก็มีส่วนที่น่ากังวลคือการให้กกต.มีอำนาจสั่งระงับการใช้สมัครรับเลือกตั้ง 1 ปี เป็นของใหม่ ที่ให้อำนาจเด็ดขาดกับกกต. ที่เรียกกันว่า ใบส้ม ก็ต้องรอดูว่ากกต.จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไรในเรื่องผลดี ผลเสีย
ส่วนเรื่องที่อยากเห็นแต่ไม่มี ก็คือควรให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบให้ประชาชนออกเสียง คือบัตรเลือกส.ส.เขต กับบัตรเลือกพรรค เพราะอย่างในระบบที่กรธ.ออกมาก็ให้มีส.ส.สองระบบคือระบบเขตกับระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งคนไทยคุ้นกับการใช้บัตรสองใบตลอด คือบัตรเลือกคนกับบัตรเลือกพรรค รอบนี้กรธ.ให้ใช้บัตรเดียว แต่มองว่าการให้มีสองบัตร มันจะสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน ที่เป็นเจ้าของสิทธิว่าเขาต้องการเลือกคนเท่าไหร่ เลือกพรรคเท่าไหร่
อีกประเด็นที่เราเรียกร้องมาตลอดแต่ยังไม่มีการเขียนไว้คือ การให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง แต่ต้องมาจากคนละฐานกับส.ส. ทางหนึ่งที่คิดได้ตอนนี้ก็คือการให้กลุ่มอาชีพทั้งหลาย ทุกสาขาอาชีพเช่น ทนายความ พยาบาล ข้าราชการประจำ เกษตรกร ชาวประมง หลายกลุ่มอาชีพไปจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วก็ให้สมาชิกในกลุ่มอาชีพนั้นๆ เลือกภายในกันเองให้ได้จำนวนออกมา 2 เท่าของผู้มีสิทธิ์ได้รับเลือกมาเป็นสว. จากสาขาอาชีพนั้นๆ แล้วจากนั้นก็ให้นำรายชื่อทั้งหมด มาให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกโดยตรงอีกชั้นหนึ่ง
ที่มาสว.ถ้าให้มาแบบนี้ จะไม่มีใครสามารถซื้อเสียงได้ทั้งประเทศ เราก็จะได้สว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ที่มาจากคนละฐานกับส.ส.และไม่มีใครสามารถซื้อเสียงได้ โครงสร้างแบบนี้ก็ได้สว.ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่สว.นอมินีเช่นคนขับรถ ของนักการเมือง แต่ได้คนที่เป็นตัวหลักในสาขาอาชีพนั้นๆ ทุกสาขาอาชีพก็สามารถมีตัวแทนมาเป็นสว.ได้ สิ่งนี้ควรเกิดขึ้นในร่างรธน.
“หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์” กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ร่างรธน.ฉบับนี้หายไป ไม่ชัดเจนก็คือ สิทธิชุมชน –ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรื่องการฟ้องร้องรัฐ สามเรื่องนี้อยากให้มีการบัญญัติไว้ให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง ไหนๆประกาศว่าเป็นร่างรธน.ฉบับปราบโกง สิ่งที่ปราบโกงได้ดีที่สุดก็คือให้เจ้าของประเทศเป็นคนปราบ วิธีให้เจ้าของประเทศเป็นคนปราบก็คือให้สิทธิประชาชนร้องหรือฟ้องไปยังศาลที่มีอำนาจ ถ้าประชาชนฟ้องหรือร้องไปยังศาลที่มีอำนาจ แล้วรัฐดูแลความปลอดภัยให้เขา รับรองได้ว่าเรื่องทุจริตคดโกง จะต้องหมดไป
มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือกรณีนายถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีตกกต.ชุดพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภเป็นประธาน คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิจารณาว่าศาลมีอำนาจฟ้อง แต่ศาลฎีกายกฟ้องบอกว่าผู้ฟ้องไม่มีอำนาจ ที่เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าบัญญัติให้อำนาจประชาชนสามารถร้องหรือฟ้องไปยังศาลที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ ได้โดยรัฐมีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัย รับรองได้ว่าเรื่องปราบโกงเป็นเรื่องเล็กไปเลย เขาอาจจะบอกว่าเกรงศาลจะยุ่งยากเกรงศาลจะเหนื่อย แต่จะไปกลัวเหนื่อยทำไม ก็ในเมื่อเราต้องการพัฒนาประเทศ
