ท้องถิ่นชงข้อเสนอจัดการตนเองให้หมอประเวศ 16 มี.ค.ก่อนเข้าสมัชชาปฏิรูป
สมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน สังเคราะห์ข้อเสนอท้องถิ่นจัดการตนเองระดับตำบล จังหวัด ภูมินิวศน์จากพื้นที่ทั่วประเทศ เสนอประธาน คสป. 16 มี.ค. ก่อนเข้าเวทีใหญ่สมัชชาปฏิรูป 24-26 มี.ค.
วันที่ 15 มี.ค. 54 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป “เชื่อมั่นประชาชน ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” โดยมีการสังเคราะห์ข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อการจัดการตนเอง ที่ได้จากการรวบรวมความคิดเห็นในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อหาฉันทมติเสนอต่อ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) วันที่ 16 มี.ค.เพื่อนำสู่เวทีสมัชชาปฏิรูปวันที่ 24-26 มี.ค.นี้
นายสมคิด สิริวัฒนากุลตัวแทนเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดการตนเองโดยชุมชนท้องถิ่นคือการคืนอำนาจให้ชุมชน ต้องผนึกกำลังสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น สร้างสมัชชาระดับตำบล ผลักดันเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่วิเคราะห์ร่วมกันทั้งเชิงศักยภาพและภัยคุกคาม สร้างเป็นแผนของชุมชนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“ในแผนต้องมีประเด็นร่วมที่สำคัญ เช่น ที่ดิน ทรัพยากร เกษตร สวัสดิการ และต้องเป็นตามบริบทพื้นที่ และรัฐต้องสนับสนุนทั้งนโยบาย โครงสร้างที่เป็นความสัมพันธ์ใหม่แก้ข้อบังคับที่ไม่เอื้อประโยชน์ชุมชน จัดงบประมาณต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะกิจ และมีระบบข้อมูลที่ธรรมลงสู่ชุมชน” นายสมคิด กล่าว
นายสิน สื่อสวน ผช. ผอ.พอช. กล่าวว่าการปฏิรูปต้องมองให้ไกลจากสิ่งที่เป็นอยู่ ปัจจุบันคนท้องถิ่นทะเลาะกันเอง ซึ่งต้องก้าวข้ามข้อขัดแย้งในชุมชนและมองภาพรวมให้ได้ว่าทำอย่างไรจะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปฏิรูปประเทศอยู่ที่ชุมชน
“สัญญาณสำคัญคือคนในท้องถิ่นต้องผนึกกำลังกัน จึงจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ จัดการตนเองได้จริง ขับเคลื่อนกันจริงๆไม่รอใคร นั่นคือการเริ่มต้นปฏิรูป แต่เมื่อไหร่ที่มีการรอคอยนั่นคือสัญญาณของการจัดการตนเองไม่ได้” นายสิน กล่าว
ทั้งนี้จากการสังเคราะห์ข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อการจัดการตน ข้อเสนอระดับตำบลแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ 1.การจัดการตนเองระดับตำบล อาทิ เริ่มต้นจากสภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อนการปฏิรูปจากฐานล่าง, ใช้อำนาจชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เช่น การกำหนดโซนนิ่งที่อยู่อาศัย โครงการที่จะมีผลต่อชุมชน, สร้างเครือข่ายสมัชชา 2.ข้อเสนอต่อนโยบายระดับตำบล อาทิ ลดอำนาจส่วนกลาง ภูมิภาค กระจายสู่ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรชุมชน, โอนงบประมาณสู่ตำบล/ จังหวัดที่ยากจน มากกว่าที่รวยแล้ว, ให้ชุมชนจัดระบบการศึกษาและสวัสดิการของตนเอง
3. ข้อเสนอต่อชุมชนจัดการตนเองระดับตำบลบูรณาการความร่วมมือในพื้นที่, สร้างกองทุนชุมชนเอง รัฐตั้งกองทุนดูแลเกษตรกร, จัดระบบการศึกษาชุมชน หลักสูตรท้องถิ่น, จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน, เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและโครงการพัฒนาให้ชุมชนรู้, พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนที่รัฐ ท้องถิ่น หนุนเสริมให้ชุมชนจัดการเอง, พัฒนาระบบเกษตรกรรมโดยชุมชน เช่น การขยายพันธุ์ข้าว สมุนไพร พืชท้องถิ่น สร้างกองทุนบริหารจัดการพันธุ์พืชท้องถิ่น
4. ข้อเสนอต่อท้องถิ่นท้องที่ระดับตำบล พัฒนาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้สามารถส่งเสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ เช่น การส่งเสริมอาชีพ, การพัฒนาระบบสวัสดิการ, การวางแผน
