ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ กิจกรรมที่ไม่ได้ถูกตีกรอบแค่รอบรั้วโรงเรียน
“การจัดการบริหารโรงเรียนแต่ละแห่งแต่ละที่นั้นเราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดียวได้ ท้ายที่สุดสภาพแวดล้อมของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ หากเราดำเนินนโยบายต่างๆโดยไม่ดูบริบทของเด็ก เด็กเรียนก็จะไม่มีความสุขและส่งผลให้คุณภาพของเด็กไม่ดีตามมาด้วย”
“70% ของนักเรียนโรงเรียนบ้านหินวง เป็นเด็กต่างด้าว คือมีทั้งเด็กชาวเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีการประเมินวัดการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก เราจำเป็นที่จะต้องสอนนักเรียนเหล่านั้นให้อ่านหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่อนุบาล 1 เพื่อให้ผลการประเมินของเราอยู่ในระดับดี” คุณครูวิทวัส กาญจนรุจิกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหินวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เล่าระหว่างที่ธนาคารไทยพาณิชย์พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจกรรม“SCB ชวนกันทำดี” ถึงสิ่งที่เขาภูมิใจในตัวนักเรียนที่สามารถอ่านออกเขียนได้ถึง 97% แม้ส่วนใหญ่นักเรียนจะเป็นเด็กต่างด้าวก็ตาม
สำหรับโรงเรียนบ้านหินวง มีนักเรียนทั้งหมด 155 คน มีครูทั้งหมด 7 คน เป็นโรงเรียนขนาดกลางค่อนไปทางขนาดเล็ก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 และโรงเรียนดำเนินกิจการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้มาตั้งแต่ปี 2555
การนำกิจกรรมลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้มาปรับใช้นั้น เขาให้เหตุผลว่า เด็กนักเรียน 70% ของที่นี่เป็นเด็กต่างด้าว เมื่อจบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 ไปแล้ว บางคนไม่ได้เรียนต่อ ดังนั้นทางโรงเรียนจึงมีกิจกรรมในด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่ออย่างน้อยเด็กเหล่านั้นจะได้รู้จักความรับผิดชอบและสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
หนึ่งกิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพาะเห็ด แต่ต้องหยุดทำไปเมื่อปีก่อน เนื่องจากไม่มีทุนในการดำเนินการต่อ จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับโรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี เข้ามาดูแลและช่วยเรื่องการจัดทำโรงเรือน พร้อมติดตั้งเครื่องรดน้ำเห็ดอัตโนมัติให้
โรงเพาะเห็ดแห่งนี้จึงฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เป็นแหล่งการเรียนรู้ให้เด็กๆ โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มาช่วยกันดูแล และนำเห็ดไปจำหน่าย นำเงินที่ได้มาเป็นค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน
ผอ.โรงเรียนบ้านหินวง บอกว่า การจัดการบริหารโรงเรียนแต่ละแห่งแต่ละที่นั้นเราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดียวได้ ท้ายที่สุดสภาพแวดล้อมของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ หากเราดำเนินนโยบายต่างๆ โดยไม่ดูบริบทของเด็ก เด็กเรียนก็จะไม่มีความสุขและส่งผลให้คุณภาพของเด็กไม่ดีตามมาด้วย
ทั้งนี้การที่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น โรงเรียนชลกันยานุกูลที่เขามาช่วยเหลือ นำโครงงานที่ทำแล้วได้รับรางวัลมาถ่ายทอดต่อ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่โรงเรียนขนาดใหญ่ควรจะทำ เพราะถือเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเอง
"เชื่อไหมว่าการที่ครูบริหารโดยดูพื้นฐานของเด็กว่าเขาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ขาดอะไร แล้วเราก็เน้นตรงจุดนั้น ประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ในปี 2556 โรงเรียนเราอยู่ในระดับดีเยี่ยมในระดับปฐมวัย-ป.6 แล้วสอบโอเน็ตปี 2557 เราอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 16 โรงเรียน ของ อ.สัตหีบ การจัดการเรียนการสอนต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจ เข้าใจพื้นฐานของเด็กและจัดกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสม คนจะบริหารโรงเรียนต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ ถ้าสอนอะไรก็สอนตามหลักสูตรไม่มีทางเลยที่เราจะได้เด็กที่มีคุณภาพได้"
ขณะที่ "มิ้นต์ -เด็กหญิงอรุณกมล วรรณงาม" นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหินวง บอกว่า สำหรับกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้นั้น การที่เธอได้เลือกกิจกรรมการเพาะเห็ดถือว่าเป็นแนวทางของการเรียนรู้ที่จะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ได้รู้กระบวนการขั้นตอนของการเป็นก้อนเห็ด กระบวนการดูแล ความเหมาะสมของโรงเรือน ซึ่งในวิชาทั่วไปในกลุ่มการเรียนรู้ 8 สาระนั้นไม่มีสอน
“เมื่อก่อนนี้โรงเพาะเห็ดจะเป็นของรุ่นพี่ทำ สักพักต้องหยุดไป เพราะเราไม่มีเงินทุนในการหมุนเวียน แต่ตอนนี้ก่อนที่จะกลับมาทำ เราหาตลาดที่จะขายเห็ดได้แล้ว นอกเหนือจากการขายก็จะนำมาเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียน ดังนั้นกิจกรรมนี้ได้ทั้งการวางแผนการขาย เรียกได้ว่าได้ใช้หลายๆวิชามารวมกัน และรู้สึกชอบกิจกรรมในลักษณะนี้มาก ไม่น่าเบื่อ”
ด้านครูวรรณวณา ปัญญาใส จากโรงเรียนชลกันยานุกูล มอง่า การที่นักเรียนขนาดใหญ่ได้มีโอกาสมาร่วมทำกิจกรรมและช่วยเหลือโรงเรียนบ้านหินวง นับเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ เนื่องจากโครงการที่นักเรียนโรงเรียนทำ หากไม่ได้รับการต่อยอดหรือถูกนำมาใช้ โครงการเหล่านั้นก็แทบจะไม่มีประโยชน์และไม่ได้รับการพัฒนาต่อ
ในส่วนโรงเพาะเห็ดการติดตั้งเครื่องรดน้ำอัตโนมัติปัจจุบันนี้ได้ดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องการปรับค่าวัดความชื้น และการจัดแสงความเหมาะสมกับประเภทเห็ดจะดูให้อีกครั้งหนึ่ง ครูวรรณวณา ยืนยันว่า นักเรียนของเรายินดีและพร้อมที่จะเขามาช่วยและดูแลโรงเพาะเห็ดให้หากโรงเรียนบ้านหินวงประสบปัญหา
“ตอนนี้นักเรียนที่ทำโครงงานเครื่องรดน้ำอัตโนมัติเขาก็เอาไปใช้กับโรงเพาะเห็ดของตัวเอง การนำมาใช้ที่โรงเรียนบ้านหินวง ถือเป็นการขยายผลของตัวโครงการ และทำให้นักเรียนได้รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงได้มีโอกาสพัฒนาอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น”
กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ระหว่างโรงเรียนพี่ช่วยโรงเรียนน้อง จึงไม่ได้ถูกตีกรอบให้อยู่แค่รอบรั้วของโรงเรียนของตัวเอง