"ตุ๊กตาลูกเทพ" ความเชื่อที่หลากหลายในสังคมไทย...ขึ้นมาแล้วดับไป
ตุ๊กตาลูกเทพวัตถุมงคลของคนรู้สึกขาด – เพรียกหาสิ่งตอบสนองต่อความต้องการภายในจิตใจ
เสาร์ 5 ของเดือนมกราคม ตรงกับวันที่ 30 มกราคม หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ชวนกัลยาณมิตร ประกอบด้วยพระวิชิต ธมฺมชิโต พระอาจารย์ฟูกิจ ชุติปัญโญ พระภิกษุเครือข่ายธรรมวาที อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ นักร้อง นักแสดง พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ ล้อมวงเสวนาในหัวข้อ " เสา (ร์) ๕ และลูกเทพ ความเชื่อที่หลากหลายในสังคมไทย ณ สวนโมกข์ กรุงเทพ
หลังตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกรณีกระแสฮิต “ตุ๊กตาลูกเทพ” ปรากฎตามหน้าสื่อแทบทุกแขนง และกลายเป็น 'ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์' บนโลกโซเชียลมีเดีย
พระวิชิต ธมฺมชิโต มองสถานการณ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เป็นสภาพของการหาเพื่อน หรือว่า หาสิ่งพึ่งพิง ก่อนจะย้อนไปเปรียบเทียบกับครั้งหนึ่งในพุทธกาล เหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน คล้ายกับบทสวดมนต์หนึ่งที่ว่า “มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ” จึงได้เลือกสิ่งที่สังคมเสนอให้เอามาเป็นที่ยึดเหนี่ยว โดยมีรูปแบบที่ชัดเจนของยุคสมัยใหม่ คือ ต้องมีหน้าตาน่ารัก ราคาแพง มีคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับอุปกรณ์เสริม
นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม
ส่วนคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว ศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร พระวิชิต ให้คำตอบว่า “นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม นั่นไม่ใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วไม่อาจพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เมื่อใดก็ตามที่คุณต้องการถึงสรณะที่เกษมกว่านั้น คุณต้องทิ้งสิ่งเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน”
แม้คนทุกยุคทุกสมัยต้องการที่พึ่งพิง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีก้าวไกลและทำให้ชื่อเสียงให้ลูกเทพเกิดความโด่งดัง แต่เมื่อไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม มันก็เข้ามา และขึ้นอยู่กับว่าระบบตลาดจะหาอะไรมาป้อนเพื่อสนองความต้องการของเขาเหล่านี้อีก หากทำได้มากเท่าไหร่ลูกเทพก็จะมีอายุถึงเท่านั้น พอมีสิ่งอื่นเข้ามาสิ่งนี้ก็ไม่ใช่สรณะอันเกษมต่อไป
พระวิชิต ยอมรับว่า ความจริงแล้วพระพุทธธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกและเข้าถึงได้ยาก ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนที่ไม่มีกำลังได้มีที่พักพิง เรามักจะพบเจอตามข่าวว่า ต้องเลี้ยงลูกเทพความดี เลี้ยงลูกเทพด้วยบุญ ตรงนี้ถือว่าพอรับได้ เพราะเราใช้นำตรงนี้มาใส่ธรรมะ แต่จะมากน้อยขนาดไหนนั้นต้องขึ้นอยู่กับข้อจำกัดที่มีอยู่
สำหรับคนใดที่ไม่ได้ศรัทธาในลูกเทพ ท่านเห็นว่า อย่าพึ่งไปตัดสินเขา ให้กลับมาย้อนดูตัวเราเองว่า ตอนนี้เราพึ่งอะไรอยู่บ้าง อย่างเสื้อผ้า ทรงผมหรือการแต่งหน้า ก็ช่วยให้มั่นใจเพิ่มขึ้นออกสู่โลกภายนอกไปได้ เพียงแต่บังเอิญว่า กลุ่มคนที่เลี้ยงลูกเทพเขารู้สึกว่าสิ่งที่เราต้องการนั้นเขาพอแล้ว และไม่สามารถเติมเต็มได้ ลูกเทพจึงเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมในสิ่งที่ขาด เมื่อใดก็ตามที่รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สามารถแก้ทุกข์ได้อย่างแท้จริง คนกลุ่มนี้ก็จะหันกลับมาทางพระพุทธศาสนา
