ปัญหาชาวเล "สิทธิ" ที่จะอยู่อาศัย กับความไม่(เคย)เข้าใจจากสังคม
"...ปัญหาของชาวเลที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เกิดจากวิธีการคิด รูปแบบเกี่ยวกับการให้ความหมายของชีวิต ชุมชน และสังคมการให้ความหมายของการพัฒนา ความเข้าในเชิงลึกถึงความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกัน..."
ทันทีที่ภาพการปะทะกันของนายทุนกับชาวเลที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ถูกแชร์ไปทั่วอินเทอร์เน็ตและกลายเป็นข่าวใหญ่รอบสัปดาห์ ทำให้ภาพปัญหาของชาวเลไม่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจกลับขึ้นมาอยู่ในกระแสหลักของสังคม
และเมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีเสวนา "สารคดี Talk#5 โครงการพัฒนาอันดามันกับชาติพันธุ์ชาวเล” ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ผู้ซึ่งทำงานวิจัย และศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมาอย่างยาวนาน ร่วมเสวนา
ดร.นฤมล วิเคราะห์ปัญหาชาวเลได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแนวคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่มีต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน ที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี ก่อนที่คำว่า การท่องเที่ยวจะเกิดขึ้น
ดร.นฤมล อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวเลไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งๆ ที่เป็นผู้อาศัยและทำมาหากินในบริเวณนี้มาก่อน เนื่องจาก
1.ระบบคิดเรื่องการติดอยู่กับที่ และความเป็นเจ้าของ (Concept of settlement/ ownership)
การไม่ยึดติดและครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินใดๆ เพราะระบบคิดของชาวเลที่ว่าทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทะเล ชายหาด ป่าไม้ รวมทั้งสัตว์น้ำในทะเลไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนสามารถจะเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเท่าเทียม
2.อคติทางชาติพันธุ์ Ethocentrism
ในสมัยก่อน คนนอกมักจะมีอคติกับ “ชาวเล” และชาวเลมักจะเกรงกลัวคนแปลกหน้า โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ได้รับความสนใจจากคนภายนอกและหน่วยรัฐ ไม่มีผู้ใดเข้ามาช่วยสนับสนุนการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินอยู่อาศัย
3.กฎหมายลายลักษณ์อักษร/ กฎระเบียบที่ยิดโยงกับระบบคิดบางชุด
สังคมที่ “ไม่รู้หนังสือ” ไม่เน้นลายลักษณ์อักษร Non-literate Society ชาวเลรุ่นอาวุโสเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้กฎหมาย จึงเชื่อคนง่ายและไม่รู้เท่าเท่าคนภายนอกที่เข้ามาหลอกหลวงเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ บางครั้งเมื่อมีกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ก็ขายต่อเนื่องจากความจำเป็นเรื่องปากท้อง หรือถูกหลอก ถูกข่มขู่ แต่ก็มีบางส่วนที่ขายไปด้วยความสมัครใจ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาของชาวเลที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเกิดจาก วิธีคิดและแนวทางปฎิบัติที่มีความแตกต่างหลาย โดยเฉพาะแนวทางของสังคมที่เชิดชูทุนนิยมเสรีสุดโต่ง
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างกรณีการถือครองที่ดิน ชาวเลคิดว่าการแบ่งปัน มองว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งหมดผูกโยง มีเหยื่อใย และไม่เบียดเบียน แต่ขณะเดียวกัน ระบบนายทุนจะมองเพียงแค่การจับจอง ยึดครอง ผูกขาด มองที่ปัจจัยการผลิต การใช้ในเชิงเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของชาวเลกับนายทุนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องวิธีคิดที่เราต่อการให้ความหมายของชีวิต ชุมชน และสังคมการให้ความหมายของการพัฒนา ความเข้าในเชิงลึกถึงความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น วิธีคิด ของเราเป็นตัวกำหนดกลไก โครงสร้าง สถาบันทางสังคม กฎระเบียบต่างๆ