ส่วนเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเดียว ที่เห็นด้วยกับการให้พรรคเสนอรายชื่อในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งผมมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า นายกฯต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก กรธ.ก็ให้สภาฯเป็นคนเลือก สองให้เลือกจากส.ส. มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประอันนี้กรธ.เขาเขียนแบบคลุมไว้ ว่าให้เลือกจากส.ส.หรือไม่ใช่ส.ส.ก็ได้ ซึ่งจริงๆ ควรเขียนไว้สองวรรค โดยวรรคแรก บอกว่าให้เลือกจากส.ส. ก่อนแต่หากเลือกจากส.ส.ไม่ได้ ก็ให้เลือกจากบุคคลภายนอก ก็จะเป็นการเคารพสิทธิประชาชนมากกว่า และเรื่องจำนวนที่ให้พรรคแจ้งต่อกกต.ที่กรธ.เขียนให้แจ้งไว้ 3 รายชื่อ ผมเคยเสนอความเห็นไปว่าให้เสนอพรรคละหนึ่งคน แล้วพรรคการเมือง ต้องเลือกคนที่ดีที่สุดและครบเงื่อนไขเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าพรรคเลือกคนขาดคุณสมบัติ พรรคก็ต้องรับผิดชอบ ก็หมายถึงคนๆนั้นก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ควรให้เสนอคนเดียวก็พอ
เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อร่างรธน.ในตอนลงประชามติ “วิรัช”กล่าวว่า ต้องรอให้ถึงจังหวะร่างที่ 3 แต่ที่ผ่านมาเมื่อฝ่ายต่างๆ เสนอความเห็นอะไรไป กรธ.ก็มีการปรับแก้เยอะ การที่เขาบอกว่าเป็นร่างแรกก็แสดงว่าต้องมีร่างถัดไปก็คือต้องมีการปรับ ที่อยากจะเน้นคือในช่วงการรับฟังความเห็น กรธ.ต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นต่าง อย่าจัดตั้ง ประเภทเอาคนไปนั่งฟังให้ครบแล้วมาเบิกเบี้ยเลี้ยง ไม่ได้ประโยชน์ ต้องลงลึกไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรธ.ก็ต้องใช้กลไกรัฐเช่น สื่อในมือของรัฐต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจหลักการต่างๆในร่างรธน.ให้เขาเข้าใจง่ายๆ
“หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์” กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากฝากต่อไปคือ อย่าคิดว่านักการเมืองทุกคนเป็นคนเลว อย่าเหมารวมนักการเมือง นักการเมืองที่ดีก็มีอยู่มากมาย อย่าไปเหมารวมเขา ทหารที่ดี ทหารที่ตั้งใจทำดี อย่างเช่น พลเอกประยุทธ์ ก็มี ทหารที่ตั้งใจทำไม่ดีก็มาก ทุกกลุ่มทุกสังคมมีทั้งคนดี คนไม่ดี อย่าไปเหมารวม และอีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝาก คือการออกแบบโดยข้าราชการ แล้วรังเกียจนักการเมือง จะเป็นการกีดกันการพัฒนา อย่างเช่น ห้ามไม่ให้แปรญัตติ จริงๆ แล้วการแปรญัตติไม่ได้ผิดในตัวมันเอง แต่ถ้าแปรญัตติแล้วเอาไปเข้าพกเข้าห่อแบบนี้มันผิด
การออกแบบรัฐธรรมนูญอย่าคิดว่านักการเมืองทุกคนเป็นคนเลว นักการเมืองทุกคนเป็นคนชั่ว การออกแบบที่กันทุกอย่างจะทำให้ประเทศพัฒนาไม่ได้ เดินไปไม่ได้ ผิดตรงไหนก็ต้องจับตรงไหน ทุจริตตรงไหนต้องเล่นงานตรงนั้น ไม่ใช่ว่าห้ามจนทำอะไรไม่ได้ เพราะข้าราชการส่วนใหญ่มองนักการเมืองในทางที่เลวร้าย เราก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะนักการเมืองส่วนหนึ่งก็ไม่ดี แต่ก็มีนักการเมืองที่ตั้งใจทำเพื่อบ้านเมือง เช่นนายชวน หลีกภัย
เมื่อถามให้ประเมินการรณรงค์ประชามติจะเป็นอย่างไรเพราะตอนนี้บางกลุ่มก็ประกาศจะรณรงค์ให้คว่ำร่างรธน. ”วิรัช” กล่าวว่า ถึงกรธ.เขียนร่างรธน.ออกมาดีเลิศอย่างไร เขาก็คว่ำ คนกลุ่มนี้ยังไงก็คว่ำ มันเป็นนัยยะที่ทำตามใบสั่งอยู่แล้ว จึงไม่ต้องไปสนใจคนกลุ่มนี้
ทั้งหมดคือทัศนะของคนการเมืองจาก 4 ขั้วการเมืองที่สำคัญ ซึ่งมีความเห็นต่อร่างแรกรธน.ฉบับกรธ.ที่น่าจะทำให้พอเห็นทิศทางบางอย่างได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกกันไว้ว่า สุดท้ายแล้ว ร่างรธน.จะผ่านประชามติหรือไม่ มันก็อยู่ที่ดุลยพินิจและการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศที่จะไปออกเสียงวันลงประชามติ หาใช่เพราะท่าที และการเคลื่อนไหวของนักการเมืองหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
คำตอบของประชาชนจะออกมาแบบไหน วันลงประชาติ ปลายเดือนก.ค.นี้ ได้รู้กัน
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก google.co.th