ขณะที่พระอาจารย์ฟูกิจ ชุติปัญโญ ชี้ว่า เป็นเรื่องน่าตลกที่ทางการศึกษาบอกว่า เด็กจะเล่นตุ๊กตาประมาณ 3 ขวบ หมายความคนในยุคปัจจุบันนั้นโตแต่ตัว จิตใจยังเป็นเด็ก หากเราเห็นว่า ผู้ใหญ่ขี่จักรยานสามล้อ จะเกิดความรู้สึกอย่างไร คงเหมือนกับกระแสตอนนี้ที่เขายังทำอยู่และไม่สามารถพัฒนาศักยภาพตรงนี้ได้
“คนที่เชื่ออยู่แบบนี้ ก็เหมือนหลับอยู่จะปลุกเขาขึ้นมาก็ลำบากนัก เมื่อใดที่ตื่นเราจะรู้เองว่า สิ่งที่เรามองเห็นเป็นแค่ฝันไป ไม่ใช่เรื่องจริง คิดตอนกลางคืนเรียกว่า ฝันกลางคืน คิดตอนกลางวันเรียกว่า ฝันวันกลางวัน จะทำอะไรต้องรู้สึกตัวและตระหนักรู้อยู่เสมอ”
แค่กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วดับไป
ด้าน อ้อม- สุนิสา สุขบุญสังข์ มองกระแสนี้ว่าเป็นแค่ Pop-culture เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมาภายในสังคมไทย อีกทั้งคำว่าหล่อขั้นเทพ สวยขั้นเทพยังมี นับประสาอะไรกับชื่อตุ๊กตาลูกเทพ ทุกอย่างมีเทพได้หมด ฉะนั้นเทพคำนี้ก็ถูกหยิบมาใช้ได้ในแง่ของภาษาและการมาของลูกเทพ ก็ใกล้เคียงกับการมาของเฟอร์บี้ รวมไปถึงตุ๊กตาบลายด์ที่มาเพียงแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น
“นวัตกรรมของลูกเทพเป็นลูกผสมของกุมาร รวมกับเฟอร์บี้ เป็นกุมารในยุคนี้ที่ต้องเลี้ยงดู ไม่กินน้ำแดง อุ้มชูได้โดยไม่ต้องอายคนอื่นที่อาจมองว่า เล่นไสยศาสตร์ ถ้าเป็นกุมารทองเราไม่กล้าโชว์ใคร เวลาใครมาบ้านเราจะแอบไว้ไม่ให้ใครเห็น กลัวคนอื่นจะมองว่า เราแปลก แต่เดี๋ยวนี้เราโชว์ได้ และอาจจะกลายเป็นแค่กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เพียงแต่ตอนนี้ต้องรอว่ากระแสนี้จะดับลงไปเมื่อไหร่ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล
ลูกเทพอาจจะมีความไม่น่าอภิรมย์บางจุด ถ้าเราแสดงกับเขาผิดที่จนทำให้ผู้คนรอบข้างเกิดความรำคาญหรือรู้สึกหวาดกลัวเรื่องเหล่านี้ต่างหากที่น่าเป็นห่วง แต่ที่เหลือก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับเรามาก หากตอนนี้มีคนนำลูกเทพมานั่งตรงนี้เราก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนแต่อย่างใด
กระแสเหล่านี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับคนหน้าตาแบบไหน ล้วนแล้วแต่อยากได้อยากมีไม่ต่างกัน ทุกคนอยากได้ในสิ่งที่ตัวเองขาด จนเป็นความต้องการ และยังเติมไม่เต็มจนเป็นความทุกข์ และยังทำให้เห็นอีกว่าคนในสังคมยังมองไม่เห็นหนทางของการดับทุกข์ในแบบวิถีพุทธ จึงไปพึ่งวิถีอื่นที่ทำให้เขาสบายใจขึ้น”
อ้อม- สุนิสา ยืนยันว่า หนทางทางพระพุทธศาสนามีอยู่จริง พร้อมกับเชื่อว่าจะพาเราพ้นทุกข์ได้ ซึ่งต้องลองทำจริง “น่าเสียดายตรงที่ผู้คนมักจะคิดว่าลูกเทพให้ความโชคดี ให้ความมั่งคั่งกับเรา แต่กลับมองข้ามคุณค่ากรรมดีที่เคยทำไว้ พอทำดีได้กลับพากันยกความดีให้กับลูกเทพ แต่ไม่ให้เครดิตตัวเองที่เคยเชื่อมั่นและเคยทำกรรมดีนั้นๆ พอถึงคราวซวยกับโทษว่าเป็นกรรมของตัวเอง คุณต้องยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำทั้งดีและไม่ดี”
สุดท้าย ภาณุเดช วัฒนสุชาติ ดาราผู้ร่วมวงเสวนาที่ได้กล่าวถึงมุมมองส่วนตนที่มีต่อกระแสตุ๊กตาลูกเทพว่า ความจริงแล้วกระแสนี้ไม่ได้กระทบอะไรมาก และคิดว่าการที่จะนำลูกเทพมาหรืออย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ทำตามที่สบายใจจะดียิ่งกว่า ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงนั่นคือกาลเทศะ ไม่ว่าคุณจะพกอะไร ตุ๊กตาลูกเทพ พระหรือตะกรุด ถ้ามีกาลเทศะทุกอย่างก็จบ
แต่ตอนนี้ เขามองว่า เริ่มอยู่ในจุดที่เรียกว่า เราไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ควรจะมี จนทำให้คนอื่นเดือดร้อนและเป็นกระแสนิยม การแสดงทัศนคติของสื่อที่มองไม่เห็นถึงตัวตนของเรายิ่งสนุกปากกันมากขึ้น มีทั้งชม ด่า ต่อต้าน และยอมรับ
ทั้งหมดเป็นเวทีร่วมพูดคุยท่ามกลางสังคมที่ขาด ไม่มีหลักยึด แต่หากทุกคนยึดมั่นในหลักศาสนาของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น