กลไกเชิงโครงสร้างและนโยบายจากรัฐต่อกลุ่มชาติพันธ์ุ
ดร.นฤมล เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2553 มีมติ ครม. เรื่องของการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและวิถีกะเหรี่ยง ซึ่งถือว่าเป็น แนวนโยบายที่ก้าวหน้ามาก เพราะเป็นนโยบายที่ครอบคลุมทั้งการทำมาหากิน การอยู่อาศัย สาธารณสุข การศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม แต่ก็เคลื่อนไปได้น้อยมาก เนื่องจาก ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ รู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย
ต่อมาใน ปี2558 ที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกยุทธศาสตร์ชาติพันธ์ุ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ก้าวหน้าเช่นกัน แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายในกระทรวงเรื่องนี้ก็ถูกพับไป
ซึ่งอาจารย์มองว่า ทำไมข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์และนักวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งดีๆ เหล่านี้ทำไมไม่ได้รับการสานต่อ ในแง่ของภาคีเครือข่ายชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์เอง มีร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งสภานี้จะคอยเป็นปากเป็นเสียง เวลามีการพัฒนาหรือมีการทำอะไรในพื้นที่ สภาจะให้ความเห็นว่า เพื่อประกอบการอนุมัติต่อไป
"จริงๆ เมื่อมองดูจะพบว่า ในแง่ของนโยบาย ประเทศไทยมีนโยบายดีๆ มากมาย แต่กลับไม่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่นเรื่องของร่างสภาฯ ที่มีการร่างไว้ เเละผ่านเวทีเเสดงความเห็นมามากมาย แต่ยังไม่ได้ขับเคลื่อนออกมาเป็นตัว พ.ร.บ.ชัดเจน สักครั้ง”
ทำไมปัญหาชาวเลถึงแก้ยาก
หากลองวิเคราห์สาเหตุของปัญหาอันเป็นที่มาของวิกฤติกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ปัญหาวิกฤตของชาวเลเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งถือได้ว่า เป็นความรุนแรงที่แฝงและซ่อนเร้นอยู่
ดร.นฤมล ยกตัวอย่างว่า จริงๆ ปัญหาราไวย์เป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ เท่านั้นยังมีพื้นที่ชาวเลอีกมากมายที่ถูกรุกราน ซึ่งเรื่องนี้นอกจากต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายแล้ว จำเป็นต้องสร้างกลไลที่หลากลายเพื่อปรับโครงสร้างของสังคมให้เอื้อต่อการปกป้องคุ้มครองกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง
เมื่อเกิดปัญหาในทางคดี ทั้งที่เป็นคดีระหว่างชาวเลกับรัฐ หรือชาวเลกับเอกชน กระบวนการยุติธรรมจะต้องให้ความสำคัญกับสภาพความเป็นจริง “กฎหมายตามตัวบท” กับ “มุมมองเพื่อความเข้าใจในรากฐานทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ”
ในการพิจารณาคดี มักจะละเลยหลักฐานทางวัฒนธรรมแล้วให้น้ำหนักกับหลักฐานเอกสารที่ออกโดยทางราชการ ตรงนี้จึงเป็นปัญหา เพราะชาวเลไม่มีเอกสารพวกนี้ ทำให้ทุกครั้งที่สู้คดี ผลคือแพ้ตลอด!!
จริงๆ ในปัญหาราไวย์ในข่าวที่ผ่านมานั้น นอกเหนือจากความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของนายทุนกับชาวเลเองแล้ว เราอาจต้องมาดูกันในเรื่อง อย่างการก่อสร้างของรีสอร์ท หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ในกฎหมายการเว้นพื้นที่สาธารณะ ชายหาดต้องเว้นไว้สำหรับสาธารณะไม่มีการครอบครอง หรือ ระยะในการถอยร่นจากพื้นที่ชายหาด ซึ่งเรื่องนี้กรมเจ้าท่า น่าจะมาดูเเล และการออกโฉนดในพื้นที่แหล่งน้ำที่มีการใช้ในสาธารณะประโยชน์มาก่อน เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร เพราะในเชิงสังคมเรื่องนี้ละเอียดอ่อน.
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://upic.me/show/24049545