INFO: เลือกตั้ง‘จัดสรรปั้นส่วน’ เกลี่ยคะแนนทุกพรรค-เสียง ปชช.ไม่ถูกทิ้ง
“…หากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากพบมีการทุจริตการเลือกตั้ง ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งใหม่จะมีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ระบบนี้จึงเป็นการทำให้พรรคการเมืองตระหนัก ให้ความสำคัญและระมัดระวังในการส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตให้ได้บุคคลที่ดีที่สุด และต้องไม่ทุจริตการเลือกตั้งด้วย…”
คลอดออกมาแล้ว สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ดำเนินการโดย ’21 อรหันต์’ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ประเด็นสำคัญนอกเหนือไปจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ‘เปิดช่อง’ ให้ ‘คนนอก’ สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่ง ‘ติดดาบ’ องค์กรอิสระ สามารถทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวนนโยบายที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชาติ รวมถึงการให้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้จนกว่าจะมีรัฐบาล ‘เลือกตั้ง’ นั้น
สิ่งที่น่าจับตามองอีกอย่างคือ ระบบเลือกตั้งแบบ ‘จัดสรรปั้นส่วน’ ซึ่งนับได้ว่าเป็นระบบเลือกตั้งแบบใหม่ โดย กรธ. อ้างว่า ไม่เคยมีประเทศไหนเคยใช้มาก่อน
ซึ่งกลไกลนี้ กรธ. ระบุว่า “เพื่อสร้างความปรองดอง” ให้เกิดขึ้นได้ในสังคม !
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมคำอธิบายและอินโฟกราฟฟิคจาก กรธ. ในประเด็นดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้
สำหรับ ส.ส. ในประเทศไทยตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีจำนวน 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
“ทุกคะแนนที่ประชาชนลงเลือกตั้งจะไม่ถูกทิ้ง”
เป็นคำเกริ่นนำในการอธิบายความหมายของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปั้นส่วนผสม ที่เขียนโดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมอธิบายว่า เป็นระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากในอดีตคะแนนของประชาชนที่เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใด ๆ ที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง คะแนนดังกล่าวก็แทบจะถูกทิ้งสูญเปล่า
การเลือกตั้งแบบนี้จะใช้บัตรใบเดียว และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้รับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตได้เขตละ 1 คน โดยให้นำคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตของทุกคนมารวมเป็นคะแนนของพรรค และนำคะแนนของพรรคมารวมเป็นคะแนนของทุกพรรคทั้งประเทศ จากนั้นให้หาค่าเฉลี่ยคะแนนของ ส.ส. ที่พรรคควรจะได้ต่อ 1 คน
คือนำคะแนนของทุกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน จากนั้นให้นำค่าเฉลี่ยที่จะได้ไปหารจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนที่แต่ละพรรคจะพึงมี ส.ส. ได้
ทั้งนี้ต้องให้เอกสิทธิแก่ผู้ชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกคน หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเป็นจำนวนเท่าใด ให้นำจำนวนดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. ที่พรรคจะพึงมี หากได้จำนวน ส.ส. ไม่ครบตามจำนวนที่พรรคจะพึงมีเท่าใด ให้จัดสรรเพิ่มจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พรรคพึงจะมี
หากเกิดกรณีที่พรรคนั้นได้ ส.ส. เท่ากับจำนวนที่ได้จริง ซึ่งรวมถึงจำนวนที่เกินมาของ ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะพึงมีได้ ให้พรรคนั้นได้ ส.ส. เท่ากับจำนวนที่ได้จริงซึ่งรวมถึงจำนวนที่เกินมาของ ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะพึงมีด้วย ตรงนี้จะมีความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคที่จะได้จำนวน ส.ส. ตามสัดส่วนของคะแนนที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงให้
ทั้งนี้ กรธ. ยืนยันว่า ระบบนี้ไม่มีความซับซ้อน และคะแนนทุกคะแนนจะมีความหมาย ผลการเลือกตั้งของ ส.ส.แบ่งเขต จะมีผลต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งกรณีนี้จำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองพึงจะได้นั้น ขึ้นอยู่กับการจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองว่าสามารถจูงใจให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองของตนได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้หากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากพบมีการทุจริตการเลือกตั้ง ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งใหม่จะมีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ระบบนี้จึงเป็นการทำให้พรรคการเมืองตระหนัก ให้ความสำคัญและระมัดระวังในการส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตให้ได้บุคคลที่ดีที่สุด และต้องไม่ทุจริตการเลือกตั้งด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนระบบนี้จะถูกใจประชาชนมากน้อยขนาดไหน และจะผ่านการลงประชามติหรือไม่ ?
ต้องติดตามกันต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบอินโฟกราฟฟิกจาก กรธ.