ส่วนข้อเสนอระดับจังหวัดหรือภูมินิเวศน์ มี 6 ประเด็นคือ 1.คืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่นโดยให้จังหวัดที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ บริหารจัดการอย่างอิสระทั้งด้านอำนาจ งบประมาณ การตัดสินใจ ตลอดจนการออกข้อบัญญัติและกำหนดแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้เอง โดยไม่ต้องรอรัฐบาลส่วนกลาง พร้อมปรับกลไกรัฐเดิมให้ไปมีบทบาทในเชิงวิชาการ และตรวจสอบการบริหารจัดการของจังหวัดตามหลักธรรมาภิบาล
2.ปฏิรูประบบการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน ให้ยุติการไล่รื้อและดำเนินคดีชาวบ้านที่มีข้อพิพาทในที่ดินรัฐและเอกชน โดยจัดให้มีกลไกกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย, เร่งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงชนบท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการในระยะแรก 3,000 ล้านบาทในพื้นที่ 500 ตำบล 50,000 ครัวเรือน และขยายให้ครอบคลุมคนจนที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินภายในปี 2558 ส่วนข้อเสนอเชิงโครงสร้าง ให้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยทุกฉบับ และออกใหม่โดยมุ่งประเด็นไปที่การถือครองที่ดิน การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม, จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน พร้อมปฏิรูประบบศาลและขบวนการยุติธรรมใหม่
3.คืนอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรของชาติทั้งกระบวนการไม่น้อยกว่า 60%, ให้รัฐบาลทบทวนยุติโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม,โอนอำนาจการบริหารกองทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆให้ชุมชนท้องถิ่น 4.ปรับโครงสร้างระบบเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารและเกษตรกรรายย่อย เช่น ให้รัฐกำหนดนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน ปลอดภัยและพอเพียงต่อการบริโภคเป็นนโยบายหลักด้านการเกษตรของชาติ, จำกัดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร และจัดสรรภาษีจากรายได้การจำหน่ายสารเคมีและภาษีการส่งออก มาจัดตั้งเป็นกองทุนเกษตรกรรมยั่งยืน, ยกเลิกการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชในการผูกขาดทางการเกษตรของฝ่ายทุนนิยมเสรีโดยออกเป็นข้อบัญญัติตำบลและท้องถิ่นแทน, ให้ท้องถิ่นมีอำนาจออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมให้พ้นจากผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี ฯลฯ
5. สนับสนุนการจัด “สวัสดิการสังคม” เพื่อสร้างความเข้มแข็งของฐานรากโดยเพิ่มบทบาทของชุมชนท้องถิ่น, ให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1 มาสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เกิดความต่อเนื่อง และ 6.บูรณาการกองทุนชุมชนและเศรษฐกิจชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม โดยออกระเบียบ กฎหมายรองรับการจัดตั้ง “องค์กรการเงินกลางภาคประชาชน/สถาบันการเงินชุมชนแห่งชาติ” และเชื่อมโยงการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านกับสถาบันการเงินชุมชนตำบลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์มกราภิรมย์กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้ร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ข้อเสนอที่จะส่งผลให้การปฏิรูปสำเร็จ ชุมชนต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าส่วนกลางต้องคืนอำนาจให้ชุมชน และระบุว่าแต่ละส่วนต้องทำอะไร บทบาทขอบเขตหน้าที่แค่ไหน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเปิดช่องให้ฟากอำนาจใช้ข้อเสนอดังกล่าวกลับมาอ้างในทางปฏิบัติได้อีก.